ตามที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่าทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถูกกรมบังคับคดียึดไว้และมีการทยอยขายทอดตลาดไปแล้วนั้น
กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง
ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ทำให้กรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องดำเนินการยึด อายัด ทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามที่กระทรวงการคลังได้ร้องขอให้ดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 กระทรวงการคลังได้ขอให้กรมบังคับคดีดำเนินการบังคับกับทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยขออายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่างๆ ซึ่งมีการส่งเงินตามคำสั่งอายัดมาเพียงจำนวน 7,937,174.58 บาท และได้มีการจ่ายเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ขอให้กรมบังคับคดียึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดอีกหลายรายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินเป็นเงิน 199,230,779.50 บาท ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้แล้ว 3 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,510,000 บาท และทรัพย์รายการที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของการประกาศขายทอดตลาด
การดำเนินการของกรมบังคับคดีเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แม้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังข้างต้น
แต่เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง
ดังนั้นกรมบังคับคดีจึงต้องดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครองต่อไป โดยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลัง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์