×

เด็กและวัยรุ่นจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่ ต่างประเทศฉีดยี่ห้ออะไรบ้าง

08.09.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • วัคซีนโควิดมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น วัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA มีข้อมูลการวิจัยถึงระยะที่ 3 และได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายได้รับการอนุมัติในจีน ชิลี (สำหรับ Sinovac) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สำหรับ Sinopharm) ถึงแม้ข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อจะยังเป็นการวิจัยระยะที่ 1-2
  • สำหรับไทยอนุมัติ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดในวัยรุ่นอายุ 16-17 ปีทุกคน ส่วนอายุ 12-15 ปีในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง

หมายเหตุ: ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 20 กันยายน 2564

 

วัคซีนโควิดเกือบทั้งหมดเริ่มวิจัยในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่เริ่มวิจัยในผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จากนั้นถึงวิจัยในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ปัจจุบันหลายประเทศฉีดวัคซีนจนครอบคลุมผู้ใหญ่ในประเทศแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60-65 ปีขึ้นไป ก็เริ่มถึงคิวเด็กและวัยรุ่นว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ และถ้าต้องฉีดควรฉีดยี่ห้ออะไร 

 

การพิจารณาความจำเป็นของการฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กและวัยรุ่นเหมือนกับการพิจารณาในผู้ใหญ่นั่นคือ การชั่ง ‘ประโยชน์-ความเสี่ยง’ ที่จะได้รับ โดยอาจพิจารณาทั้งประโยชน์โดยตรงจากการป้องกันความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน และประโยชน์ทางอ้อม เช่น การเปิดโรงเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการและพัฒนาการทางสังคมด้วย ส่วนความเสี่ยงคือผลข้างเคียงของวัคซีน

 

ความรุนแรงของการติดเชื้อในเด็ก

 

เด็กสามารถติดเชื้อโควิดได้ แต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อยและโอกาสเสียชีวิตต่ำมาก ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังของสหภาพยุโรประหว่างมกราคม-มิถุนายน 2564 พบว่าผู้ติดเชื้อเด็กที่นอนโรงพยาบาลต่ำกว่า 1% และอัตราป่วยเสียชีวิตประมาณ 0.01% โดยเด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบประสาท โรคหัวใจและปอด โดยเฉพาะโรคหอบหืด รวมถึงภาวะอ้วน 

 

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2564 พบว่าเด็กและวัยรุ่นมีอัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยโควิดประมาณ 50 รายต่อ 1 แสนคน โดยกลุ่มอายุที่มีอัตราการนอนโรงพยาบาลสูงสุดคือ 0-4 ปี (70 ราย) และวัยรุ่น 12-17 ปี (60 ราย) และมีอัตราการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจากการวิเคราะห์เบื้องต้นของกองระบาดวิทยาในการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม 2564 กลุ่มอายุ 0-11 ปีมีอัตราป่วยประมาณ 1,500 รายต่อ 1 แสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มอายุ 18-40 ปี (1,770 ราย) ในขณะที่เด็กอายุ 12-17 ปีอัตราป่วยน้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง (860 ราย) แต่อัตราป่วยเสียชีวิตต่ำกว่ามาก โดย

 

  • เด็กอายุ 0-11 ปี มีอัตราป่วยเสียชีวิต 0.003%
  • วัยรุ่น 12-17 ปี มีอัตราป่วยเสียชีวิต 0.026%
  • เทียบกับผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยเสียชีวิตสูงสุดเท่ากับ 12.8%

 

ในการระบาดระลอกนี้มีเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิตทั้งหมด 15 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2564) อายุมัธยฐานเท่ากับ 14 ปี โดยอายุน้อยที่สุด 2 เดือน และมากที่สุด 17 ปี โรคประจำตัวที่พบได้แก่ มะเร็ง (20%) สมองพิการ (Cerebral palsy, 20%) ลมชัก (20%) และเบาหวาน (13%) ดังนั้นจะเห็นว่าเด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงต่ำต่ออาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว

 

อย่างไรก็ตามเด็กพบภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ ‘กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก’ หรือ MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children หรือ PIMS-TS) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือด ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา หรือทางเดินอาหารหลังจากติดเชื้อโควิด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย (น้อยกว่า 1%)

 

สำหรับแหล่งของการติดเชื้อ เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากภายในครอบครัว โดยผู้ใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อรายแรก (Index Case) แต่เด็กสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่นได้ เพราะไวรัสที่ตรวจพบในโพรงจมูกมีปริมาณใกล้เคียงหรือมากกว่าผู้ใหญ่ จึงมีความกังวลว่าเด็กจะเป็นพาหะนำเชื้อไปติดให้กับคนอื่นในบ้าน นอกจากนี้ยังมีรายงานพบการระบาดในโรงเรียน ซึ่งอาจติดเชื้อมาจากครูหรือนักเรียนด้วยกันเองก็ได้

 

วัคซีนที่มีการศึกษาในเด็ก

 

วัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นวัคซีนยี่ห้อแรกที่ได้รับอนุมัติในกรณีฉุกเฉินให้ใช้ในผู้มีอายุมากกว่า 12 ปี โดยได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยมีผลการวิจัยระยะที่ 3 ซึ่งศึกษาในอาสาสมัครอายุ 12-15 ปี จำนวน 2,260 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine (NEJM) เมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่า

 

  • ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
  • ระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสสูงเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 16-25 ปี
  • ประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วย 100%

 

สำหรับผลข้างเคียงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่พบหลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข็มที่ 2 ภายใน 1 สัปดาห์ พบในกลุ่มอายุน้อย (12-30 ปี) และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังอาการหลังจากได้รับวัคซีนของ CDC พบการรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีอัตราการรายงานหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ดังนี้

 

  • กลุ่มอายุ 12-15 ปี พบ 20.9 รายต่อ 1 ล้านโดส 
  • กลุ่มอายุ 16-17 ปี พบ 34.0 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • กลุ่มอายุ 18-24 ปี พบ 18.5 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • กลุ่มอายุ 25-29 ปี พบ 7.2 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • กลุ่มอายุ 30-39 ปี พบ 3.4 รายต่อ 1 ล้านโดส

 

แต่เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ในการป้องกันโรคกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากวัคซีนแล้ว คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสหรัฐฯ (ACIP) เห็นว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในทุกกลุ่มอายุ จึงยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน Pfizer ตามเกณฑ์อายุเดิม และจะมีการติดตามผลข้างเคียงรุนแรงต่อไป ซึ่งอาจมีการประเมินความเสี่ยงใหม่หากมีข้อมูลเพิ่มเติม

 

ปัจจุบันบริษัท Pfizer อยู่ระหว่างการวิจัยความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มอายุ 6 เดือนถึง 11 ปี ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อายุ 5-11 ปี (คาดว่าจะยื่นขออนุมัติในกรณีฉุกเฉินจาก FDA ภายในเดือนกันยายนนี้), 2-5 ปี และ 6 เดือนถึง 2 ปี (คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน)

 

วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนยี่ห้อที่สองที่ได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินให้ใช้ในผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ต่อจากวัคซีน Pfizer ที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยมีผลการวิจัยระยะที่ 3 ซึ่งศึกษาในอาสาสมัคร 3,732 คน ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เมื่อเดือนสิงหาคม พบว่า

 

  • ประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วย 100% 
  • ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ 39.2% 
  • ผลข้างเคียงไม่รุนแรงและหายได้เองภายในไม่กี่วัน 

 

แต่เนื่องจากจำนวนอาสาสมัครวัยรุ่นที่น้อย ทำให้งานวิจัยนี้ยังไม่สามารถตรวจพบผลข้างเคียงใหม่ที่พบได้น้อย หรือประมาณความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ทราบแล้วได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อย่างไรก็ตามภาพรวมความปลอดภัยทั้งหมดที่ศึกษาในผู้ใหญ่ได้รับการยืนยันในวัยรุ่น และเห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่า โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากอาการรุนแรง

 

ล่าสุดวัคซีน Moderna ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้มีอายุ 12-17 ปีในแคนาดาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ตามมาด้วยออสเตรเลียเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

 

วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนยี่ห้อที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในวัยรุ่นในชิลีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ต่อจากวัคซีน Pfizer แต่ในครั้งนี้คณะกรรมการเสียงข้างมากอนุมัติให้ใช้ในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ในขณะที่เสียงข้างน้อยเห็นว่าควรอนุมัติในวัยรุ่น 12 ปีขึ้นไป เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ การอนุมัติในครั้งนี้จะทำให้ชิลีเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุดประเทศหนึ่ง

 

วัคซีนนี้มีข้อมูลผลการวิจัยระยะที่ 1-2 ในเด็กและวัยรุ่น 552 คน อายุระหว่าง 3-17 ปี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Infectious Diseases เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบว่าวัคซีนขนาด 3.0 ไมโครกรัมสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้สูงกว่าขนาด 1.5 ไมโครกรัม และมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

 

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน จีนได้อนุมัติวัคซีน Sinovac ในกรณีฉุกเฉินให้ใช้ในผู้มีอายุ 3-17 ปี แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาเพิ่มเติม ในขณะที่องค์การกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของบราซิล (Anvisa) ยังไม่อนุมัติการใช้วัคซีน Sinovac ในกลุ่มอายุ 3-17 ปีตามที่สถาบัน Butantan เสนอ เพราะข้อมูลที่ยื่นประกอบยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าวัคซีนมีประสิทธิผลและความปลอดภัยในกลุ่มอายุดังกล่าว

 

วัคซีน Sinopharm เป็นวัคซีนยี่ห้อที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในเด็กในจีนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ต่อจากวัคซีน Sinovac ซึ่งวัคซีนทั้งสองสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป โดยบริษัท Sinopharm กล่าวในช่วงที่ได้รับการอนุมัติว่าจากงานวิจัยระยะที่ 1-2 ในมณฑลเหอหนานพบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สอง และมีความปลอดภัย 

 

นอกจากนี้บริษัทยังได้ดำเนินการวิจัยในอาสาสมัคร 900 คน อายุระหว่าง 3-17 ปี ในเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 เพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีน ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 3-17 ปี โดยชี้แจงว่าการตัดสินใจนี้มาจากการวิจัยทางคลินิกและการประเมินอย่างรอบคอบ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียด

 

คำแนะนำการฉีดวัคซีนในประเทศไทย

 

ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินในไทย มี 2 ยี่ห้อที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองในวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป คือ วัคซีน Pfizer และ Moderna (เมื่อวันที่ 16 กันยายน) โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ว่า

 

  • แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดในเด็กและวัยรุ่นอายุ 16-น้อยกว่า 18 ปีทุกคน หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนมากเพียงพอ
  • สำหรับเด็กอายุ 12-น้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดในกรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งมีโรคประจำตัว ได้แก่ 1. โรคอ้วน* 2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืด 3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4. โรคไตวายเรื้อรัง 5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6. โรคเบาหวาน 7. กลุ่มโรคพันธุกรรมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

*โรคอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี, น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี, น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น

 

นอกจากนี้ยังแนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ภายหลังจากการฉีดวัดซีนโควิด เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคชีนชนิด mRNA แต่มีโอกาสต่ำมาก หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืด เป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์

 

วันเดียวกัน (7 กันยายน) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประชาสัมพันธ์โครงการ VACC 2 School ฉีดวัคซีนบริจาค Sinopharm ให้กับเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-18 ปี ผ่านการเปิดรับสมัครทางสถานศึกษา ทางราชวิทยาลัยฯ ควรให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง ส่วน อย. ชี้แจงว่าบริษัทที่นำเข้าเพิ่งยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 กันยายน

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ อย. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน มีมติยัง ‘ไม่อนุมัติ’ วัคซีน Sinopharm ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งต้องศึกษาในการวิจัยระยะที่ 3 จึงขอให้บริษัทยื่นข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลขนาดวัคซีนในเด็กเล็ก ซึ่งต้องใช้ปริมาณต่างจากผู้ใหญ่ด้วย

 

โดยสรุปวัคซีนโควิดมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น วัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA มีข้อมูลการวิจัยถึงระยะที่ 3 และได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายได้รับการอนุมัติในจีน ชิลี (สำหรับ Sinovac) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สำหรับ Sinopharm) ถึงแม้ข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อจะยังเป็นการวิจัยระยะที่ 1-2

 

สำหรับไทยอนุมัติ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดในวัยรุ่นอายุ 16-17 ปีทุกคน ส่วนอายุ 12-15 ปี เฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จึงได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามหากมีข้อมูลจากงานวิจัยออกมามากขึ้น การอนุมัติวัคซีนและคำแนะนำก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising