วันนี้ (4 มีนาคม) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 พิพากษายกฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน ในข้อกล่าวหาเอื้อประโยชน์ในการจัดจ้าง Road Show โครงการ ‘สร้างอนาคตไทย Thailand 2020’ พร้อมสั่งเพิกถอนหมายจับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โดยจำเลยในคดีนี้ประกอบไปด้วย
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
- นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
- ระวิ โหลทอง
โดยในคดีนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับการเสนอโครงการ Road Show สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง มีเจตนาร่วมกันในการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ และยังมีการร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไข เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000 บาท
ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-3 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และไม่มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561 มาตรา 192 และมาตรา 123/1
รวมถึงไม่มีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ปี 2542 มาตรา 12 และ 13 ไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริต หรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และเมื่อทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้าง และชี้ว่าจำเลยที่ 4-6 ไม่มีความผิดตามคำฟ้องเช่นกัน โดยยังไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
ยิ่งลักษณ์เหลือคดีใดบ้าง
ปัจจุบันรายงานข่าวจากหลายสำนัก และข้อมูลจากหน่วยงานไม่ชัดเจนนักว่ายิ่งลักษณ์เหลือข้อกล่าวหาใดบ้างที่ยังค้างอยู่ในชั้น ป.ป.ช.
โดยแหล่งข้อมูลหลายแห่งรายงานตรงกับข้อกล่าวหาบางสำนวนที่ยังค้างอยู่ในชั้น ป.ป.ช. เช่น คดีถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และกรณีปกปิดไม่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า คดีที่ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหารวมแล้วอย่างน้อย 10 คดี ดังนี้
- คดีกล่าวหาว่ายิ่งลักษณ์-ครม. รวม 34 ราย อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุม
- คดีปล่อยปละละเลยให้จารุพงศ์และแกนนำ นปช. ปราศรัยแบ่งแยกประเทศ
- คดีปล่อยให้สถานี NBT ถ่ายทอดสดมวยไทยวอริเออร์ส เจตนาแพร่ภาพ ทักษิณ
- คดีอนุมัติงบกลาง 120 ล้านบาทช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง
- คดีกล่าวหาออก พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท
- คดีกล่าวหาว่าบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554
- คดีเพิกเฉยไม่ไต่สวนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แทรกแซงแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม
- คดีให้สำนักงาน กศน. จัดทำป้ายพีอาร์รัฐบาล
- คดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.
- คดีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ช่วงม็อบ กปปส.
คดีที่ยิ่งลักษณ์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
- คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการจำนำข้าว พิพากษาจำคุก 5 ปี
- คดีใช้อำนาจโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิพากษายกฟ้อง
- คดีจัดจ้าง Road Show สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 พิพากษายกฟ้อง
ปัจจุบันยิ่งลักษณ์มีหมายจับและต้องคำพิพากษาให้จำคุกเพียงคดีเดียว กำหนดโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 5 ปี
ดังนั้นหากยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศเหมือนเช่น ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของตนเองที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านี้ จะเหลือโทษจำคุก 5 ปี และสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ตามระเบียบ รวมถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีหมายจับในคดีอื่น รวมถึงไม่มีคดีที่ค้างในชั้นศาล
อ้างอิง: