×

รู้จัก โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น กับความท้าทายกอบกู้เศรษฐกิจและการสร้างภาวะผู้นำในระยะยาว

16.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • โยชิฮิเดะ ซูงะ ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของ ชินโซ อาเบะ เพื่อสืบสานงานที่คั่งค้าง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจแบบ ‘อาเบะโนมิกส์’ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการคลัง การปฏิรูปโครงสร้าง และใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว
  • แม้การเลือกซูงะจะช่วยรักษาความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล แต่ช่วงเวลาที่เหลือเพียง 1 ปีในฐานะหัวหน้าพรรค LDP อาจทำให้เขามีข้อจำกัดในการพิสูจน์ผลงาน ขณะที่ซูงะอาจตัดสินใจชิงยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมือง และกรุยทางสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของเขาต่อไป  

หลัง ชินโซ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างกะทันหันด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ชื่อของ โยชิฮิเดะ ซูงะ ปรากฏตามสื่อในฐานะตัวเต็งแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก (LDP) มาตลอด โดยเขาถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของอาเบะ เพื่อสืบสานงานที่คั่งค้าง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจแบบ ‘อาเบะโนมิกส์’ ซึ่งเป็นนโยบายระดับ ‘ซิกเนเจอร์’ ของนายกฯ คนก่อน

 

หลายคนอาจยังไม่รู้จักว่า ‘โยชิฮิเดะ ซูงะ’ เป็นใคร มาจากไหน แต่คนที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นมาตลอดอาจคุ้นหน้าเขาเป็นอย่างดี เพราะด้วยตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขาทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาลเวลามีประกาศสำคัญต่างๆ และในการประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ซูงะคนนี้เอง ที่เป็นคนชูกรอบป้ายตัวอักษรคันจิ ‘令和’ อันเป็นการเผยชื่อรัชศกใหม่ ‘เรวะ’ อย่างเป็นทางการ 

 

 

จากลูกชาวไร่สตรอว์เบอร์รี สู่บังเหียนผู้นำประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก

ซูงะเกิดเมื่อปี 1948 ในจังหวัดอาคิตะ ทางเหนือของเกาะฮอนชู เป็นบุตรของเกษตรกรสวนสตรอว์เบอร์รี เขายัายไปอยู่กรุงโตเกียวหลังจบการศึกษาระดับมัธยม ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับนิติศาสตร์บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยโฮเซในกรุงโตเกียวเมื่อปี 1973

 

ซูงะตัดสินใจลงเล่นการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขต 2 จังหวัดคานางาวะในปี 1996 จากนั้นเขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยระหว่างปี 2006-2007 เขานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (ช่วงที่อาเบะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบแรกก่อนลาออกจากตำแหน่งในปี 2007 เพราะปัญหาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่อาเบะตัดสินใจลาออกรอบที่ 2 ในปี 2020)

 

หลังอาเบะก้าวลงจากตำแหน่ง พรรค LDP ได้เลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งก็เป็นซูงะที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดแบบไม่มีพลิกล็อก จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรแห่งสภาไดเอตแห่งชาติหรือรัฐสภาญี่ปุ่น ได้ลงมติรับรองซูงะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 99 ในวันที่ 16 กันยายน

 

ประสบการณ์ทำงานในรัฐบาลและความต่อเนื่องของนโยบาย คือ ‘จุดแข็ง’

ในวัย 71 ปี ซูงะจัดเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงไม่เป็นสองรองใคร โดยก่อนก้าวขึ้นเป็นประธานพรรค LDP เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของอาเบะมานาน 8 ปี (2012-2020) เป็นคนที่นำนโยบายต่างๆ ไปปฏิบัติ ซึ่งทำให้เขารู้งานบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ที่อาเบะพยายามผลักดันมาตลอด

 

หลายคนมองว่าข้อดีของการเลือกซูงะคือความต่อเนื่องของนโยบาย เพราะซูงะเปรียบเหมือน ‘มือขวา’ และพันธมิตรคนสำคัญของอาเบะ ซึ่งจะสร้างจุดแข็งด้านเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้รัฐบาลของซูงะ

 

หากเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ ซูงะจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค LDP ไปจนครบวาระของอาเบะในเดือนกันยายน 2021 จากนั้นจะมีการเลือกผู้นำคนใหม่ แต่เป็นที่คาดหมายว่าซูงะจะตัดสินใจยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดึงคะแนนเสียงและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองในการกรุยทางผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป

 

สานต่อ ‘อาเบะโนมิกส์’ กับความท้าทายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

การรับไม้ต่อจากอาเบะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบภาวะถดถอยจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ที่ฉุดดีมานด์การบริโภคและภาคการส่งออกลดฮวบอย่างหนัก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นหดตัวเป็นประวัติการณ์ถึง 28.1% ในไตรมาส 2 ปี 2020 ดังนั้นภารกิจสำคัญของซูงะคือการกอบกู้เศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย จากเดิมที่เศรษฐกิจโตช้าอยู่แล้วก่อนเกิดโรคระบาด 

 

ซูงะรับปากว่าเขาจะสานต่อนโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ซึ่งมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการคลัง เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างและใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืดที่ดำเนินมายาวนาน

 

นอกจากนี้เขายังรับปากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งเสริมการปฏิรูปภาคการเกษตร และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเซกเตอร์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ 

 

ส่วนวิกฤตโรคระบาดนั้น ซูงะให้คำมั่นว่าจะขยายขอบเขตการตรวจโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม และจัดหาวัคซีนแก่ประชาชนภายในครึ่งปีแรกของปี 2021

 

 

จุดอ่อนและโจทย์การรักษาเสียงสนับสนุนในพรรค LDP 

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า จุดอ่อนของซูงะคือการขาดประสบการณ์ด้านการทูตและการต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการวางนโยบายรับมือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนการรับมือมาตรการทางการค้าที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักตอบโต้ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่เสมอ

 

ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของซูงะจึงไม่น่าแตกต่างไปจากเดิมมากนัก โดยเขาอาจเดินตามรอยอาเบะเหมือนกับนโยบายเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในระยะยาวเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนโดยไม่ให้เกิดความตึงเครียดจนเกินไป

 

ด้วยเหตุนี้การสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯ จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายและโจทย์ยากของซูงะ

 

ในทางกลับกัน การที่ซูงะมีภาพลักษณ์เป็นผู้ช่วยคนสนิทของอาเบะ ประกอบกับการที่เขาประกาศจุดยืนสานต่อนโยบายหลายๆ อย่างของอาเบะนั้น ยังทำให้ซูงะดูไร้แนวทางการบริหารประเทศที่เด่นชัดตามแบบฉบับของเขาเอง โดยศาสตราจารย์โคอิจิ นากาโนะ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นกับ BBC ว่า ในช่วงที่ซูงะดำรงตำแหน่งหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขาขาดวิสัยทัศน์อย่างสิ้นเชิง

 

นอกจากนี้ในบทความข้อคิดเห็นของเฉินหยางที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าว CGTN ของทางการจีนยังมองด้วยว่า การเมืองภายในพรรค LDP จะเป็นอีกความท้าทายสำหรับซูงะ แม้ในปัจจุบันซูงะจะได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสมาชิกหลักๆ ภายในพรรค แต่เสียงสนับสนุนเหล่านี้มีเงื่อนไขและขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ ขณะที่ความเห็นของประชาชนก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้นเสียงสนับสนุนจึงมีโอกาสลดน้อยลงเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง 

 

อย่าลืมว่าซูงะมีเวลาเพียง 1 ปีในการพิสูจน์ผลงานก่อนที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค (หากเขาไม่ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เสียก่อน) ดังนั้นในสายตาของคนทั่วไปอาจมองว่าเขาเป็นเพียงนายกฯ รักษาการ หรืออยู่ในตำแหน่งช่วงสั้นๆ ดังนั้นช่วงเวลานี้เขาจะพบกับบททดสอบทางการเมืองครั้งใหญ่ในขณะที่เขาต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคต่อไป เพื่อกรุยทางสู่การเป็นผู้นำประเทศในระยะยาว  

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X