วันนี้ (20 กันยายน) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นประเด็นโควิดในเด็กและการให้วัคซีน ระบุว่า โรคโควิดในเด็กอายุ 12-17 ปี จะมีอาการไม่มาก หรือเสียชีวิตน้อยมาก จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาช่วงการระบาด 120 วัน เด็กวัยรุ่น 1 ล้านคน ผู้ชายเสียชีวิต 2 คน ถ้าเป็นผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน การติดเชื้อในเด็กส่วนมากจะรับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ เช่น ผู้ปกครอง ครอบครัว ครู และบุคลากรในโรงเรียน เมื่อเด็กมารวมกันเป็นกลุ่มจะเป็นต้นเหตุของการระบาดได้ การให้วัคซีนในผู้ใหญ่จึงมีความสำคัญในการป้องกันเด็ก และการให้วัคซีนในเด็กจะต้องมีความปลอดภัยสูง
“วัคซีน mRNA อาการข้างเคียงที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อายุน้อยพบมากกว่าผู้ที่สูงอายุ เพศชายพบมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ประเทศอังกฤษ สวีเดน และฮ่องกงให้ฉีดเพียงเข็มเดียว การฉีดเข็มเดียวภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอ” นพ.ยง ระบุ
นพ.ยง ยังแสดงความเห็นต่อไปว่า เมื่อมีวัคซีน mRNA กระทรวงสาธารณสุขให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการวัคซีน mRNA มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดใดมาก็ตาม สามารถฉีดวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างตามวัคซีนเข็มแรก บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย Sinovac หรือ Sinopharm แล้วฉีด Pfizer เข็มที่ 2 น่าจะได้มีการรวบรวมอาการข้างเคียง
ทางศูนย์ฯ ก็ยินดีที่จะตรวจภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีดดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ในเด็กวัยรุ่นในการให้วัคซีน mRNA เพียงเข็มเดียว เพื่อลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อ้างอิง: