×

เงินหยวนแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 เดือน หลังธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงิน

25.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 กันยายน) ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าสุดในรอบกว่า 16 เดือน หลังรัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการเมื่อวานนี้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 

มูลค่าการซื้อขายสกุลเงินหยวนทั้งนอกประเทศ (Offshore Yuan) และภายในประเทศ (Onshore Yuan) แข็งค่าขึ้นมาแตะที่ระดับ 6.9946 หยวนต่อดอลลาร์ และ 7.0319 หยวนต่อดอลลาร์ ตามลำดับ ถือเป็นการแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 

 

ทิศทางของค่าเงินหยวนสวนทางกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เช่น สกุลเงินดอลลาร์และเยน เนื่องจากรัฐบาลจีนควบคุมค่าเงินอย่างเข้มงวด โดยควบคุมให้เคลื่อนไหวขึ้น-ลงไม่เกินกว่ากรอบ 2% ของค่าเฉลี่ยในวันนั้นๆ

 

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินหยวนที่ซื้อขายนอกเขตประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรวมถึงฮ่องกง ลอนดอน สิงคโปร์ และนิวยอร์ก ไม่ได้ถูกควบคุมเข้มงวดเท่าเงินหยวนที่ซื้อขายภายในประเทศ และถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาด จึงทำให้มีมูลค่าที่ต่างกัน

 

ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.05% สู่ระดับ 2.074% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.182% โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรทั้งสองรุ่นอายุทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนใหญ่แล้วอุปสงค์ต่อพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นมักจะทำให้สกุลเงินแข็งค่าขึ้นด้วย

 

ตลาดหุ้นในประเทศจีน ดัชนี CSI 300 ของจีนแผ่นดินใหญ่ทำสถิติปรับตัวขึ้นภายในวันมากที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ส่วนดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงทำสถิติปรับตัวขึ้นภายในวันมากที่สุดในรอบ 7 เดือน 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เกิดขึ้นหลังงานแถลงข่าวของ Pan Gongsheng ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ที่ประกาศแผนการลดสัดส่วนการตั้งเงินสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR) ลง 0.50% นอกจากนี้ยังระบุว่า ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo Rate ระยะ 7 วันลงอีก 0.2%

 

จับตาหยวนแข็งค่ากระทบการส่งออก?

 

Wei Liang Chang นักกลยุทธ์ตลาดค่าเงินและสินเชื่อจาก DBS กล่าวเตือนรัฐบาลจีนผ่าน CNBC ว่า จีนต้องระมัดระวังไม่ให้การแข็งค่าของเงินหยวนกระทบต่อภาคการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในช่วงที่เปราะบาง

 

เช่นเดียวกันกับ Ben Emons ผู้ก่อตั้ง FedWatch Advisors ที่มองว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินหยวนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกของจีนที่กำลังชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน

 

“ช่องทางของการส่งความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐ ถูกขัดขวางด้วยปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กระทบต่อฐานะการเงินของธนาคาร ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” Emons กล่าวเสริม

 

อย่างไรก็ตาม Edmund Goh หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ประเทศจีนจาก abrdn มองว่า การเติบโตของจีนที่อ่อนแอและภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำในจีนจะกดดันค่าเงินหยวนในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X