×

Zara ประกาศจุดยืน Sustainability ปรับโครงสร้างและใช้เนื้อผ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2025

17.07.2019
  • LOADING...

ดูเหมือนว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่สุดในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชั่นขณะนี้ก็คือการที่แบรนด์สำคัญระดับโลกต่างออกมาประกาศจุดยืนและกรอบแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Sustainabilty เพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม 

 

โดยล่าสุด Zara แบรนด์ขวัญใจของใครหลายคนภายใต้เครือ Inditex จากประเทศสเปน ได้แถลงตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 เสื้อผ้าทุกชิ้นของ Zara จะต้องทำมาจากผ้ายั่งยืน (Sustainable Fabrics) ทั้งคอตตอน ลินิน และโพลีเอสเตอร์ โดยอีก 7 แบรนด์ในกลุ่ม Inditex ทั้ง Pull & Bear, Massimo Dutti, Bershka, Stradivarius, Oysho, Zara Home และ Uterqüe ก็จะเดินตามนโยบายนี้เช่นกัน

 

สำหรับ Zara เอง แม้แบรนด์จะอยู่ในสัดส่วนของตลาด Fast Fashion ที่ผลิตเสื้อผ้าออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ตั้งแต่ปี 2001 ทางแบรนด์ก็ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของโปรแกรม United Nations Global Compact ของสหประชาชาติ ที่ได้สร้างหลักการและกรอบความคิดต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อสังคม ทั้งสิทธิการว่าจ้าง ปัญหาแรงงาน และภัยธรรมชาติ 

 

โดยภายในปีนี้ ร้านของ Zara ที่มีกว่า 7,500 สาขาทั่วโลกก็กำลังเดินหน้าให้เป็น Eco-efficient ให้มากที่สุดเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การที่แบรนด์กำลังศึกษาวิธีที่จะทำไม้แขวนเสื้อภายในร้านที่มีมากกว่า 110 ล้านชิ้นทั่วโลกให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้เร็วที่สุดแทนการต้องซื้อใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนภายในปีหน้า สัดส่วน 25% ของสินค้าที่ขายในร้านก็ต้องมาจากคอลเล็กชัน Join Life ที่ทำมาจากผ้ายั่งยืนทั้งหมด

 

ด้านโรงงานผลิตสินค้า โรงงานจัดส่งสินค้า และสำนักงานใหญ่ของ Zara ก็มุ่งหวังที่จะลดขยะและมลพิษแบบ Zero Landfill Waste เช่น การนำกล่องกระดาษมารีไซเคิลให้ได้สูงสุดถึง 6 ครั้ง ส่วน 80% ของพลังงานทั้งหมดของทุกหน่วยก็ต้องเป็นพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ทั้งหมด

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ Zara ต้องการให้ถุงกระดาษทั้งหมดของร้านทำมาจากกระดาษรีไซเคิล 100% ที่ได้รับ FSC Certification เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต่อไปถุงกระดาษที่ Zara นำมาใช้ก็จะใช้หมึกน้อยลงกว่า 70% และลดการใช้น้ำในการผลิตกว่า 30% อีกด้วย

 

ภาพ: Inditex

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising