×

You Are What You Watch ภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราสุขภาพดีได้ทันตาเห็น!

24.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ไม่มีอะไรจะเป็นแรงบันดาลใจได้เท่ากับการเห็นคนอ้วนที่ไม่เคยใส่ใจสุขภาพลุกมาเปลี่ยนชีวิตตัวเอง
  • ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดบอกไว้ว่า “⅓ ของผู้หญิง และ ¼ ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกากำลังลดน้ำหนัก”
  • แรงกระทบของ Super Size Me ทำให้เกิดภาพยนตร์ในประเด็นเดียวกันอีกหลายเรื่องตามมา เช่น Food, Inc. สารคดีของผู้กำกับ โรเบิร์ต เคนเนอร์ ที่เปิดโปงอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐอเมริกา

     ในช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าเทรนด์สุขภาพจะค่อยๆ สะสมคลื่นจนกลายลูกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งมีจุดเริ่มต้นจากภาพยนตร์สารคดี Super Size Me (2004) ที่ มอร์แกน สเปอร์ล็อก ทดลองกินอาหารฟาสต์ฟู้ดในการดำรงชีวิตทุกมื้อตลอดระยะเวลา 30 วัน ซึ่งผลของมันทำให้น้ำหนักตัวเขาพุ่งขึ้นราว 11 กิโลกรัม และคอเรสเตอรอลสูงขึ้นจาก 165 ไปสู่ 230 ผลที่เกิดขึ้นจริงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นไวรัลที่ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น ส่วนตัวฟาสต์ฟู้ดร้านดังก็ถูกผลกระทบตามมาหลายอย่าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนให้มีเมนูเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

     แรงกระทบของ Super Size Me ทำให้เกิดภาพยนตร์ในประเด็นเดียวกันอีกหลายเรื่องตามมา เช่น Food, Inc. (2008) สารคดีของผู้กำกับ โรเบิร์ต เคนเนอร์ ที่เปิดโปงอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นกันชัดๆ ว่าผู้ผลิตสนใจปริมาณมากกว่าคุณค่า และสนใจกำไรมากกว่าความปลอดภัยในอาหารที่ผู้คนกินเข้าไป

     เรื่องของสุขภาพที่ดีใครๆ ก็คิดได้ สนใจได้ แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจมันได้จริงๆ ก็คือการได้รับรู้ข้อมูล รู้เหตุและผลที่จะเกิดกับร่างกายเราเสียก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือการดูภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสุขภาพที่ผ่านการค้นหาข้อมูล ทดลอง ทดสอบมาแล้วให้เห็น และนี่คือภาพยนตร์ในช่วงไม่กี่ปีนี้ที่เราอยากแนะนำเป็นแรงบันดาลใจ เพียงแค่ได้ดูก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดีแล้ว

 

 

Hungry for Change (2012)

     เจมส์ โคลฮอน และลอเรนทีน เท็น บอสช์ ทั้งคู่เป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการอาหารที่ผันตัวมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยทำสารคดีสะท้านวงการอาหารในชื่อ Food Matters (2008) มาแล้ว และผ่านมาอีกไม่กี่ปี พวกเขาก็สร้าง Hungry for Change สารคดีว่าด้วยการลดน้ำหนักที่ย้อนแย้งกับอุตสาหกรรมอาหารยุคบริโภคนิยม การดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้เราไม่ตกหลุมพรางการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี รวมถึงรู้จักเลือกบริโภคเพื่อร่างกายและสุขภาพที่ดี

     สารคดีเรื่องนี้ใช้การสัมภาษณ์มาตัดสลับ โดยมีทั้งผู้เขียนหนังสือสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรม รวมถึงผู้เคยผ่านประสบการณ์ในการลดน้ำหนัก เปลี่ยนแปลงรูปร่างที่ความอ้วนและโรคภัยเคยเป็นฝันร้ายของพวกเขา

 

 

     เริ่มต้นฉากแรกด้วยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่พิมพ์ไว้ว่า “⅓ ของผู้หญิง และ ¼ ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกากำลังลดน้ำหนัก” จากนั้นก็เข้าสู่เส้นเรื่องของผู้หญิงวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เป็นภาพกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ลืมตาตื่นด้วยเสียงนาฬิกาปลุกและยังอยากให้เวลายืดยานไปไม่ยอมตื่น เราจะเห็นว่าขอบตาเธอช้ำ หน้าตาหมองคล้ำ แต่พยายามยิ้มปลอมให้ตัวเองในกระจก ขับรถไปทำงาน รถติด เครียด หยิบช็อกโกแลตขึ้นมากิน ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน

     ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ตัดสลับกับสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่มักมีคำคมๆ ฟังแล้วเจ็บๆ อย่าง “มนุษย์เราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งทำงานอยู่กับที่ตลอดเวลา” หรือ “ที่ต้องลดน้ำหนักตลอดเวลาก็เพราะเราเห็นในทุกๆ สื่อ ทีวี โฆษณา นิตยสาร มันเหมือนเป็นภาพซ้ำๆ ที่คอยบอกเราว่าต้องรูปร่างดี โดยที่หลายคนลืมไปว่ามันต้องเป็นสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก” ถ้ายังเจ็บไม่พอ ภาพยนตร์ยังแทรกข้อมูลตัวเลขประกอบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เช่น “⅔ ของคนที่ลดน้ำหนักกลับมีน้ำหนักตัวมากกว่าตอนเริ่มต้นเสียอีก”

 

 

 

You may like this: ในภาพยนตร์ Hungry for change ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือมหันตภัยน้ำตาล ซึ่งในโลกยุคหลังเราบริโภคน้ำตาลกันมากเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลแล้ว โดยปกติคนเราไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (25 กรัม) สำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 9 ช้อนชา (38 กรัม) สำหรับผู้ชาย แต่ทุกวันนี้คนอเมริกันกินน้ำตาลกันราว 22 ช้อนชา! และด้วยมหันตภัยความหวานนี้เองจึงมีสารคดีตามมาอีกสองเรื่องคือ Fed Up (2014) และ Sugar Coated (2015)

 

 

Cowspiracy: The Sustainability Secret (2014)

     Cowspiracy สร้างโดย คิป แอนเดอร์สัน และคีแกน คูห์น ผู้เปิดเผยความจริงของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกมนุษย์ ทั้งคู่ออกสืบค้นว่าเหตุใดองค์กรสิ่งแวดล้อมชั้นนำต่างๆ จึงไม่กล้าบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่า ก่อให้เกิดมลภาวะ และสูญเสียน้ำกินน้ำใช้ไปในปริมาณมหาศาล ทั้งยังมีส่วนให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้สัตว์บางชนิดสูญพันธ์ุ และทำให้มหาสมุทรบางส่วนเน่าเสีย นอกจากนี้พวกเขายังค้นคว้าว่าองค์กรส่ิงแวดล้อมอย่าง Greenpeace, Sierra Club, Surfrider Foundation, Rainforest Action Network มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

     ข้อมูลจากสารคดีบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีผลต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก 18% มากกว่ามลพิษจากพาหนะทั้งหมดที่รวมกันแล้วเพิ่มก๊าซเรือนกระจกเพียง 13%, อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ใช้น้ำราว 34 ล้านล้านแกลลอนต่อปี หรือเทียบเท่ากับคนธรรมดาใช้น้ำราว 5% แต่ปศุสัตว์ใช้น้ำราว 55% ต่อปี!

 

 

     “มนุษย์ขโมยโลกใบน้ีไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ” คือถ้อยความตอนหนึ่งที่ Cowspiracy บอกกับเราว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเห็นแก่ตัวเพื่อสร้างอาหารแล้วกินทิ้งกินขว้างอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งน่าสนใจทีเดียวที่มีหลายคนชีวิตเปลี่ยนหลังจากชมสารคดีเรื่องนี้ด้วยการเลือกเป็นวีแกน (Vegan) คือไม่กินและไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด

     Cowspiracy เป็นสารคดีที่ระดมทุนจากคราวฟันดิงผ่าน Indiegogo โดยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 117,092 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่ตั้งใจไว้กว่าสองเท่าตัว และเมื่อได้รับการสนับสนุนมากกว่าที่คิด สารคดีเรื่องนี้จึงมีทั้งเสียงภาษาอังกฤษ สเปน และเยอรมัน รวมถึงการทำซับไตเติลมากกว่า 10 ภาษา เพื่อส่งต่อข้อมูลไปสู่ประเทศอื่นๆ ของโลก และในภายหลัง Cowspiracy ได้รับการปรับใหม่โดยผู้อำนวยการผลิตอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และฉายไปทั่วโลกผ่านทาง Netflix ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ปี 2015 นอกจากนี้ทีมผู้สร้างก็ได้สร้างสารคดีเรื่องใหม่ในชื่อ What the Health (2017) ที่ยังเกาะติดเรื่องเนื้อสัตว์และแดรี่โปรดักต์ที่ได้จากสัตว์

 

 

 

From Fat to Finish Line (2015)

     ไม่มีอะไรจะเป็นแรงบันดาลใจได้เท่ากับการเห็นคนอ้วนที่ไม่เคยใส่ใจสุขภาพลุกมาเปลี่ยนชีวิตตัวเอง

     ตรงตามชื่อเรื่องทีเดียว From Fat to Finish Line เริ่มต้นจากภาพยนตร์สารคดีที่ติดตามชีวิตของ 12 คนอ้วน โดยพวกเขารวมทีมกันลดน้ำหนักเพื่อจะวิ่ง 200 ไมล์ในรายการ Ragnar Relay Race จากไมอามีไปยังคีย์เวสต์ สหรัฐอเมริกา เรื่องราวระหว่างการวิ่งที่ว่าพีกจนเรียกน้ำตาได้แล้ว ระหว่างทางจากน้ำหนัก 100 กว่าปอนด์มาถึงวันที่วิ่งพลิ้วในการแข่งขันต้องบอกว่ามันช่างเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า

     ทีมนักวิ่งคนเคยอ้วนอย่างเช่น เคธี คุณแม่จากรัฐมิชิแกน ที่ต้องการลดน้ำหนักเพื่อลูกชาย, ลินดา จากนิวยอร์ก ที่น้ำหนักตัวทำให้เธอเบื่อโลกและเป็นคุณยายที่ไม่น่ารักสำหรับหลานๆ, จอห์น จากแคลิฟอร์เนีย ที่มักเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่น แต่เขากลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และเจนนิเฟอร์ จากนิวเจอร์ซีย์ ที่กำลังต่อสู้กับเสียงและความคิดด้านลบภายในจิตใจ ฯลฯ

 

 

     จะเรียกว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เพิ่มเติมเป็นชุมชนเพื่อคนที่อยากมีรูปร่างและสุขภาพดีก็ว่าได้ เพราะทุกวันนี้มีทั้งเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มในเฟซบุ๊ก บล็อกรวมเรื่องราวให้กำลังใจและบอกเล่าว่ากว่าแต่ละคนจะมาถึงเส้นชัยของตัวเองนั้นต้องพยายามอย่างสุดแรงขนาดไหน หากอยากได้รับแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนักอย่างมีสุขภาพที่ดี กดเข้าไปอ่านได้ที่ www.fattofinish.com

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising