×

‘รอด-ผิด-ติดคุก’ เปิดแนวทางคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ พร้อมผลกระทบที่เป็นไปได้

24.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดคู่ความเพื่อฟังคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย ผลการตัดสินอาจออกมาได้ 4 แนวทางตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย และมีหนทางให้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีได้

     แน่นอนว่าเมื่อมีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย ผลของคำตัดสินนั้น นัยหนึ่งคือบทสรุปของคดีที่ได้ข้อยุติ แต่อีกนัยหนึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบรรยากาศทางการเมืองที่ภูมิทัศน์อาจแปรผันตรงหรือผกผันไปตามผลของคดีก็เป็นได้

     สำหรับข้อหาที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นจำเลย ก็คือความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ. 2554) จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายนับแสนล้านบาท ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

     การมองภาพบทสรุปชะตากรรมของนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว THE STANDARD มุ่งวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้โดยทั่วไปตามหลักการและกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่น่าจะให้ผลสรุปทางคดีตามช่องทางที่เป็นไปได้ มิใช่การชี้นำหรือฟันธงต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สำหรับแนวทางของการตัดสินคดีอาจเป็นไปได้ดังนี้

 

 

4 แนวทางตัดสินคดี และทิศทางค่าเสียหายที่ต้องชดใช้

     กรณีที่ 1 หากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘ไม่มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี หากผลการตัดสินออกมาในแนวทางนี้ จะทำให้ฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์สามารถอธิบายกับสังคมได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอถูกกลั่นแกล้งและต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร เพราะ ในประเด็นนี้ สนช. ได้มีมติถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งระหว่างการต่อสู้คดีนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว 2 ปี ยังคงเหลืออีก 3 ปี

     การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนที่ให้การสนับสนุนนางสาวยิ่งลักษณ์ น่าจะไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่ต้องจับตามวลชนกลุ่มที่ออกมาต่อต้านโครงการนี้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร

     รวมทั้งหากผลของคำพิพากษาออกมาว่าอดีตนายกฯ ไม่มีความผิด อาจใช้คำพิพากษานี้เพื่อประกอบเป็นเหตุผลสำคัญในคดีที่ฝ่ายรัฐได้ออกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดของคำตัดสินอีกครั้ง

     ขณะที่คู่ความฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คือ ‘อัยการ’ ยังสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายยื่นอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วันได้ ซึ่งอาจต่อระยะเวลาปิดฉากจริงๆ ของคดีออกไปอีกเป็นปี หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ก็ต้องเริ่มกระบวนการในชั้นอุทธรณ์อีกครั้ง

 

     กรณีที่ 2 หากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี และศาลให้รอการกำหนดโทษ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปตามความเข้าใจว่ารอลงอาญา หากผลของคำตัดสินออกมาในแนวทางนี้ เชื่อว่ามวลชนฝ่ายสนับสนุนนางสาวยิ่งลักษณ์น่าจะพอรับได้ หรืออาจจะมีความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ไม่น่าจะนำไปสู่บรรยากาศที่ร้อนแรงมากนัก เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ยังได้รับอิสรภาพให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่นอกกำแพงคุกได้ต่อไป

     แต่แน่นอนว่าผลของคดีจะทำให้การดำเนินนโยบายลักษณะนี้ในอนาคตเป็นที่หวั่นเกรงของนักการเมืองที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งแม้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ต้องยากลำบากต่อการดำเนินโครงการ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนั้นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับโครงการรับจำนำข้าว

     ขณะที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้นางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน

 

     กรณีที่ 3 หากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘มีความผิด’ ตามที่ถูกฟ้องคดี และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกทันที หากผลของคำตัดสินออกมาในแนวทางนี้ กูรูการเมืองหลายสำนักมองว่าอาจมีการเคลื่อนไหวที่ร้อนแรง บรรยากาศทางการเมืองอาจระอุขึ้นอีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ และแน่นอน ด้วยโทษที่หนักและอิสรภาพนอกกำแพงคุกไม่มีอีกต่อไป มวลชนย่อมมีท่าที และหากมองไปถึงการสร้างความ ‘ปรองดอง’ ของรัฐ ก็เหมือนจะปิดประตูตายไปทันที เพราะสถานการณ์ในระหว่างสร้างกระบวนการดังกล่าวก็มีคลื่นใต้น้ำที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้มาตลอดเช่นกัน

     ขณะเดียวกัน ผลของคำตัดสินว่าผิดและต้องติดคุกจะเป็นน้ำหนักสำคัญที่จะใช้ประกอบเป็นเหตุผลในการที่จะรัฐจะเรียกให้อดีตนายกฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการนี้ ซึ่งเป็นมูลค่าที่นางสาวยิ่งลักษณ์เคยกล่าวไว้ว่าใช้ทั้งชีวิตก็ไม่หมด และยิ่งเป็นการย้ำให้เห็นอีกว่า นโยบายลักษณะนี้ในอนาคต หากดำเนินโครงการแล้วอาจมีผลลัพธ์อย่างไร ทำให้มีความหวั่นเกรงต่อกรอบความคิดเรื่องนโยบายของนักการเมืองไปโดยปริยาย เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้

     และนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะจำเลย สามารถใช้สิทธิ์ขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือที่เรียกว่าการยื่นประกันตัว และสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่

 

     กรณีที่ 4 หากวันนัดฟังคำพิพากษา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ‘ไม่มาฟังคำพิพากษา’ ศาลฎีกาฯ จะออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาฟังคำพิพากษา และภายใน 1 เดือน หากไม่ได้ตัวมา ให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ แต่แนวทางนี้ ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ว่าน่าจะมีแนวโน้มเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมานางสาวยิ่งลักษณ์มาศาลครบทุกนัดในทุกขั้นตอน และยืนยันมาโดยตลอดว่าจะไม่หลบหนี อย่างแน่นอน รวมทั้งล่าสุดทนายความก็ยืนยันว่าอดีตนายกฯ จะมาฟังคำพิพากษาตามนัดแน่นอน

 

     สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาแนวทางใด คู่ความแต่ละฝ่าย น่าจะใช้ ‘สิทธิ์อุทธรณ์คดี’ และนี่อาจเป็นจุดที่ทำให้มีการทดระยะเวลาของบทสรุปคดีออกไปอีก เพราะหากศาลรับอุทธรณ์ก็จะต้องมาเริ่มกระบวนการในชั้นนี้อีกครั้ง ฉะนั้น ยกสุดท้ายจึงอยู่ที่การอุทธรณ์คดีนั่นเอง

 

 

สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์สำหรับคดีความในศาลฎีกาฯ แผนกคดีอาญานักการเมือง

     แม้ว่าขณะนี้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่จะยังไม่ประกาศใช้ แต่หากผลคำพิพากษาออกมาทางใดทางหนึ่งที่ให้ผลในทางที่ไม่เป็นใจต่อคู่ความ ก็สามารถที่จะใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีตามกฎหมายได้

     มีรายงานว่า ในส่วนทีมทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ หากผลการตัดสินออกมาในแนวทางใด ก็อาจใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ หรือขอยื่นประกันตัวในทันที

     ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 195 วรรค 4 ได้บัญญัติถึงสิทธิ์ในการอุทธรณ์ไว้ว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา

     และวรรค 5 บัญญัติขั้นตอนว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะทำการคัดเลือก ‘องค์คณะใหม่ 9 คน’ ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา และไม่เกี่ยวพันกับคดีขึ้นมาวินิจฉัยคำอุทธรณ์

     แต่เมื่อไปดูวรรค 7 ได้บัญญัติไว้ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.ป. ฉบับนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ตามที่กล่าวมาข้างต้น

     อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายอธิบายว่า นางสาวยิ่งลักษณ์สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยใช้สิทธิตามมาตรา 25 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมนุม ย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

     ขณะที่ปฏิกิริยาล่าสุด ทีมทนายความยืนยันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัดหมายแน่นอน และทีมทนายความก็เตรียมตัวสำหรับวันดังกล่าวแล้ว

     พร้อมกันนี้มีรายงานข้อมูลด้านการข่าวของ คสช. ว่า ได้ประเมินตัวเลขมวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในวันพิพากษาคดีจำนวน 1,000-2,000 คน ขณะเดียวกันมีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดไว้แล้วกว่า 4,000 นาย

     “ดิฉันขอใช้โอกาสนี้กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม”

     ประโยคดังกล่าวคือการเปิดฉากของการกล่าวถ้อยแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งมีความยาวกว่า 19 หน้า ใน 6 ประเด็นสำคัญ

     สุดท้ายฉากจบของคดีนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลคำตัดสิน เพราะบนเส้นทางการต่อสู้คดีนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ที่ผ่านมาเธอได้สู้อย่างหมดใจแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

Photo: AFP

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising