วันนี้ (22 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองตัดสินให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้เงิน 10,028 ล้านบาท ว่า สืบเนื่องจากปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว
ชูศักดิ์ระบุว่า ก่อนอื่นตนเองในฐานะที่ร่วมทำโครงการนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเห็นใจยิ่งลักษณ์ แต่มองว่ามีเรื่องที่พอจะอ้างความชอบธรรมได้บ้าง อย่างแรกคือศาลปกครองกลางเคยยกคำร้องการอายัดทรัพย์ ก็เป็นสิ่งยืนยันว่า ยังมีศาลที่เห็นว่ายิ่งลักษณ์ไม่ควรที่จะรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน ความเห็นของศาลปกครองสูงสุด เมื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ก็ยังมีความเห็นแย้ง
“แต่ในเมื่อศาลพิจารณาออกมาเป็นแบบนี้แล้ว ในระบบของไทยก็ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ว่าเรื่องที่ทนายเตรียมดำเนินการก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะข้าวที่เป็นกรณีพิพาท หลังจากยึดอำนาจก็มีการอายัดข้าวตรงนี้ไว้ เมื่อมาสมัยนี้ ก็ทราบว่าข้าวเป็นของรัฐ และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น ก็ได้นำไปจำหน่ายได้เงินก้อนหนึ่ง แต่เท่าไหร่ไม่ทราบ จึงถือเป็นทรัพย์สินที่รัฐได้มาจากโครงการนี้ ดังนั้น การใช้เหตุผลว่าควรจะมาหักลบกลบหนี้กัน ก็เป็นเหตุเป็นผล”
ส่วนการยื่นพิจารณาคดีใหม่ ชูศักดิ์ระบุว่า ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม และการยื่นก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่สิ่งที่ไม่มั่นใจคือ เมื่ออ่านในคำสั่งข้อ 3 เหมือนกับว่า ศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาต่อไปเลย
“แต่ตอนแรกเข้าใจว่า ศาลให้ยกคำร้องของกระทรวงการคลัง เพราะคำสั่ง ของกระทรวงการคลังไม่ชอบ เลยงงว่าต้องออกคำบังคับใหม่หรือไม่ เพราะถ้าต้องออกคำบังคับใหม่ ต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี แต่เมื่ออ่านข้อ 3 แล้วดูคล้ายๆ กับว่าศาลให้ทำต่อไปเลย เพียงแต่ว่าต้องหักลดทอน จึงเป็นเรื่องที่ทีมทนายต้องไปพิจารณาดู ว่าเป็นอย่างไรกันแน่”
ส่วนทางพรรคเพื่อไทยจะช่วยยิ่งลักษณ์หรือไม่ ชูศักดิ์กล่าวว่า ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีก็มีทีมทนายความดูแลรับผิดชอบอยู่ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยที่เป็นเจ้าของนโยบายนี้ หากมีอะไรที่ช่วยได้ในทางคดี ก็ไม่น่าจะขัดข้องอะไร
ส่วนที่ยิ่งลักษณ์โพสต์ข้อความว่า “หนี้หมื่นล้าน ใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด” นั้น ชูศักดิ์กล่าวว่า ธรรมดา ไม่ใช่เงินน้อยๆ แต่เมื่อฟังดูแล้วยิ่งลักษณ์คงคิดว่า สามารถที่จะแสวงหาความยุติธรรมต่อไปได้
ส่วนที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาในลักษณะนี้ การทำนโยบายของรัฐบาลหลังจากนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลนั้น ชูศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่ติดตามเรื่องนี้มา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งถือเป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง จึงมีข้อสงสัยว่าจะสามารถนำคำวินิจฉัยของศาลฎีกา มาใช้ในคดีแพ่งได้หรือไม่ แต่หลายคนมองว่าเป็นคนละประเด็นไม่ควรเอามาใช้กันได้ ซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมายที่เข้าใจยาก
“ผลคำพิพากษาของศาลปกครอง อาจจะส่งผลให้การทำนโยบายต้องคิดหนัก เพราะที่ผ่านมามีนโยบายเยอะมาก แต่ไม่มีการฟ้องร้องดำเนินการ จึงมีนักวิชาการออกมาบอกว่าต่อไปนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้ว ทุกอย่างต้องหยุดหมด”
ชูศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อทักท้วงเหมือนกับว่าศาลปกครองหยิบคำวินิจฉัยของคดีอาญามาใช้ ซึ่งเขาก็โต้แย้งว่าจริงๆ แล้วเป็นคนละประเด็น ประเด็นนี้เป็นประเด็นละเมิด ส่วนอาญา ก็ว่ากันไป ความจริงไม่ใช่ยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยอย่างเดียว แต่ท่านก็ใช้ความระมัดระวังติดตามตรวจสอบ เป็นรายละเอียดที่ว่ากันไป ท้ายที่สุดต้องให้ทนายความเขาว่ากัน ดูสิว่าศาลจะว่าอย่างไร