วันนี้ (24 กรกฎาคม) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน Facebook Yong Poovoravan เผยผลการทดสอบการให้วัคซีนแบบผสม โดยระบุว่า
การศึกษาวิจัยที่ศูนย์ทำอยู่ ปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับทรัพยากรที่เรามีอยู่และวัคซีนที่เรามี จะเห็นว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะมีภูมิต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 หน่วย การให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ระดับเฉลี่ย 100 หน่วย ถ้าให้วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ AZ (AstraZeneca) 2 เข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ที่ 900 หน่วย แต่ถ้าให้วัคซีนสลับกัน โดยให้วัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัลเวกเตอร์ที่ 3-4 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะสูงที่ 700 หน่วย ในขณะที่ให้วัคซีน mRNA 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นมาสูงถึงพัน 1,700 หน่วย
“แต่การให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ อย่างที่ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าทำอยู่ พบว่าภูมิต้านทานเฉลี่ยสูงขึ้นมา เฉลี่ยเป็น 10,000 หน่วย”
การวัดนี้เป็นระดับภูมิต้านทาน ขณะนี้กำลังทำการวิจัยแนวลึกถึงความสามารถในการขัดขวางไวรัสในแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์เดลตาด้วย จากข้อมูลที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลตาหลบหลีกระบบภูมิต้านทาน จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงเพิ่มขึ้น จนกว่าจะมีวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด หรือวัคซีนใน Generation ที่ 2
ทางศูนย์มุ่งมั่นในการทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไทย เป็นงานวิชาการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น
ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ให้ความเห็นเรื่องผลวิจัยดังกล่าวของ ศ.นพ.ยง โดยระบุใน Facebook Anan Jongkaewwattana ว่า
“โดยรวมแล้วเป็นผลที่ออกมาดูดีนะครับ แต่ผมสงสัยว่ากลุ่ม Pfizer (PZ) ที่ได้ 2 เข็มมา เจาะเลือดมาตรวจหลังฉีดนานเท่าไรครับ ส่วน Sv-Sv-AZ โดนบูสต์มาแล้วเจาะที่ 2 สัปดาห์เลยหรือไม่ ตามหลักการภูมิคุ้มกันหลังถูกกระตุ้นร่างกายจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาสูงมากและจะเริ่มลดลงหลังจากนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ PZx2 จะลดลงมาบ้าง
“ภาพนี้จะเห็นการเปรียบเทียบที่ชัดขึ้น เมื่อนำ PZ 2 เข็มที่เก็บตัวอย่างหลังกระตุ้นในเวลาเดียวกันมาเปรียบเทียบครับ ถ้าหาไม่ได้ก็อาจต้องรอให้ Sv-Sv-AZ ที่ผ่านเวลาไปเท่ากับที่ได้ PZ 2 เข็มมาเทียบกัน จะได้ทราบค่าที่เห็นว่ามันต่างกันมาก-น้อยอย่างไร ก่อนสรุปว่า Sv-Sv-AZ ดีกว่า PZx2 ครับ
“ปริมาณของแอนติบอดีที่ยับยั้งเดลตาได้อาจจะตอบไม่ได้ตรงๆ จากระดับ Ab (ภูมิคุ้มกัน) ที่เทียบกันด้วยวิธีนี้ ถ้า RBD (โปรตีนหนามที่ไวรัสใช้จับ (หรือ Receptor Binding Domain) ที่นำมาทดสอบการจับกัน ใช้ตัวที่สร้างมาจากของเดลตา (แทนที่จะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น) ภาพจะชัดขึ้นครับ หรือใช้การทดสอบกับไวรัสเพื่อดูความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ คาดว่าอาจจะมีผลเพิ่มขึ้นมาหลังจากนี้…
“จากผลนี้ดูเหมือนว่า Sv-Sv-PZ ในบุคลากรทางการแพทย์ อาจจะได้ผลที่ดีมากๆ ในการกระตุ้นภูมิเช่นเดียวกันครับ”