×

หยวนดิจิทัล ชิงบัลลังก์ Global Currency

โดย efinanceThai
28.04.2020
  • LOADING...

หยวนดิจิทัล คืออะไร? 

 

ก่อนจะไปรู้จักกับ ‘หยวนดิจิทัล’ อยากจะให้เริ่มต้นทำความรู้จักกับ ‘สกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง’ กันก่อน ซึ่งโดยปกติจะเรียกว่า Central Bank Digital Currency หรือ CBDC

 

ใครยังไม่รู้จัก CBDC อ่านได้จากบทความนี้…CBDC คืออะไร ทำไม ธ.กลางทั่วโลกต้องเร่งศึกษา

 

‘หยวนดิจิทัล’ เป็น CBDC ที่มีผู้ออกคือธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBoC) ซึ่งจากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องจากทางการจีนในช่วงปีเศษมานี้ CBDC ของจีนจะมีชื่อเฉพาะที่เรียกว่า DC/EP ซึ่งชื่อ DC/EP นี้ปรากฏออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ย่อมาจาก Digital Currency Electronic Payment 

 

DC/EP จะมี 2 ประเภทการใช้งาน ประเภทแรกออกให้ประชาชนทั่วไปใช้ และแบบที่ 2 ออกใช้ระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อใช้ชำระราคาซึ่งจะเป็นมูลค่าธุรกรรมที่สูงระหว่างกัน ซึ่งในกรณีของจีนที่กำลังจะเปิดตัวในอนาคตนี้ จะเป็นแบบที่ 1 ก่อน (ของไทยที่ทำการทดลองในชื่อ โครงการอินทนนท์ เป็นแบบที่ 2)

 

จากนั้นก็มีข่าวมาเป็นระลอกถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโปรเจกต์สกุลเงินดิจิทัลนี้ ที่สำคัญเวลามีข่าวออกมาทางจีนก็มักจะออกมาปัดข่าวว่าแค่ศึกษา ยังไม่ได้รีบร้อนจะเปิดตัว ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการทดสอบ ซึ่งข่าวของสกุลเงินดิจิทัลจีนนี้ก็ออกมาเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 เนื่องจากในช่วงนั้นเฟซบุ๊กประกาศโปรเจกต์ Libra 1.0 จีนจึงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาเผยทีละนิดๆ ว่าของตัวเองก็มี ซุ่มทำมาตั้ง 5-6 ปีรอวันเปิดตัว 

 

ต่างจาก Libra ของเฟซบุ๊กอย่างไร

 

CBDC จีน ออกโดยรัฐบาลจีน หมายความว่ารัฐบาลจีนคือผู้คุมอำนาจ แต่ Libra ออกโดยภาคเอกชนผ่านสมาคม Libra (กลุ่มมหาเศรษฐี 23 บริษัท) แต่สิ่งที่เหมือนกันของหยวนดิจิทัลกับ Libra คือมีศูนย์กลางการควบคุม ซึ่งต่างจากระบบการทำงานของสกุลเงินดิจิทัลทั่วไป เช่น บิตคอยน์ อีเธอเรียม ที่ไม่มีศูนย์กลางควบคุม มีความเป็นอิสระ ไร้ตัวกลาง 

 

CBDC จีนจะมีเงินหยวนค้ำประกัน 1:1 ส่วน Libra มีสินทรัพย์ค้ำประกัน 1:1 เหมือนกัน แต่ไม่ได้มีสกุลเดียว โดยจะถัวเฉลี่ยทุกๆ สกุลที่เข้าร่วมในเครือข่าย (ที่แน่ๆ ไม่มีหยวนมาถัว)

 

นอกจาก Libra จะมีเป้าหมายเป็น Global Currency แล้ว Libra ยังวางตัวเองเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่เปิดให้ธนาคารกลางทุกประเทศ หากต้องการจะ ‘สร้าง CBDC’ มาใช้แพลตฟอร์มของเราได้ ทำความเข้าใจแบบละเอียดได้จากรายงานนี้… Libra 2.0 การพลิกเกมครั้งใหญ่ของเฟซบุ๊ก!

 

เป้าหมายลึกๆ แข่งกับใคร?

 

คงไม่ใช่ว่าแข่งกับ Libra เฟซบุ๊ก แต่จีนพุ่งเป้าทะลุออกไปยังสกุลดอลลาร์สหรัฐ! เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า จีนต้องการขึ้นมาเป็นที่ 1 มหาอำนาจโลกแทนสหรัฐฯ

 

เมื่อ ‘หยวนดิจิทัล’ จะแข่งกับสกุลดอลลาร์ คู่แข่งในตลาดที่สมน้ำสมเนื้อขณะนี้ก็ต้อง ‘Libra’ ซึ่งตามแผนของ Libra คือจะมีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ตรึงมูลค่าของ Libra (รวมกับอีกหลายสกุลในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นในรูปแบบของ Single-currency stablecoins) นั่นแปลว่าถ้าคนใช้ LibraUSD มากเท่าไร ดีมานด์ของดอลลาร์สหรัฐที่จะต้องนำมาสำรองใน Libra Reserve ก็จะมากตามไปด้วย

 

ถามว่า แล้วทำไมจีนไม่แข่งกับ CBDC ของสหรัฐฯ ล่ะ ก็เพราะตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ยังไม่ได้มีท่าว่าจะ ‘จริงจัง’ ในเรื่องนี้ แถมก่อนหน้านั้นทางเฟดฟิลาเดลเฟียออกมายอมรับว่า CBDC เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จริง แต่คงไม่ใช่สหรัฐฯ ที่จะเป็นผู้นำ เพราะเทคโนโลยียังต้องได้รับการบ่มเพาะ

 

ซักเคอร์เบิร์กบอกว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่ทำ จีนทำก่อนนะ!

 

นอกจากฝั่งทางการสหรัฐฯ จะยังไม่มีท่าทีจริงจังในเรื่องนี้แล้ว ยังต่อต้าน Libra ของเฟซบุ๊กอีกด้วย ทั้งที่หากผลักดันโปรเจกต์นี้ของซักเคอร์เบิร์ก โอกาสที่จะต่อกรกับจีนก็จะมีมากขึ้น แผนการของจีนนี้น่ากลัวถึงขนาดที่ซักเคอร์เบิร์กยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการชี้แจงกับทางหน่วยงานกำกับของสหรัฐฯ ในตอนที่เรียกไปชี้แจงเรื่อง Libra เวอร์ชัน 1.0 ว่า ถ้าสหรัฐฯ ไม่ให้ Libra ทำ ในที่สุดจีนก็จะทำเสียเอง!

 

ธนาคารกลางทั่วโลกมีการซุ่มศึกษาไปล่วงหน้าหลายปีแล้ว ขนาดธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ยังออกมาสนับสนุนในการสร้าง CBDC และมองว่านี่คือ ‘ความจำเป็น’ ของธนาคารกลาง

 

ล่าสุด BIS ทำงานร่วมกับธนาคารกลางจาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของ CBDC รายงานข่าวคาดว่า สรุปผลการศึกษาน่าจะออกมาราวเดือนมิถุนายนปีนี้ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยวิเคราะห์ในเรื่องนี้ไว้ว่า น่าจะมี 2 แรงจูงใจหลักในการออก CBDC ของจีน คือ 1. ลดอิทธิพลดอลลาร์ 2. ควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ซึ่งการใช้เงินดิจิทัลที่มีทางการเป็นผู้ดูแลแทนที่เงินสด ก็เป็นหนึ่งวิธีช่วยจัดการปัญหาการฟอกเงินได้

 

เริ่มมีกระแสข่าว การทดสอบใช้งานหยวนดิจิทัลถี่ขึ้นเรื่อยๆ

 

พัฒนาการของ DC/EP เริ่มมีข่าวออกมาต่อเนื่อง ทั้งภาพหลุดของแอปพลิเคชันทดสอบหยวนดิจิทัล และเกิดการแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว ก่อนที่ทางการจีนจะออกมาบอกว่าเป็นแค่การทดสอบ ยังไม่ใช่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และต่อมาก็บอกว่าน่าจะได้ใช้ทันช่วงของโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2565

 

ล่าสุด มีข่าวว่า 19 ร้านอาหารยอดนิยมและร้านค้าปลีกจะทดสอบใช้หยวนดิจิทัล มีการตั้งข้อสังเกตว่าเทนเซ็นต์ และ แอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นใหญ่สุดในจีนก็น่าจะเข้าร่วม เช่นเดียวกับ เจดี ซูเปอร์มาร์เก็ต, สตาร์บัคส์, ซับเวย์ และแมคโดนัลด์ 

 

ก่อนหน้านั้นราว 1 สัปดาห์ก็มีข่าวว่า มีการทดสอบใช้งานหยวนดิจิทัลใน 4 เมือง และตามมาด้วยข่าวที่ว่าพนักงานเทศบาลเมืองซูโจว จะได้รับเงินอุดหนุนค่าเดินทางเป็นเงินหยวนดิจิทัลในเดือนพฤษภาคม

 

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า จีนคือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกรายถัดไป และรัสเซียน่าจะเข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมในข้อตกลงลับๆ เพื่อซื้อขายน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้นนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ‘เงินหยวนดิจิทัล’ จะเป็นส่วนสำคัญที่มีบทบาทต่อจีน ในการพัฒนาความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจ ด้าน Sergey Baloyan คอลัมนิสต์ กล่าวว่า “คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า วันนี้สกุลดอลลาร์ครองตำแหน่งสูงสุด แต่หยวน ดิจิทัลเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของจีนในการแข่งขันกับดอลลาร์ในระดับโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

 

หยวนดิจิทัล จะเปิดตัวใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อไร

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) ส่งสัญญาณในทำนองที่ว่า สกุลเงินดิจิทัลของพวกเขาน่าจะใช้ได้ราวกลางปี 2564 ซึ่งจะทันใช้ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2565 สื่อจีนรายงานข่าวนี้โดยอ้างถึง ‘บุคคลเกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ’ ของสถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลของ PBOC (แต่ว่าก็ยังไม่กำหนดเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการออกมาอยู่ดี)

 

ผลกระทบของหยวนดิจิทัล (DC/EP) ต่อประเทศไทย

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า พ่อค้าแม่ค้าในไทย หรือผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับคนจีนจะต้องศึกษาและเตรียมตัวในเรื่องนี้ เพราะหากหยวนดิจิทัลใช้กันอย่างแพร่หลาย พ่อค้าแม่ค้าที่จีนก็น่าจะต้องเปิดรับเงินหยวนดิจิทัลในการชำระค่าซื้อขายสินค้าและบริการกับต่างชาติ

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเปิดช่องทางนี้หากจะค้าขายกับจีน และโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เดิมได้เปิดรับชำระ Alipay อยู่แล้ว อนาคตอาจจะต้องเปิดรับ CBDC ของจีนด้วย 

 

ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลจีน ที่สั่งให้ผู้ให้บริการชำระเงินทุกราย เช่น Apple Pay, WeChat Pay และ Alipay จะต้องมีโทเค็น DC/EP บนแพลตฟอร์มบริการรับชำระเงินด้วย

 

มุมมองคนในวงการอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีไทย

 

วรพจน์ ธาราศิริสกุล CTO J Ventures (JVC) กล่าวว่า การมาของหยวนดิจิทัล หรือ Libra Facebook จะช่วยกระตุ้นตลาดคริปโตเคอร์เรนซีให้คึกคัก รวมถึงในประเทศไทยด้วย และเชื่อว่าในที่สุดแล้ว ไทยไม่สามารถฝืนกระแสคริปโตเคอร์เรนซีได้

 

ขณะนี้ทางแบงก์ชาติเองก็กำลังศึกษาสกุลเงินดิจิทัลอยู่ เพราะสกุลเงินดิจิทัลซึ่งมีเบื้องหลังอย่างระบบบล็อกเชนนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่า ให้ประสิทธิภาพที่มากกว่าการให้บริการทางการเงินในแบบเดิม ซึ่งมันดีต่อทั้งผู้ใช้งานและดีต่อผู้ควบคุมนโยบาย

 

“การมาของหยวนดิจิทัล หรือจะเป็น Libra จะช่วยกระตุ้นตลาดคริปโตเคอร์เรนซีให้คึกคัก รวมถึงคริปโตประเภทสเตเบิลคอยน์ และเชื่อว่าในไทยเองก็น่าจะมีภาคเอกชนทำการศึกษาสเตเบิลคอยน์ไว้อยู่ เพียงแต่อาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเร่งเปิดตัว” วรพจน์ กล่าว

 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กรุ๊ปซีอีโอกลุ่มบิทคับ (Bitkub) กล่าวว่า หยวนดิจิทัล หรือ Libra ใครมาก่อนหรือหลังก็ดีต่อโลกทั้งนั้น เพราะเทรนด์ของโลกมาทางดิจิทัลเคอร์เรนซี และเชื่อว่าทั้งสองประเทศคงไม่ยอมลดราวาศอกอย่างแน่นอน หากใครออกเหรียญมาก่อนอีกประเทศก็ต้องตาม

 

สกุลเงินดิจิทัลของจีนเป็นรูปแบบ Retail คือให้ประชาชนในประเทศใช้งาน อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงแรกจะเน้นการใช้งานแค่ในประเทศ เชื่อว่าในระยะถัดไปหยวนดิจิทัลน่าจะกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมทั้งในไทย เพราะประเทศจีนต้องการให้เงินหยวนเป็น Global Currency และต้องการแข่งกับสหรัฐฯ เพื่อชิงความเป็นมหาอำนาจโลก

 

เงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลกลางของโลกอยู่ แต่ถ้าหากจีนเร่งผลักดันดิจิทัลเคอร์เรนซีออกมาก่อนได้สำเร็จ แถมยังใช้งานได้สะดวก ผู้คนก็อาจจะหันมานิยมใช้เงินหยวน จนในที่สุดอาจจะทำให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินกลางของโลกแทนดอลลาร์ก็ได้

 

“ส่วนตัวผมเชียร์ทั้งสองเลย ทั้งหยวนดิจิทัลและ Libra ไม่ว่าของใครออกมาก่อน มันก็ดีต่อโลกอยู่แล้ว” จิรายุส กล่าว

 

โดยสรุป หยวนดิจิทัล หรือ Libra สกุลไหนจะเปิดตัวก่อนกันไม่มีใครทราบกำหนดการที่แน่ชัด แต่ศึกในการแย่งชิงสถานะของ Global Currency หรือสกุลเงินที่ใช้งานได้ทั่วโลกของสองยักษ์ใหญ่นี้จะทำให้ทุกคนต้องตื่นตัว เพื่อให้ทันกับโลกของคริปโตเคอร์เรนซี (อย่างน้อยๆ ก็ไม่ให้ใครมาหลอกได้ง่ายๆ พวกมิจฉาชีพมีเยอะ) ทั้งสองยี่ห้อนี้จะมาในรูปแบบของสเตเบิลคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลที่มูลค่าผันผวนต่ำมากๆ ไม่สามารถใช้เก็งกำไรได้เหมือนคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป มันจึงมีความคล้ายเงินปกติที่เราใช้สอย แถมมีสินทรัพย์หนุนหลังคือเงินจริงๆ เพียงแต่อยู่ในรูปของดิจิทัล

 

รายงาน: ชัชชญา อังคุลี 

เรียบเรียง: ชัชชญา อังคุลี 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X