×

ประชันวิสัยทัศน์ ‘คลื่นลูกใหม่’ การเมืองไทย

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2024
  • LOADING...

เปิดวิสัยทัศน์ของ ‘ผู้นำรุ่นใหม่’ จากแต่ละขั้วอำนาจของการเมืองไทย ท่ามกลางความท้าทายนานัปการของโลกยุคใหม่ ฝ่ายรัฐบาลจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ทันความเปลี่ยนแปลง และฝ่ายค้านจะวางบทบาทของตนเองอย่างไรให้ประชาชนยังเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย

 

ต่อไปนี้คือคำถาม-คำตอบบางส่วน จากเวที Young Leaders Dialogue หัวข้อ The Next Wave Politics: New Leaders, New Vision คลื่นลูกใหม่การเมืองไทย ในมือผู้นำแห่งอนาคต

 

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินรายการโดย ชยพล มาลานิยม Content Creator THE STANDARD

 

Q: โจทย์การเมืองไทยในมุมมองคนรุ่นใหม่

 

เผ่าภูมิ: มิติแรกคือเรื่องวิธีมองกฎหมาย ซึ่งภาคราชการกับภาคการเมืองมองเห็นไม่ตรงกัน กล่าวคือ ภาคราชการมักยึดตามตัวบท เดินตามกฎหมายแบบเคร่งครัด และทำตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ขณะที่ภาคการเมืองจะมองต่างออกไป คือมองภาพกว้างมากขึ้น อะไรที่กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามแปลว่าทำได้ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

มิติถัดมาคือปัญหาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตต่ำ ขณะที่ศักยภาพการพัฒนาก็ลดลงเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปริมาณและคุณภาพของแรงงาน (Workforce) ที่เป็นตัวขับเคลื่อน วิธีแก้เบื้องต้นคือใช้กลไกภาษี เรื่องสภาพคล่องก็สำคัญ เน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

 

ซาบีดา: โจทย์สำคัญคือการทำงานโดยตั้งต้นจากปัญหาของประชาชน สิ่งที่นักการเมืองต้องทำคือการลงจากหอคอย และลงพื้นที่เพื่อสัมผัสและรับฟังปัญหาจากประชาชน อีกโจทย์คือการประสานการทำงานระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในการทำงานการเมือง โดยมีหัวใจคือการทำงานร่วมกัน

 

ณัฐพงษ์: พรรคประชาชนมีจุดยืนที่ชัดเจนด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนนิรโทษกรรมคดีการเมือง เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะประเทศปกครองด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่ามีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง

 

ดังนั้นกระดุมเม็ดแรกคือการจัดระบบระเบียบอำนาจรัฐให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ตรวจสอบได้ ต้องทำให้รัฐเป็นสถาบันที่โอบรับความหลากหลาย ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกได้เรื่องอื่นๆ จะตามมา โดยเฉพาะความรุดหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

Q: เมื่อคนเห็นต่าง สร้างทางออกร่วมกันอย่างไร? 

 

ซาบีดา: ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ คนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่ศัตรูเรา เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ สิ่งสำคัญคือการยอมรับและให้เกียรติกัน โดย 3 ภาคส่วนในสังคมที่สามารถร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมได้คือ นักการเมือง ข้าราชการ และสื่อมวลชน ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องมาช่วยกันผลักดันสังคม

 

ทั้งนี้ ปมแรกที่ต้องแก้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน และการยกระดับรายได้ของประชาชน

 

เผ่าภูมิ: ในมุมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มองว่าแต่ละพรรคมี DNA ต่างกัน และ DNA นั้นย่อมสัมพันธ์กับการบริหาร

 

สำหรับพรรคเพื่อไทย DNA คือการโฟกัสจากรากหญ้า เป้าหมายคือขนาดเศรษฐกิจหรือ ‘เค้ก’ ทั้งก้อนต้องใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันต้องถูกแบ่งให้ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้นด้วย นี่คือนโยบายที่ตอบโจทย์ DNA แบบพรรคเพื่อไทย

 

ณัฐพงษ์: ในแง่ของการยกระดับเศรษฐกิจและการลงทุน คิดว่า ‘รัฐ’ มีบทบาทในการถือธงนำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำเองหรือลงทุนเองทุกอย่าง

 

หัวใจสำคัญคืออย่ามองกลุ่มทุนหรือภาคเอกชนเป็นศัตรู แต่ให้มองว่าสามารถร่วมมือกัน ใช้เงินจากภาคเอกชนร่วมทุนกันได้ ไม่จำเป็นต้องใช้แค่งบประมาณรัฐเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ‘Mega Project Based’ ที่พรรคประชาชนพยายามนำเสนอ

 

Q: หนึ่งข้อที่นักการเมืองรุ่นใหม่ต้อง ‘กล้า’ เปลี่ยน

 

เผ่าภูมิ: กล้าเปลี่ยนวิธีมองกฎหมาย โดยเฉพาะภาคราชการ อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม แปลว่านั่นคือสิ่งที่ทำได้ นี่ไม่ใช่ช่องว่างหรือช่องโหว่ แต่คือการมองกฎหมายในมุมกว้าง ซึ่งสามารถช่วยปลดล็อกได้อีกหลายเรื่อง

 

ซาบีดา: กล้าออกมาจากกรอบความคิดของตัวเอง กล้าสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องประชาชน กล้าลดความสำคัญของตัวเอง และมองความสำคัญของคนรอบข้างและสังคมมากขึ้น 

 

ณัฐพงษ์: กล้าลงโทษคนผิด เช่น นักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน นักการเมืองที่เคยมีส่วนร่วมกับการปฏิวัติ อย่ายอมทนกับวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X