×

“ผมต้องชนะ!” ยูซุรุ ฮานิว เจ้าชายแห่งวงการสเกตน้ำแข็ง ผู้ป้องกันเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกในรอบ 66 ปี

19.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ยูซุรุ ฮานิว นักสเกตน้ำแข็งทีมชาติญี่ปุ่น วัย 23 ปี คว้าเหรียญทองโอลิมปิกสเกตลีลาชายได้เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งนับเป็นนักกีฬาสเกตชายคนแรกที่สามารถป้องกันแชมป์รายการนี้ได้ในรอบ 66 ปี
  • ฮานิวเป็นนักกีฬาที่มีความมุ่งมั่นตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเขามีเป้าหมายที่ต้องการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกตั้งแต่อายุ 11 ปี
  • ฮานิวมีเคล็ดลับทั้งแง่คิดที่ต้องการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และการฝึกซ้อมอย่างหนักที่ช่วยให้เขาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นที่หนึ่งในการแข่งขันระดับโลกทุกครั้งที่ลงแข่งขัน

 

 

การก้าวขึ้นไปสู่ที่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่การจะรักษาตำแหน่งที่หนึ่งไว้ได้เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะในแวดวงกีฬาที่การแข่งขันนับวันจะยิ่งเข้มข้นและดุเดือดขึ้น

 

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีผู้กล้าที่ก้าวขึ้นมาท้าทายขีดจำกัดของความเป็นไปได้และยกระดับการแข่งขันให้สูงขึ้นไปอีกขั้น เหมือนกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในคร้ังนี้ที่มีเรื่องราวความสำเร็จมากมายเกิดขึ้น

 

หนึ่งในนั่นคือเทพบุตรของวงการสเกตน้ำแข็งญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ยูซุรุ ฮานิว ที่สามารถป้องกันแชมป์สเกตลีลาในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวได้เป็นคนแรกในรอบ 66 ปี

 

 

‘มีเกียรติ ทรงพลัง และงดงาม’ ความคาดหวังจากครอบครัวของฮานิวตั้งแต่แรกเกิด

ฮานิวเกิดและโตที่เซนได ประเทศญี่ปุ่น โดยชื่อของเขามีความหมายว่า ‘เชือกธนูที่ถูกดึงให้ตึง’ ซึ่งหมายถึงความมั่นใจ ความแข็งแกร่ง และความตรงไปตรงมา โดยพ่อของเขาตั้งชื่อนี้ให้เพราะต้องการให้เขาเป็นคนที่ทำงานหนักและมีจิตใจที่เข้มแข็ง ครอบครัวของเขาต้องการให้ฮานิวใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่มีเกียรติ ทรงพลัง และงดงาม

 

ในวัยเพียง 4 ขวบ เขาเริ่มต้นเล่นสเกตกับพี่สาวที่ลานน้ำแข็งใกล้บ้าน และด้วยวัยเพียง 11 ปี เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายของเขาคือเหรียญทองโอลิมปิก

 

 

“เป้าหมายของผมคือเหรียญทองโอลิมปิก ผมก็ยังไม่แน่ใจนะว่าจะไปถึงหรือเปล่า” ฮานิวได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อปี 2006

 

ฮานิวเป็นเด็กที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ตั้งแต่วัยเด็ก ความสำเร็จในครั้งแรกของเขาจึงได้มาอย่างรวดเร็วด้วยอายุเพียง 15 ปี เขาคว้าแชมป์จูเนียร์ เวิลด์ แชมเปียนส์ชิพ ในการแข่งขันสเกตลีลา

 

“ผมต้องการที่จะทำงานหนักทุกวันและพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ”

 

การกระโดดท่า Quad ขั้นบันไดสู่ความสำเร็จของฮานิว

สนามแล้วสนามเล่าที่เขาฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งความฝันสู่เหรียญทองโอลิมปิกและเป้าหมายที่ต้องการกระโดดท่า Quad หรือการกระโดดหมุนในอากาศได้ 4 ครั้ง สุดท้ายความพยายามอย่างหนักได้นำพาเขาไปสู่เวทีโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิตที่โซชิเกมส์ 2014 ประเทศรัสเซีย และการแข่งขันครั้งนี้เองคือเวทีแรกที่ทำให้ทั่วโลกได้เห็นผลงานของการฝึกซ้อมและทำงานอย่างหนักของเขา

 

 

จากการฝึกซ้อมกระโดดท่า Quad อย่างหนัก ท่านี้กลายเป็นท่าสำคัญที่ช่วยทำคะแนนส่งให้เขาเข้าใกล้เป้าหมายใหญ่ในชีวิต เขาแสดงผลงานได้อย่างไร้ที่ติจนสามารถทำคะแนนรวมได้ 101.45 คะแนนในการแข่งขันประเภท Short Program

 

ในวันต่อมาสำหรับการแข่งขันประเภท Free Program ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ผ่านการคัดตัวจากรอบ Short Program ความเย็นของพื้นน้ำแข็งได้เข้าถึงสภาวะจิตใจของเขา ด้วยความพยายามที่จะกระโดดท่า Quad ที่เขาทำได้อย่างดีเยี่ยมในรอบ Short Program แต่สุดท้ายเขากลับพลาดล้มลงระหว่างพยายามที่จะกระโดดแบบ Triple Flip แม้ว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่สุดท้ายเขาทำคะแนนได้ 178.64 คะแนน และความฝันของเขาก็กลายเป็นจริงด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกแรกในชีวิต ซึ่งยังนับเป็นเหรียญทองโอลิมปิกแรกสำหรับนักกีฬาจากเอเชียที่สามารถคว้าแชมป์สเกตลีลาชายในการแข่งขันโอลิมปิกอีกด้วย

 

แม้ว่าความฝันของเขาได้กลายเป็นจริงแล้ว แต่บทสัมภาษณ์ของเขาหลังจบการแข่งขันยังแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถแสดงผลงานที่ดีที่สุดออกมาได้ในเวทีโอลิมปิก

 

“ความรู้สึกของผมคือผมแพ้ให้กับตัวเอง ผมได้เรียนรู้อีกครั้งว่าเวทีนี้มันยากขนาดไหน”

 

ความคิดของเขาที่มีให้กับตัวเองในวันนั้นไม่ใช่การเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เขาทำได้ในวัยเพียง 19 ปี สิ่งเดียวที่อยู่ในหัวของเขาคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและหนทางที่จะแก้ไขมัน เขาได้สัญญากับตัวเองว่าจะยกระดับความสามารถของตัวเองเพื่อพัฒนาศักยภาพให้พร้อมสำหรับมหกรรมการแข่งขันครั้งต่อๆ ไป

 

และนั่นคือสิ่งที่เขาได้ทำในปี 2015 ในการแข่งขัน NHK Trophy Free Skate การแข่งขันในครั้งนั้นเขาทำผลงานได้อย่างเพอร์เฟกต์ ไม่มีข้อผิดพลาด และนอกจากจะคว้าแชมป์รายการนั้นแล้ว เขายังทำคะแนนได้สูงที่สุดในโลกในคะแนนรวมจากรอบ Short และ Free Program รวมกัน 322.40 คะแนน ด้วยวัยเพียง 20 ปี

 

1 ปีต่อมา เขาก็สามารถคว้าแชมป์ Grand Prix Final ด้วยวัยเพียง 21 ปี แต่เป้าหมายของเขาต่อจากนี้คือการป้องกันแชมป์สเกตลีลาชายในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่พย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2018 และเขารู้ตัวดีว่าการกระโดดท่า Quad ทั้ง Toe Loop และ Salchow ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่นักกีฬาหลายๆ คนเริ่มทำได้อาจไม่เพียงพอที่จะการันตีชัยชนะของเขาได้ ฮานิวจึงเริ่มมองหาความท้าทายใหม่ในการยกระดับความสามารถของเขา นั่นคือการกระโดดท่า Quad Loop

 

 

“ผมคิดว่าการกระโดดท่า Quad Loop เป็นหนทางของทุกคนในเวลานี้ เด็กรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาย่อมต้องการพัฒนาตัวเองด้วย แม้กระทั่งนักสเกตรุ่นเดียวกับผมที่แข่งขันในรุ่นเดียวกันก็เตรียมพัฒนาการกระโดดท่า Quad ขึ้นไปอีก” ฮานิวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเวลา 2 ปีครึ่งก่อนการแข่งขันโอลิมปิกที่พย็องชัง

 

และด้วยท่า Quad Loop ที่เขาฝึกฝนอย่างหนักจนสามารถทำมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ บวกกับการผสมผสานกับท่ากระโดดอื่นๆ เขาก็คว้าแชมป์โลกได้เป็นสมัยที่ 2 ในปี 2017 หลังจากที่คว้าไปครั้งแรกในปี 2014 และได้ยกระดับการแข่งขันให้สูงขึ้นไปอีก ขณะที่เหลือเวลาเพียง 10 เดือนก่อนถึงมหกรรมโอลิมปิก

 

แต่คู่แข่งของเขาก็ไม่ได้หยุดพัฒนาเช่นกัน นักกีฬาหลายๆ คนอย่าง นาธาน เฉิน นักเกตลีลาชาวอเมริกันที่ทำคะแนนสูงสุดสำหรับการกระโดดท่าหมุน หรือ Quad Lutz ที่ยากที่สุด และท่า Quad Flip ที่ยากรองลงมาเป็นอันดับที่ 2 เมื่อปี 2016 รวมถึงนักกีฬาอีกหลายคนที่สามารถกระโดดท่ายากกว่าฮานิวได้สร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้กับแชมป์เก่า

 

ฮานิวได้เตรียมตัวและวางแผนอย่างหนักก่อนจะสรุปเป้าหมายออกมาได้ว่า หากเขาต้องการกลับมาเป็นที่หนึ่ง เขาต้องท้าทายการกระโดดท่ายากที่สุด นั่นคือ Quad Lutz

 

“ถ้าผมต้องการชนะแบบขาดลอย ผมต้องทำผลงานให้ได้ในระดับนี้ ถ้าผมไม่สามารถชนะแบบขาดลอย ผมคงไม่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้

 

“นักสเกตหลายคนเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ๆ และเมื่อผมเห็นการแข่งขันแบบนี้ ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจมาก ผมไม่กลัวนะ ความรู้สึกผมจริงๆ คือขอบคุณพวกเขาสำหรับการแข่งขันที่เป็นมิตร”

 

นอกจากวิธีคิดแล้ว อีกหนึ่งอาวุธลับของเขาคือการจดบันทึกข้อผิดพลาดและเป้าหมายที่ต้องการทำผลงานของตัวเองให้ดีกว่าเมื่อวานเสมอ ฮานิวมีสมุดบันทึกแผนการพัฒนาของเขาตั้งแต่วัยเด็ก และเขานำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ

 

“เมื่อใดก็ตามที่ผมทำผลงานได้ไม่ดีและไร้ทางออก ผมจะกลับไปดูคำพูดของผมก่อนหน้านี้ ผมจะศึกษามันและพยายามต่อไป”

 

ซึ่งข้อคิดที่เขามักกลับไปอ่านเสมอคือเหตุการณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม ปี 2012 คำนี้ถูกเขียนโดยปากกาสีทองเหมือนสีของเหรียญผู้ชนะในการแข่งขันโอลิมปิกว่า

 

“ผมต้องชนะอย่างแน่นอน”

 

เบื้องหลังคำนี้เกิดขึ้นจากการที่เขาจบอันดับที่ 2

 

“ผมแพ้และหงุดหงิดมากจนไม่สามารถทำอะไรได้ ผมจึงเขียนคำนี้ลงไปพร้อมความรู้สึกหงุดหงิดมาก ทุกความรู้สึกในตอนนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือที่คุณเห็นอยู่บนหน้ากระดาษนี้”

 

5 เดือนก่อน กับอุปสรรคก่อนการแข่งขันโอลิมปิก

หนทางสู่ความเป็นที่หนึ่งอีกครั้งของฮานิวต้องหยุดลงในช่วงเวลาเพียง 5 เดือนก่อนการแข่งขันโอลิมปิก เมื่อเขาเริ่มรู้สึกถึงอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขวา ขณะพยายามฝึกซ้อมกระโดดท่า Quad ซึ่งเป็นท่าที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากที่สุด

 

อาการบาดเจ็บนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขาอย่างหนัก เนื่องจากครั้งที่แล้วที่เขาได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าขวาจนทำให้เขาต้องหยุดสเกตถึง 2 เดือนครึ่ง และเวลาที่เหลือเพียง 5 เดือนก่อนโอลิมปิกดูจะไม่เพียงพอสำหรับการฝึกซ้อมที่ต้องผลักดันขีดจำกัดของร่างกายเพื่อความเป็นที่สุดของโลก แต่ฮานิวก็ไม่ยอมแพ้ และในช่วงเวลา 4 เดือนก่อนโอลิมปิก ในการแข่งขัน Rostelecom Cup 2017 เขาก็สามารถกระโดดท่า Quad Lutz ที่ยากที่สุดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

 

และแล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเขาพยายามที่จะกระโดดท่า Quad Lutz ในระหว่างการฝึกซ้อมก่อนแข่งขัน NHK Trophy 2017 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 3 เดือนก่อนการแข่งขันโอลิมปิก

 

 

เขาล้มลงต่อหน้าคู่แข่งและสื่อมวลชนที่อยู่ในสนาม แต่ว่าครั้งนี้เขาไม่สามารถลุกขึ้นพร้อมกับรอยยิ้มได้เหมือนครั้งก่อนๆ สีหน้าของเขาบ่งบอกถึงความเจ็บปวด ก่อนจะพยายามเช็กความเจ็บปวดที่ข้อเท้าขวา และเดินออกจากลานสเกตไปพร้อมกับสีหน้าที่เต็มไปด้วยความกังวล จนสุดท้ายเขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันในรายการนั้นจากอาการกระดูกและเอ็นข้อเท้าอักเสบ

 

แต่เวลาผ่านไปไม่ถึงเดือน ทางญี่ปุ่นก็ได้ประกาศชื่อเขาเป็นหนึ่งในตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2018 ที่พย็องชัง เป็นการส่งสัญญาณว่าฮีโร่ของพวกเขาได้กลับมาแล้ว


และเขาก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวังในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกด้วยคะแนนรวม 317.85 คะแนน และกลายเป็นนักกีฬาคนแรกที่ป้องกันแชมป์สเกตชายได้ในรอบ 66 ปี

 

 

แฟนกีฬาทั้งสนามร่วมฉลองความสำเร็จของเขาด้วยการโยนตุ๊กตาหมีพูห์ลงสนาม เนื่องจากเป็นตุ๊กตาที่เขามักจะพกพาไปด้วยในทุกการแข่งขัน และเขามักจะจับตุ๊กตานั่งหันหน้าเข้าสนามเพื่อให้หมีพูห์ได้เห็นเขาทำในสิ่งที่เขาชื่นชอบที่สุด นั่นก็คือการแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดของตัวเองออกมาทุกครั้งที่ก้าวลงสนาม

 

 

แม้ว่าสเกตน้ำแข็งอาจเป็นกีฬาที่อยู่ไกลตัวจากคนไทย แต่เรื่องราวของฮานิว นักสเกตลีลาที่ถูกสื่อญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นหนึ่งในฮีโร่ของประเทศไปแล้ว ได้แสดงให้เห็นว่าภาษาของความสำเร็จไม่มีกำแพงกั้น แต่จะมีเพียงแค่คนที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และต้องการที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจมันได้

 

 

ฮานิวในวันที่กลายเป็นคนแรกที่ป้องกันแชมป์รายการนี้ได้ในรอบ 66 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยเผยถึงแง่คิดการยกระดับผลงานบนลานน้ำแข็งของเขาไว้ว่า

 

“ทุกคนคิดหาวิธีที่จะเอาชนะแชมป์โลกและพัฒนาทักษะของพวกเขาให้ดีขึ้น แต่ถ้าแชมป์โลกคนนั้นยกระดับฝีมือของเขาขึ้นไป ทุกคนก็จะยกระดับความสามารถตาม และผมเชื่อว่าการแข่งขันจะพัฒนาไปตามระบบนี้ การพัฒนาตัวเองคือสิ่งที่ผมต้องทำตอนนี้ และสิ่งที่ผมต้องการที่จะทำต่อไป”

 

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

FYI
  • การกระโดดเป็นท่าที่ได้รับความนิยมมากในการแข่งขันสเกตลีลาในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการแสดงศักยภาพของร่างกายนักกีฬา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นท่าที่เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากที่สุด เนื่องจากเข่าและข้อเท้าต้องรับน้ำหนักและความเร็วมากกว่าปกติหลายเท่าตัวบนพื้นน้ำแข็ง
  • การกระโดดจะนับจำนวนโดยคำนำหน้า ตั้งแต่ Double หมุน 2 รอบ Triple คือ 3 รอบ และ Quad คือระหว่าง 4-5 รอบ ซึ่งความยากคือความเร็วกับความสูงต้องได้จังหวะเพื่อให้หมุนได้ครบ 4 รอบ โดยชื่อที่ตามมาคือท่าที่กระโดด โดยท่ากระโดดแบ่งออกเป็น
  1. Toe Loop คือการกระโดดขึ้นจากเท้าขวาและลงพื้นด้วยเท้าเดิม สาเหตุที่มีชื่อว่า Toe Loop เพราะนักสเกตจะใช้นิ้วเท้ากดพื้นเพื่อช่วยยกตัวเองขึ้นและช่วยหมุนในการกระโดด (การทำ Quad Toe Loop คะแนน 10.3)
  2. Salchow เป็นการตั้งชื่อตาม Ulrich Salchow นักกีฬาทีมชาติสวีเดน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ปี 1908 ผู้ริเริ่มการกระโดดด้วยการออกตัวจากเท้าหลัง แล้วลงพื้นน้ำแข็งด้วยเท้าเพียงข้างเดียวและเท้าคนละข้างกับที่ใช้ออกตัว (การทำ Quad Salchow คะแนน 10.5)
  3. Flip คือท่ากระโดดที่ออกตัวด้วยการถอยหลังเข้าสู่การกระโดด และดีดตัวจากเท้าซ้าย ก่อนจะลงด้วยเท้าขวาเพียงข้างเดียว (การทำ Quad Flip คะแนน 12.3)
  4. Lutz คือท่ากระโดดที่ยากที่สุด โดยเริ่มต้นจากการสเกตถอยหลังเข้าสู่การกระโดดจากด้านในของสเกตเท้าซ้าย หมุนตัวไปทางขวา และลงพื้นด้วยเท้าขวา ความท้าทายของท่านี้คือการเทกตัวจากด้านซ้ายก่อนจะหมุนตัวไปด้านขวา (การทำ Quad Lutz คะแนน 13.6)
  5. Axel คือท่ากระโดดที่ตั้งชื่อตาม Axel Paulsen นักกีฬาจากนอร์เวย์คนแรกที่เริ่มต้นกระโดดในปี 1882 เป็นท่ากระโดดออกจากเท้าหน้าด้านซ้าย และลงพื้นในเท้าขวาด้านหลัง การกระโดด Axel จะเป็นการหมุน 1.5 ครั้ง ฉะนั้นการทำ Triple Axel ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้จึงสร้างปรากฏการณ์ใหม่กับวงการสเกตน้ำแข็ง เนื่องจากเท่ากับว่านักกีฬาหมุนตัวทั้งหมด 4.5 ครั้ง Quad Axel ยังไม่มีใครสามารถทำได้อย่างเป็นทางการ (การทำ Quad Axel ได้คะแนน 15.0)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising