จีนจ่อเกินดุลการค้ามากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะป้องกัน เงินหยวน ไม่ให้อ่อนค่าได้ เนื่องจากความเชื่อมั่นในประเทศยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ และผู้ส่งออกเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ แทนการแลกกลับเป็นเงินหยวน
แลร์รี ฮู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Macquarie Group ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ระดับโลกจากออสเตรเลีย ระบุว่า ขณะที่การเกินดุลการค้าสินค้าของจีนกำลังใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้ส่งออกกลับไม่เต็มใจที่จะแปลงเงินตราต่างประเทศกลับเป็นหยวน เนื่องจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลงในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คุมวิกฤต! ธนาคารของจีนประกาศจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท สำหรับเข้าซื้อ ‘อสังหาริมทรัพย์’ ที่ไปต่อไม่ไหว
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- 10 กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน แกร่งสุด
ฮูยังประเมินว่า อัตราส่วนการแปลงเงินตราต่างประเทศกลับเป็นหยวนของยอดเกินดุลการค้าของจีนสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเหลือ 36% เทียบกับ 57% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่ามีการถือเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น พร้อมทั้งชี้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ระดับค่อนข้างสูงที่ 50% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่เริ่มลดลงหลังจากการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้นานหลายเดือนเมื่อต้นปีนี้
ฮูระบุอีกว่า ผู้ส่งออกอาจเดิมพันว่าเงินหยวนอาจจะอ่อนค่าอีกท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทำให้รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่ต้องแปลงเงินตราต่างประเทศกลับเป็นหยวนน้อยลง นั่นหมายความว่าการเกินดุลการค้าสินค้าอาจมีบทบาทน้อยลงในการชะลอการอ่อนค่าของหยวน
“ถึงแม้จีนจะเกินดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่เงินหยวนก็จะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ” ฮูกล่าว เมื่อพิจารณาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อ่อนแอ
ล่าสุดวันนี้ (26 กันยายน) นักกลยุทธ์ด้านสกุลเงินของ Macquarie ระบุในรายงานว่า เงินหยวนอาจจะอ่อนค่าแตะระดับ 7.15 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ โดยหลังจากรายงานเผยแพร่เพียงไม่นาน เงินหยวนก็อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวไปแล้ว
ฮูกล่าวอีกว่า อัตราส่วนการแปลงเงินตราต่างประเทศกลับเป็นหยวนของยอดเกินดุลการค้าของจีนอาจเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (Game Changer) สำหรับหยวน โดยหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ผู้ส่งออกก็จะแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหยวนมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม การใช้นโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นอาจทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงอีกได้
ทั้งนี้ การเกินดุลการค้าของจีนพุ่งขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย Zero-COVID เนื่องจากจีนสามารถรักษาความสามารถในการส่งออกได้ ขณะที่อุปสงค์ภายในและการนำเข้ายังอ่อนแอลงจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการส่งออกของจีนอาจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และวิกฤตด้านพลังงาน ซึ่งทำให้อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอลงได้ โดยจะเห็นได้ว่าการส่งออกของจีนในเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุด นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP