×

‘เด็กก่อเหตุร้ายในวันที่กฎหมายไทยอ่อนแอ’ เสียงสะท้อนจากตำรวจนักสืบ

01.02.2024
  • LOADING...
เด็กก่อเหตุร้าย

จากเหตุการณ์ยิงภายในศูนย์การค้ากลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 สู่คดีฆาตกรรมหญิงสติไม่สมประกอบที่จังหวัดสระแก้ว วันที่ 10 มกราคม 2567 และล่าสุดการวางแผนทำร้ายเพื่อนร่วมชั้นจนถึงแก่ชีวิตที่โรงเรียนในเขตสวนหลวง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567

 

เป็นเวลาไม่ถึง 4 เดือน ที่สังคมไทยได้เห็นภาพความรุนแรงและโหดร้าย สะท้อนผ่านผู้ก่อเหตุที่มีสถานะเป็นเพียงเด็กและเยาวชน

 

THE STANDARD พูดคุยกับ พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะตำรวจนักสืบ ที่ทำคดีสำคัญอย่างเหตุเยาวชนยิงกลางศูนย์การค้า ที่มาสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายในมุมผู้รักษากฎหมาย

 

เด็กฉลาดมากกว่าที่เราคิด

“เด็กที่กระทำผิด ในความเป็นจริงเขามีความรู้ รู้ว่าก่อเหตุรุนแรงขนาดไหน พวกเขาจะได้รับโทษในขั้นใด รู้ว่าเขามีสิทธิ มีกฎหมายข้อใดคุ้มครองบ้าง”

 

พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าวถึงภาพสะท้อนความรุนแรงผ่านคดีที่ผู้ทำผิดเป็นเด็กและเยาวชนว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป โลกเรามีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้นซึ่งเท่ากับว่าโลกไร้พรมแดน หรือที่เขาเรียกว่าโลกาภิวัตน์ 

 

วันนี้เด็กเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ไวมาก การกระทำความผิดต่างๆ เราจะสังเกตได้ว่าในวันนี้ผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงและโหดเหี้ยมเป็นเพียงเด็กเท่านั้น ไม่ได้โตถึงขั้นเยาวชน

 

ถ้าวันนี้เราพูดถึงความต้องการที่อยากให้สังคมสงบเรียบร้อยเราก็ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าตัวกฎหมายต้องมีการแก้ไข

 

“กฎหมายบ้านเราล้าสมัย โบราณ” พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าว

 

ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขอายุของการรับโทษ หรือต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมาย เช่น หากบุคคลนี้กระทำความผิดที่โหดเหี้ยม เขาไม่ควรถูกนับว่าเป็นเด็กหรือว่าเยาวชนอีกต่อไป

 

เพราะความละเอียดอ่อนของกฎหมาย

เมื่อถามว่า ผู้ต้องหาในคดีสำคัญที่ผ่านมามีอายุเพียง 14-15 ปีเท่านั้นเป็นเรื่องน่าแปลกใจหรือไม่ พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้แปลกใจ เพราะปัจจุบันคดีที่ดำเนินการโดยชุดสืบสวนของตนเจอลักษณะผู้ก่อเหตุอายุประมาณนี้มาโดยตลอด และด้วยเหตุที่ผู้กระทำผิดมีสถานะเป็นเพียงเด็กหรือเยาวชน ทำให้หลักปฏิบัติในวิชาการสืบสวนผิดเพี้ยนไป

 

พล.ต.ต. ธีรเดช ขยายความว่า หลักการสืบสวนเพื่อขยายผลของคดี ขั้นตอนปฏิบัติจะต้องมีลักษณะแบบตัวต่อตัว หรือ Face to Face จำนวนผู้ที่อยู่ในขั้นตอนสอบสวนควรมีเพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น ในการคุยกับผู้ต้องสงสัยหรือตัวของอาชญากร

 

แต่สำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดมีสถานะเป็นเด็กหรือเยาวชน กฎหมายมีข้อบัญญัติระบุไว้ว่าจะต้องให้สหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมด้วยทุกกระบวนการ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ขัดต่อหลักการสืบสวน

 

“การที่มีคนมากในการสอบข้อเท็จจริง มันเป็นไปได้ยากที่ตำรวจจะเข้าถึงแก่นหรือหัวหน้าองค์กร หัวหน้าแก๊ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสืบสวนถูกตัดตอนไปเพราะข้อจำกัด” พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าว

 

ดังนั้นผลที่ตามมาคือ ตำรวจสาวไม่ได้ถึงต้นตอ ตัวหัวหน้าแก๊งก็สามารถสร้างสมาชิกเด็กในองค์กรรุ่นใหม่ๆ ของตัวเองให้ขึ้นมากระทำผิดต่อได้ ตำรวจวันนี้ไม่สามารถปราบปรามแก๊งผู้กระทำผิดได้อย่างหมดจด

 

พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า ในเรื่องนี้สิ่งที่สังคมต้องทำคือ สร้างหรือปรับตัวกฎหมายให้ทันสมัย แต่ขณะเดียวกันตัวของผู้ปฏิบัติงานอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องทำงานภายใต้กฎหมายให้ได้

 

มีคำพูดหนึ่งที่เราใช้มาตั้งแต่อดีตและทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้เสมอคือ การเป็นตำรวจเหมือนเอาขาข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในห้องขังแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีตำรวจคนไหนที่อยากถูกดำเนินคดีจากการทำงาน เพราะนอกจากตัวของเขาก็ยังมีครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง

 

ฉะนั้นกฎหมายจะต้องแข็งแรงเพื่อที่จะลงโทษคนผิดให้ได้ และอำนวยความสะดวกในการทำงานและปกป้องตัวของตำรวจเองด้วย

 

กฎหมายเด็กที่บังคับใช้วันนี้

ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้บัญญัติไว้ว่า ‘เด็ก’ คือบุคคลที่อายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ส่วน ‘เยาวชน’ คือบุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ 

 

ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีการบัญญัติเกี่ยวกับความผิดของเด็กและเยาวชนแบ่งตามอายุได้ดังนี้

 

  • มาตรา 73 ผู้ใดอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
  • มาตรา 74 ผู้ใดอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ว่ากล่าวตักเตือน เรียกผู้ปกครองมาตักเตือน วางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองไม่ให้เด็กก่อเหตุร้าย เวลาไม่เกิน 3 ปี ชำระไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท หรือศาลส่งตัวเด็กไปสถานศึกษา-บำบัด-แนะนำทางจิต ไม่ให้เกินวันที่เด็กจะอายุครบ 18 ปี
  • มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าควรลงโทษ ให้ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง
  • มาตรา 76 ผู้ใดอายุกว่า 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษ จะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งได้

 

อย่างไรก็ตามการกระทำผิดของตัวเด็กหรือเยาวชนกฎหมายได้มีการบัญญัติให้ผู้ปกครอง บิดามารดาต้องรับความผิดทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย โดยมีการระบุไว้ในมาตรา 429 ว่า บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถ เพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

 

ปัจจุบันแนวคิดการปรับเปลี่ยนเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิดเพื่อนำไปสู่บทลงโทษที่สมควรยังอยู่ระหว่างการศึกษาหาความเหมาะสมอยู่ ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เสียงสะท้อนของผู้บังคับใช้กฎหมาย จะช่วยเป็นอีกแรงผลักดันให้การปรับเปลี่ยนเกณฑ์นี้หาจุดพอดีได้ในเร็ววัน เพราะท้ายสุดไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่อยากต้องมานั่งถอดบทเรียนจากความสูญเสีย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising