×

ครั้งแรก ยิ่งลักษณ์ ไลฟ์หลังอยู่ต่างประเทศ 4 ปี บอกห่วงคนไทย เปรียบเหมือนเพลงพี่เบิร์ด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หนาวถึงคนทางนี้

01.03.2022
  • LOADING...
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

วานนี้ (28 กุมภาพันธ์) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยผ่าน Facebook Live กับ พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ หรือ กาย อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ และอดีตโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ โดยใช้ชื่อหัวข้อการพูดคุยเป็นแฮชแท็กว่า #เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่าน Facebook Live ครั้งแรกนับแต่พำนักในต่างประเทศ

 

ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อาศัยอยู่ต่างประเทศเกือบ 4 ปีแล้ว จึงอยากถามไถ่ความรู้สึกของแฟนคลับและพี่น้องประชาชนซึ่งไม่ได้เจอกันนานว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง เป็นที่มาแฮชแท็ก #เป็นอย่างไรกันบ้างคะ 

 

ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ติดตามข่าวสารในประเทศไทยตลอดด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนเรื่องเศรษฐกิจ ราคาสินค้าแพงแต่รายได้ค่าแรงงานประชาชนไม่ขึ้น แล้วยังเจอการระบาดของโควิดมาซ้ำเติม ประชาชนไม่มีทางออก แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเพราะอยู่ไกลและไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ได้แต่ส่งกำลังใจและติดตาม และขอร้องรัฐบาลให้ช่วยประชาชนซึ่งมีความยากลำบากจริงๆ 

 

ส่วนคำถามที่ว่า อยากเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่ ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตอนนี้หมดยุคแล้ว เป็นยุคของรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ก็มีความสามารถเยอะ ส่วนตัวอายุ 50 กว่าแล้ว อย่างไรก็ตาม ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ขึ้นอยู่กับประชาชน เราจะบอกเองว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนว่าเขาอยากให้ใครมาบริหารประเทศ 

 

ส่วนตัวไม่ว่าจะอยู่สถานะไหนก็อยากจะช่วยเหลือประชาชนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศบ้านเกิด มีความรักความผูกพัน แม้ว่าตัวจะต้องอยู่ต่างประเทศ แต่ใจอยู่ประเทศไทยตลอดเวลา 

 

หากไม่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะสานต่อนโยบายจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน การทำรถไฟความเร็วสูง การจัดการน้ำ ซึ่งหลังจากเป็นรัฐบาล 2-3 ปีแรก ได้มุ่งแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินและรายได้ของประชาชนแล้ว การเป็นรัฐบาลปีที่ 3-4 ได้คิดถึงการวางอนาคตข้างหน้า คือวางยุทธศาสตร์จังหวัด สร้างความแตกต่างแต่ละจังหวัด เพื่อกระจายความเจริญจากเมืองหลวงไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้เกิดความเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่พยายามทำอยู่แต่ไม่มีโอกาสได้สานต่อ และนโยบายบางนโยบายที่ริเริ่มก็ถูกยกเลิกไป เช่น แท็บเล็ตพีซี ได้ติดตามข่าวแล้วไม่อยากเห็นข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะกลุ้มใจเรื่องการเรียนออนไลน์ ถ้าได้แจกแท็บเล็ตพีซีก็คงมีการใช้ต่อเนื่องอยู่แล้ว วันนี้มี Work from Home มี Learn from Home ก็คงจะพร้อม 

 

ส่วนการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรก และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ยากอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นมาบริหารบ้านเมืองในช่วงเกิดความขัดแย้ง และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีเยอะ ซึ่งต้องสานต่อการแก้ปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน เผชิญกับความคาดหวังต่างๆ อย่างมาก 

 

ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งลำบากกว่า เพราะบางทีคนไม่ได้มองความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ว่ามาทำงานจากความตั้งใจจริง แต่ไปมองว่าเพศหญิงทำไม่ได้ อ่อนแอ ฉะนั้น เราต้องอดทน ต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่า เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำได้ เราอดทน ความเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้งานจะลดน้อยถอยลงไป โดยเฉพาะการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงก็ท้าทายมาก ต้องทำงานกับเหล่าทัพ มีความหนักใจเพราะภาษาทหารจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง การสั่งงานต้องใช้ข้อกฎหมาย เพราะถ้าสั่งตรงๆ ก็คงไม่ทำ เขามองว่าบางส่วนเราไม่มีอำนาจ แล้วเขาต้องทำในหน้าที่ของเขา ฉะนั้น เราต้องใช้กฎหมาย ไปนั่งประชุมสภากลาโหม วางนโยบายตรงนั้น จึงจะเป็นไปตามกฎที่ถูกต้อง ถ้าโทรไปบอกก็คงไม่ได้ เขาไม่ปฏิบัติตาม 

 

เมื่อถามว่า ถ้าเจอหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคุยกันได้หรือไม่ ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ต้องถามว่า พล.อ. ประยุทธ์ เจอหน้ายิ่งลักษณ์ยังคุยกันได้อยู่หรือเปล่า 

 

ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึง บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (UCEP) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่เป็นรัฐบาลว่า ก่อนเป็นนายกฯ ได้ไปเยี่ยมชาวบ้านตามโรงพยาบาล เห็นว่ามีปัญหากรณีฉุกเฉินไม่สามารถเบิกประกันได้ อาจเสียชีวิตระหว่างรอว่าจะเบิกประกันได้หรือไม่ จึงต่อยอดจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ดูแลรักษาเรื่องสุขภาพ โดยต่อยอดมาที่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต 

 

พอได้เป็นรัฐบาล จึงมีบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ป่วยที่ไหนไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง เอกชนก็ต้องรับแล้วค่อยมาเคลียร์ค่าใช้จ่ายทีหลัง แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่เขามีประกันสุขภาพ หรือมีประกัน 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งสำคัญคือต้องช่วยชีวิตให้รอดจากวิกฤตก่อน 

 

ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องดูแลประชาชน ต้องคำนวณค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งมีรายได้น้อย ไม่มีสายป่านพยุงตัวเอง มีเพียงพอแก่การยังชีพ รัฐจะเพิ่มค่าแรงได้อย่างไร ซึ่งวิธีการที่ถาวรจะต้องทำให้ประเทศมีรายได้ มีนักท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น นักธุรกิจจึงจะมีเงินในการไปขึ้นค่าแรง จะไปผลักให้ขึ้นค่าแรงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำ 2 อย่างควบคู่กันไป

 

ส่วนคำถามว่าด่าใครเป็นหรือไม่ ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นมนุษย์ปุถุชนมีจิตใจ บางทีก็มีโมโห โกรธ แล้วก็เสียใจ แต่ส่วนใหญ่จะไประบายกับคนรอบข้าง เพราะไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกไม่สบายใจกับเรา เพราะตอนทำงานกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องใจเย็น เพราะคนอื่นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ทำไมเขาต้องรับรู้กับการอารมณ์เสียของเรา ฉะนั้น ต้องไปคุยระบายกับคนรอบข้าง 

 

ช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บางครั้งต้องเดินไปค่อยๆ หายใจลึกๆ นับ 1-10 แล้วค่อยกลับไปคุยใหม่ เพราะถ้าคุยด้วยอารมณ์โกรธ จะไม่ได้งานสักที  

 

ยิ่งลักษณ์ยังได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่กับการเมืองว่า ถ้าสนใจจะเป็นนักการเมืองก็ต้องคุยกันยาว ส่วนความสนใจการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจ เห็นอะไรเยอะ ได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะ อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดี อยากมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่ออนาคตของเขา เป็นสิ่งที่ดี เราในฐานะผู้ใหญ่ควรรับฟัง การพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ต่างจากรุ่นเก่า เพราะเขาต้องการเหตุผล ความรู้ความเข้าใจ ฉะนั้น ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กแลกเปลี่ยนกัน ทำความเข้าใจให้มากที่สุด ต้องเปิดพื้นที่ให้เยาวชน   

 

ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า ไม่ได้อยู่บ้านเกิดมา 4 ปีแล้ว อยากจะบอกเหมือนเพลง เล่าสู่กันฟัง ของ ธงไชย แมคอินไตย์ อยากรู้เรื่องราว ถ้าบ้านเรามีความทุกข์ยากลำบาก ตนเองและพี่ชายก็รู้สึกสะเทือนใจ เป็นห่วง จึงอยากจะบอกทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หนาวถึงคนทางนี้ แม้จะทำอะไรไม่ได้แต่มีความคิดถึงและขอให้กำลังใจ ขอให้ประชาชนอดทน รักษาสุขภาพ จะประสบความสำเร็จเจอสิ่งดี หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ประชาชนมีรายได้ที่ดี 

 

สำหรับการพูดคุยครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ส่วนในอนาคตจะมีอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโอกาสและความเหมาะสม หากประชาชนอยากให้พูดคุยอีกก็สามารถจัดพูดคุยอีกได้

 

นอกจากนั้น ยิ่งลักษณ์บอกด้วยว่า หากมีอะไรแลกเปลี่ยนสามารถคอมเมนต์ใน Facebook ได้ อ่านคอมเมนต์บางครั้งก็ยิ้ม มีความสุข ชื่นใจ และจำได้เวลามีคนคอยคอมเมนต์อย่างรวดเร็วเป็นลำดับต้นๆ เวลาโพสต์แต่ละครั้ง     

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X