×

‘เงินหยวน’ จ่อผงาด เมื่อ ‘ดอลลาร์’ เริ่มเสื่อมมนตร์ขลัง วิเคราะห์ดุลอำนาจเกมการเงินโลกกำลังเปลี่ยน?

22.03.2022
  • LOADING...
‘เงินหยวน’ จ่อผงาด เมื่อ ‘ดอลลาร์’ เริ่มเสื่อมมนตร์ขลัง วิเคราะห์ดุลอำนาจเกมการเงินโลกกำลังเปลี่ยน?

HIGHLIGHTS

  • บทบาทของสกุลเงินหยวนในเวทีการค้าโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางจีนพยายามกระตุ้นให้คู่ค้าของจีนหันมาใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น 
  • นักวิเคราะห์ประเมินว่าการเดินเกมนี้ของจีนในระยะยาวอาจทำให้ความยิ่งใหญ่ของเงินดอลลาร์สหรัฐถูกสั่นคลอน โดยภายใน 10 ปีข้างหน้า เงินหยวนดิจิทัลจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงเงินสกุลดอลลาร์
  • การคว่ำบาตรรัสเซียของพันธมิตรชาติตะวันตกจะสร้างแรงบีบให้รัสเซียต้องร่วมมือกับจีนเพื่อหาทางลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ พร้อมกระตุ้นให้หลายประเทศต้องทบทวนนโยบายการกระจายเงินสำรองของตัวเอง
  • ในมุมกลับกันก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลบวกต่อยุทธศาสตร์ของชาติตะวันตกและทำให้เงินสกุลดอลลาร์ยิ่งทวีความสำคัญในฐานะการเป็นเงินสกุลหลักของโลก

การถูกโจมตีด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินจากทั้งภาครัฐและเอกชนของชาติตะวันตกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหันมาพึ่งพาจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการคว่ำบาตร รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาประกาศชัดเจนถึงแผนการเพิ่มปริมาณเงินสำรองในรูปสกุลเงินหยวน รวมถึงตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการค้ากับจีน โดยใช้เงินสกุลรูเบิล-หยวนในการชำระค่าสินค้าระหว่างกันโดยตรง

 

การปรับนโยบายของเครมลินทำให้ธนาคารรัสเซียหลายแห่งเริ่มหันมาให้บริการลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นสกุลเงินหยวนแทนที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินยูโร

 

นอกจากรัสเซียแล้ว ล่าสุด The Wall Street Journal ได้รายงานข่าวว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียก็กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาทำข้อตกลงในการรับชำระค่าน้ำมันจากจีนเป็นเงินหยวนแทนการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

 

ความร่วมมือของจีนและซาอุในครั้งนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ของโลก เนื่องจากนักวิเคราะห์ต่างมองว่าหากทั้งสองชาติสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้จะทำให้ความยิ่งใหญ่ของเงินดอลลาร์สหรัฐถูกสั่นคลอนทันที โดยเงินหยวนอาจก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นสกุลเงินที่มีความสำคัญของโลกมากขึ้น 

 

ในเดือนที่ผ่านมาปริมาณการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศผ่านสกุลเงินหยวนได้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากหลายประเทศเริ่มหันมาทำธุรกรรมกับจีนผ่านสกุลเงินหยวนโดยตรงมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินสกุลดอลลาร์จากการปรับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

ข้อมูลจาก The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunications (SWIFT) ระบุว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เงินหยวนมีส่วนแบ่งการตลาดในเวทีการค้าโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% ถือเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากเงินสกุลดอลลาร์ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง

 

กองทุนเพิ่มสัดส่วนถือบอนด์จีน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ปริมาณการใช้เงินหยวนที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กองทุนระหว่างประเทศหลายแห่งเพิ่มสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีน 

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีนยังพยายามกระตุ้นให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่ค้าขายกับจีนหันมาใช้เงินหยวนในการชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์

 

เบ็กกี้ หลิว หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคของ Standard Chartered Bank ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ในปีนี้จะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรจีน 7-8 แสนล้านหยวน หรือราว 1.1-1.26 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าข้อตกลงการค้า RCEP ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วในช่วงต้นปีจะส่งผลให้การใช้เงินหยวนระหว่างจีนและชาติสมาชิกเพิ่มสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความนิยมในการใช้เงินหยวนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยับจากการเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้ในการค้าโลกเป็นอันดับ 35 ของโลกในปี 2010 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4 ในปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง จะพบว่าหยวนยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่ต่ำกว่าอยู่มาก

 

โดยปัจจุบันเงินสกุลดอลลาร์ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในการค้าโลกเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 39.9% ตามมาด้วยเงินสกุลยูโรที่ 36.56% และปอนด์สเตอร์ลิงที่ 6.3% ขณะที่เงินเยนซึ่งอยู่ในอันดับ 5 มีส่วนแบ่งตลาดตามหลังเงินหยวนอยู่ที่ 2.79%

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากปริมาณการถือครองเงินสำรองใน 5 สกุลเงินหลักของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะพบว่าเงินสกุลดอลลาร์ยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 59.1% ตามมาด้วยเงินสกุลยูโรที่ 20.5% เงินเยน 5.8% เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ 4.8% ขณะที่เงินหยวนยังมีสัดส่วนอยู่เพียง 2.7%

 

 

แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งได้คาดการณ์ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงของชาติตะวันตกอาจนำไปสู่กระแสที่ทำให้ประเทศต่างๆต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายของตัวเองและกระจายการถือครองเงินสำรองไปยังสินทรัพย์และเงินสกุลอื่นๆ มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาเงินสกุลใดสกุลหนึ่งมากเกินไป

 

จับตา ‘รัสเซีย’ จับมือ ‘จีน’ กดดันเงินดอลลาร์บนเวทีโลก

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียและจีนอาจร่วมมือกันเพื่อลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ในเวทีการค้าโลกลง โดย CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) หรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศของจีนจะค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นทางเลือกแทนระบบ SWIFT ของชาติตะวันตก

 

ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่า อีกหนึ่งชาติมหาอำนาจอย่างอินเดียอาจแสดงความสนใจจะเข้าร่วมกับจีนและรัสเซียพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามประเทศที่สามารถเป็นทางเลือกของระบบ SWIFT 

 

เนื่องจากสงครามที่จะเกิดขึ้นในโลกในระยะข้างหน้าจะแปรสภาพมาเป็นสงครามการค้า ซึ่งการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธตอบโต้กันสูงขึ้น การมีระบบการโอนเงินทางเลือกสำหรับการค้าระหว่างประเทศจึงมีความมั่นคงมากกว่า

 

ทั้งนี้ รัสเซียและอินเดียนับเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยปัจจุบันทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงในการชำระค่าสั่งซื้ออาวุธเป็นสกุลเงินรูเบิลและรูปีโดยตรงอีกด้วย

 

ยุคเงินดอลลาร์ผูกขาดการค้าโลกใกล้สิ้นสุด?

ภูมิทัศน์ทางการเงินโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเกิดคำถามว่ายุคที่เงินดอลลาร์ผูกขาดการค้าโลกกำลังจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้วหรือไม่ และบทบาทของเงินหยวนในเวทีโลกจะเป็นอย่างไรในระยะต่อไป

 

ริชาร์ด เทอร์ริน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงินซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘Cashless: China’s Digital Currency Revolution’ ได้ออกมาทำนายว่า เงินหยวนดิจิทัลจะก้าวขึ้นมาท้าทายเงินสกุลดอลลาร์ในฐานะการเป็นเงินสกุลทางเลือกสำหรับทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศภายใน 10 ปีนับจากนี้

 

“จีนเป็นประเทศที่มีการค้าสูงที่สุดในโลก เงินหยวนจะค่อยๆ เข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในการค้าขายกับจีน และภายใน 5-10 ปี เงินหยวนดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การใช้เงินดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศลดลง” เทอร์รินกล่าว

 

เทอร์รินเชื่อว่า ความต้องการระบบการชำระเงินทางเลือกโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เงินหยวนดิจิทัลเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

“ปัจจุบันระบบการค้าโลกยังพึ่งพาเงินดอลลาร์สูง แต่ในอนาคตเราจะเห็นกระแสตีกลับ ประเทศต่างๆ จะมองหาทางเลือกในการชำระเงินเพื่อบริหารความเสี่ยง ทำให้การพึ่งพาดอลลาร์จะทยอยลดลงจากปัจจุบัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคระบุ

 

เทอร์รินกล่าวอีกว่า ธนาคารกลางจีนได้เริ่มพัฒนาเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่มีการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงินสกุลดอลลาร์ดิจิทัล แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งวิจัยและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วนก็ตาม

 

“เรื่องนี้สะท้อนว่าเทคโนโลยีทางการเงินของจีนแซงหน้าชาติอื่นๆ ไปราว 10 ปีแล้ว สหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีในการวางแผนและทดสอบเงินสกุลดอลลาร์ดิจิทัล” เทอร์รินกล่าว

 

Dedollarization Partnership เกมถ่วงดุลอำนาจเงินดอลลาร์

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของไทย วิเคราะห์ว่า การดำเนินยุทธศาสตร์แบ่งแยก (Divide) ยั่วยุ (Provoke) และปิดล้อม (Contain) ของกลุ่มมหาอำนาจชาติตะวันตกในเวลานี้จะบีบให้จีนและรัสเซียต้องผนึกกำลังกันมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเกิดสงครามเย็น 2.0 

 

“ทั้งจีนและรัสเซียต่างรู้ว่าสู้เดี่ยวๆ ไม่ได้ ทำให้เราจะเห็นการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและจีนเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าลึกๆ ทั้งสองประเทศอาจจะไม่ได้ไว้ใจกันเต็มที่ สิ่งที่จะตามมาคือเราจะเห็นกระแส Globalisation ถ่ายเทมาเป็น Regionalisation มากขึ้น ประเทศต่างๆ จะพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้” สมภพกล่าว

 

สมภพกล่าวอีกว่า การพยายามถ่วงดุลอำนาจจากขั้วรัสเซียและจีนจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dedollarization Partnership เพื่อลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ในเวทีโลกลง เนื่องจากสิ่งที่ทำให้สหรัฐยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เงินดอลลาร์มีความสำคัญในฐานะการเป็นสกุลกเงินที่ถูกใช้เป็นทุนสำรองและใช้ในการค้าระหว่างประเทศ

 

“ถ้าในอนาคตดีมานด์ของเงินดอลลาร์ลดลง พลังของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่สามารถกำหนดทิศทางการเงินโลกก็จะลดลงตามไปด้วย เราอาจได้เห็นมาตรการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้สงครามเย็นเย็นยิ่งขึ้น ผมมองว่าโลกหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะน่ากลัวยิ่งกว่าสงครามในปัจจุบัน” สมภพกล่าว

 

คว่ำบาตร ‘รัสเซีย’ ทำดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้น

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองที่ต่างออกไป โดยประเมินว่า สถานการณ์สู้รบในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกนั้นในระยะสั้นและกลาง กลับจะทำให้เงินสกุลดอลลาร์มีความสำคัญในฐานะเงินสกุลหลักของโลกมากขึ้นกว่าเดิม

 

“การคว่ำบาตรรัสเซียจะทำให้ยุโรปที่เคยใช้เงินยูโรซื้อพลังงานจากรัสเซียต้องปรับไปซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ ด้วยเงินสกุลดอลลาร์แทน เงินหยวนยังไม่สามารถขึ้นมาเป็นทางเลือกได้ เพราะจีนมีการควบคุมการไหลของเงินไม่ปล่อยให้เคลื่อนไหวเสรี ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญของสกุลเงินหยวน” อาร์มกล่าว

 

อาร์มระบุว่า ในภาพรวมสงครามยูเครนขณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกมากกว่า เพราะทำให้การรวมกลุ่มของชาติตะวันตกมีความแน่นแฟ้นขึ้นซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่จีนจะถูกปิดล้อมมากขึ้นด้วย เพราะชาติตะวันตกอาจกลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยเช่นเดียวกับกรณีของรัสเซีย

 

“เราจะเห็นได้ว่าจีนมีจุดยืนในเรื่องยูเครนเหมือนการไต่ลวด คือไม่ประณามแต่ก็ไม่สนับสนุน ไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย แต่ก็ไม่ร่วมคว่ำบาตร ในด้านการค้าแม้ว่าจีนจะมีพรมแดนติดกันและอยากช่วยรัสเซียในทางเศรษฐกิจ แต่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ห่างไกลจากจีน การขนส่งพลังงานจากรัสเซียมาจีนยังต้องอาศัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการขนส่งอีกมาก ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าจีนสามารถเข้ามาเป็นลูกค้าใหญ่ของรัสเซียแทนยุโรปได้ในทันที” อาร์มกล่าว

 

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือรัสเซียในด้านระบบการเงิน อาร์มมองว่าจะเป็นเรื่องที่จีนทำได้ยากยิ่งกว่า เพราะธนาคารขนาดใหญ่ของจีนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎการคว่ำบาตรของตะวันตก เพราะเศรษฐกิจจีนเองก็พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน

 

“ผมยังไม่คิดว่าโครงสร้างการเงินโลกจะเปลี่ยน เพราะแม้รัสเซียกับจีนจะร่วมมือกันแต่ขนาดเศรษฐกิจก็ยังเทียบกับตะวันตกไม่ได้ ยังห่างไกลมาก ระบบ CIPS ของจีนก็ยังมีธุรกรรมที่น้อยมาก ไม่สามารถแทนที่ SWIFT ได้” อาร์มกล่าว

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X