“ยืนยันว่าจะต่อสู้ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากโครงการรับจำนำข้าว โดยจะไม่หนีไปไหน สู้เต็มที่ แม้มีความหวังแค่ 1% ก็ต้องสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เชื่อว่า 1% อาจจะโตขึ้นเรื่อยๆ”
เป็นถ้อยคำที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจำเลยเพียงคนเดียวในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560
ก่อนหน้านี้อดีตนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะไม่หลบหนีและเดินหน้าต่อสู้คดีความ แม้ในการแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ก็ยังแสดงให้เห็นท่าทีและจุดยืนที่จะมารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ข่าวคราวการหายตัวไปอยู่ที่ใดยังไม่ปรากฏชัด แต่วันที่ 27 กันยายนนี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้อีกครั้ง
1 เดือนที่ล่องหน ยิ่งลักษณ์ Where are you?
จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 1 เดือนเต็มแล้วที่นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้ไปปรากฏตัวที่ศาลในวันนัดฟังคำพิพากษา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้ประกาศให้มวลชนไม่ต้องมาให้กำลังใจตนเองที่ศาลผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่เมื่อถึง ‘วัน ว. เวลา น.’ ดังกล่าว กลับไม่ปรากฏกายของอดีตนายกฯ กระทั่งนำมาสู่การออกหมายจับของศาลฎีกาฯ ด้วยการอ้างเหตุว่าป่วย ‘น้ำในหูไม่เท่ากัน’ แต่กลับไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยัน ศาลจึงเชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี
จากวันนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวอดีตนายกฯ ผู้น้องของนายทักษิณ ชินวัตร อีกเลย มีเพียงการคาดการณ์และการปะติดปะต่อเรื่องราวจากหลายฝ่ายถึงความเป็นไปได้ที่อดีตนายกฯ จะใช้วิธีการหรือปลายทางของการหลบหนีอยู่ที่ใด
เงื่อนปมแรกต่างพุ่งตรงไปที่ ‘ทักษิณ’ ว่าการหลบหนีหรือหายตัวไปของ นางสาวยิ่งลักษณ์ เบื้องหลังน่าจะมีพี่ชายของเธอรู้เห็นหรือไม่ จนกระทั่งนายทักษิณได้ออกมาทวีตข้อความแรกในรอบกว่า 2 ปี ภายหลังเกิดเรื่องดังกล่าวได้ 5 วัน โดยยกเอาคำกล่าวของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่พูดถึงกระบวนการยุติธรรมมาสร้างแรงเขย่าทางการเมือง ท่ามกลางการถามหาว่านางสาวยิ่งลักษณ์อยู่ที่ใด จะใช่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่นายทักษิณพำนักอยู่หรือไม่ หรือว่าได้เดินทางต่อไปที่ใดเพื่อที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองแล้ว
ในเวลาต่อมา แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงอ้างว่านางสาวยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีออกจากบ้านพักของเธอตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ในเวลาประมาณ 1 ทุ่มตรง โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว ก่อนจะไปเปลี่ยนเป็นรถตู้ที่ติดฟิล์มมืดทึบ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นพาหนะในการพรางการหลบหนี โดยใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสระแก้วเป็นจุดหมายแรก ก่อนจะใช้ช่องทางธรรมชาติเพื่อผ่านด่านข้ามแดนไปยังเมืองปอยเปต บริเวณชายแดนด่านบ้านคลองลึก แล้วต่อไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะมีบุคคลระดับสูงพาเธอไปยังสนามบิน และต่อเครื่องไปที่สนามบินสิงคโปร์เพื่อเดินทางไปหาพี่ชาย ณ ที่พำนักปลายทาง
แต่นี่ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างอิงของแหล่งข่าวเท่านั้น ท่ามกลางการเกาะติดของสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่พยายามวิเคราะห์ปัจจัยการหลบหนีต่างๆ ที่เป็นไปได้
21 กันยายน ก่อนถึงวันอ่านคำพิพากษาคดีเพียง 5 วัน พลเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้คุมตัวตำรวจ 3 นายซึ่งเกี่ยวข้องกับรถยนต์โตโยต้า คัมรี สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน ณข 5323 กรุงเทพมหานคร ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นคันที่พาอดีตนายกฯ หลบหนีมาทำการสอบปากคำตลอดคืน ซึ่งนายตำรวจทั้งสามได้ให้การว่าเป็นผู้ขับรถพานางสาวยิ่งลักษณ์มุ่งหน้าไปจังหวัดสระแก้ว และมีรายงานว่ามีนายตำรวจยศพลตำรวจเอกวัยเกษียณ และผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 รายที่ให้การช่วยเหลือพาหลบหนี
ล่าสุดวันที่ 26 กันยายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังประชุม ครม. ว่า “รู้แล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์อยู่ประเทศไหน แต่ยังไม่ขอบอก รอหลังศาลตัดสิน 27 กันยายน 2560 และรอประเทศดังกล่าวยืนยันอีกครั้ง เป็นไปได้ขอประสานส่งตัว”
ทั้งหมดนี้น่าจะชัดเจนขึ้นหลังวันที่ 27 กันยายนว่าอดีตนายกฯ เร้นกายอยู่ที่ใดกันแน่
พรุ่งนี้ของยิ่งลักษณ์จะเป็นอย่างไร
น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าวันที่ 27 กันยายน เวลา 9.00 น. ในการนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคงจะไม่มีการปรากฏตัวของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ จำเลยเพียงคนเดียวในคดีนี้ แต่หากเธอปรากฏตัวก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ยิ่งนัก
สำหรับการอ่านคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์บอกกับ THE STANDARD ว่า
“ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก็ได้หากมีเหตุผล เช่น ไม่ครบองค์คณะ หรือทำคำพิพากษาไม่ทัน แต่ก็เป็นไปได้ยาก”
ซึ่งสอดคล้องกับที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม
“ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ได้เป็นบทบังคับว่าจะต้องอ่านลับหลังเท่านั้น ศาลสามารถเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาออกไปได้”
ขณะที่ทีมทนายความทั้งหมดจะเดินทางไปยังศาลตามกำหนดนัดหมายในวันพรุ่งนี้
“ก็จะเดินทางไปศาลตามปกติเพื่อทำหน้าที่ในฐานะทนายความ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากอดีตนายกฯ ส่วนผลของคดีจะออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามกระบวนการ” นายนรวิชญ์กล่าว
ความน่าสนใจหากมีการเลื่อนอ่านคำพิพากษา หรือมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ก่อนการอ่านคำพิพากษา ไม่ว่าทางใด นางสาวยิ่งลักษณ์อาจตกที่นั่งลำบากซ้ำสอง เพราะมีการแก้ไขให้คดีลักษณะนี้ไม่มีอายุความ และหากผลของคดีออกมาแล้วต้องการยื่นอุทธรณ์ ได้กำหนดให้จำเลยต้องมาปรากฏตัวต่อเจ้าพนักงานศาลในกรณีที่ไม่ได้ถูกคุมขัง
จึงนับเป็นโซ่ตรวนที่พันธนาการเธอไว้อีกชั้นหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะคืนสู่เหย้า หรือตามรอยพี่ชาย แต่นั่นอาจหมายถึงการต้องใช้ชีวิตต่างแดนไปตลอดกาล
จับตาคำพิพากษา (อีกครั้ง) โอกาสที่เป็นไปได้
สำหรับข้อหาที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยก็คือ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ. 2554)
จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายนับแสนล้านบาท ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนพยายามที่จะคาดการณ์และประเมินถึงแนวทางที่เป็นไปได้ตามหลักเกณฑ์และกรอบของกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าหวยก่อนวันที่ 25 สิงหาคม ออกมาแล้วว่าอดีตนายกฯ หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้คำพิพากษาอาจเป็นไปได้อยู่ 3 แนวทางคือ
กรณีที่ 1 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘ไม่มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี
กรณีที่ 2 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี และศาลให้รอการกำหนดโทษ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปตามความเข้าใจว่ารอลงอาญา
กรณีที่ 3 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกทันที
“ไม่ว่าผลของคำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามกระบวนการ ทนายความไม่ได้เตรียมการอะไร เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะติดต่ออดีตนายกฯ ไม่ได้ และถ้าตัดสินว่าผิด ไม่ว่าจะรอหรือไม่รอการลงโทษ ตัวจำเลยก็ไม่รู้อยู่ไหน” นายนรวิชญ์ ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์กล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไร นางสาวยิ่งลักษณ์ยังมีคดีอื่นๆ จ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาคดีอีกหลายสิบ ไม่นับรวมการหลบหนีคดีในครั้งนี้ที่อาจกลายเป็นอีกคดีที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งจะยากต่อการกลับมาสู่เมืองไทย เพราะหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถเดินทางกลับไทยได้ก็คือการพิพากษาให้ยกฟ้องเธอเท่านั้น หรืออาจต้องขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดนจากประเทศใดประเทศหนึ่ง
เช็กท่าทีมวลชนและแกนนำเพื่อไทยในวันไร้เงายิ่งลักษณ์
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยบอกกับ THE STANDARD ว่าไม่ได้มีการส่งสัญญาณหรือกำหนดทิศทางอะไรจากทางพรรคเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีของอดีตนายกฯ
“พรรคไม่ได้กำชับหรือส่งสัญญาณอะไรเรื่องการไปศาล แต่ในฐานะสมาชิกก็คงจะติดตามความเคลื่อนไหวและผลคำพิพากษาอย่างใกล้ชิด เป็นห่วงอดีตนายกฯ แล้วก็เป็นห่วงมวลชน คิดว่าคงมีบ้างที่จะเดินทางไปศาลในวันพรุ่งนี้”
ที่ผ่านมา การเดินทางมาศาลของนางสาวยิ่งลักษณ์จะมีมวลชนและแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินทางมาให้กำลังใจอย่างหนาแน่น แม้แต่ในวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดกำลังรักษาความอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมวลชนจำนวนหลายพันคน รวมทั้งแกนนำพรรค และแกนนำ นปช. แต่คาดว่าในวันพรุ่งนี้มวลชนน่าจะหดหาย และแกนนำพรรคน่าจะไม่มาศาลอย่างที่เคย
ด้านฝ่ายรัฐ โดยพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดูแลพื้นที่และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เดินทางไปรับฟังคำพิพากษาเช่นเดียวกับการปฏิบัติในวันที่ 25 สิงหาคม
รวมทั้งให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นส่วนรวมในพื้นที่ต่างๆ ในสาระสำคัญตามกระบวนการยุติธรรมของคดีนี้ด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือการนำเอาข้อมูลไปบิดเบือนให้เกิดความเสียหายกับสังคม
ขณะที่พลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) สั่งการให้ตำรวจจัดกำลังและวางมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเดียวกับวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีมวลชนมาในวันพรุ่งนี้ประมาณ 300-400 คน
คนไทยทั้งประเทศ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังจะได้รู้คำตอบถึงชะตากรรมของคดีพร้อมๆ กัน รวมทั้งหวังให้เธอปรากฏตัวในคราวเดียวกันด้วย เพราะเมื่อทั้งหมดชัดเจน นี่อาจกลายเป็นปฐมบทเส้นทางใหม่ในชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาล