ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยในระหว่างการประชุมนอกรอบของงาน China International Fair for Trade in Services ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 กันยายน) ว่า ตัวเลขการชำระหนี้ด้วยสกุลเงินหยวนขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 สะท้อนให้เห็นความคืบหน้าของการพยายามผลักดันให้สกุลเงินหยวนมีอิทธิพลและบทบาทต่อเวทีการค้าระดับโลก
Jin Zhongxia อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า จากมุมมองในด้านการลงทุน ยอดคงเหลือของสินทรัพย์สกุลเงินหยวนที่หน่วยงานในต่างประเทศจัดสรรจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนมีมูลค่าสูงถึง 9.8 ล้านล้านหยวน ขณะที่ส่วนแบ่งของสกุลเงินหยวนในการชำระเงินทั่วโลกทะลุ 3% ในเดือนกรกฎาคม
รายงานระบุว่า ขณะนี้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกสำหรับการเป็นทุนสำรอง การชำระเงิน และการซื้อ-ขาย รวมถึงเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 สำหรับการจัดหาเงินทุนเพื่อการค้า
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เพิ่มน้ำหนักเงินหยวนในตะกร้าสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDRs (Special Drawing Rights) จาก 10.9% เป็น 12.3%
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในขณะที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งของจีนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระดับโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน้าที่ของเงินหยวนในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศและสกุลเงินการชำระเงินยังคงแข็งแกร่งขึ้น ท่ามกลางกระแสสนับสนุนส่งเสริมการจัดการสกุลเงินและความร่วมมือกับจีนในประเทศต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีโบลิเวีย ในอเมริกาใต้ เป็นประเทศล่าสุดที่เปิดรับเงินหยวนเป็นสกุลเงินเพื่อการชำระหนี้ทางการค้า ตลอดจนผลักดันให้ธนาคารสัญชาติจีนเข้าไปดำเนินการในประเทศ
ขณะเดียวกันอาร์เจนตินาได้ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางจีนเพื่อชำระหนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ 2.7 พันล้านดอลลาร์ที่ครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคมให้กับ IMF ด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้อาร์เจนตินาปฏิบัติตามพันธกรณีของ IMF โดยไม่ต้องใช้ทุนสำรองแม้แต่ดอลลาร์เดียว
รายงานระบุว่า ในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนของจีน สัดส่วนการชำระหนี้ด้วยเงินหยวนสูงถึง 49% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ซึ่งแซงหน้าดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ท่ามกลางการเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญให้มีการจัดการเชิงรุกเกี่ยวกับกระบวนการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลในระยะยาวต่อไป
อ้างอิง: