วันนี้ (26 ธันวาคม) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ศาลเห็นว่าขาดเจตนาพิเศษที่ทำให้ถวิลเสียหาย และเป็นการโยกย้ายตามปกติ
สำหรับคดีนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้โอน ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ในเวลาต่อมา ครม. ตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และต่อมามีการแต่งตั้ง พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. แทน
ต่อมาถวิลได้ฟ้องยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง จนคดีสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้ถวิล หลังศาลเห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ พร้อมเพิกถอนประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งย้าย
ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายถวิล เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
ความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง ในห้วงเดียวกับที่ยิ่งลักษณ์ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จากเหตุยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังต้องเผชิญกับการประท้วงทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ก่อนที่จะมีการรัฐประหารคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น
ปิดท้ายด้วยการถูกกล่าวหาทางอาญาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงส่งอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับยิ่งลักษณ์อีกด้วย เนื่องจากไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ซึ่งยิ่งลักษณ์ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว โดยเดินทางออกจากประเทศไทยราวเดือนสิงหาคม 2560 และไม่ได้กลับมาประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
หากนับจากจุดเริ่มต้นของการใช้อำนาจโยกย้ายในขณะนั้น ใช้เวลาราว 12 ปีเศษ ตัวละครในคดีนี้อย่างยิ่งลักษณ์ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ถวิล ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน