×

Yesterday (2019) วันที่สี่เต่าทองสิ้นชื่อ

30.08.2019
  • LOADING...
Yesterday

เชื่อว่าใครก็ตามที่เป็น Beatlemania หรือแฟนเพลงผู้คลั่งไคล้วง The Beatles คงพอจะแยกแยะได้ว่าเพลงที่แต่งโดย จอห์น เลนนอน กับเพลงที่แต่งโดย พอล แม็กคาร์ตนีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ ที่ความสัมพันธ์เริ่มระหองระแหงผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร

 

อย่างหนึ่งที่แน่ๆ นอกจากคำร้องที่สละสลวยและงดงามราวบทกวี เพลงของจอห์นมักสะท้อนมุมมองที่หม่นมืดหรือไม่ค่อยหยิบยื่นความหวังเท่าไรนัก อย่างเช่นเพลง A Hard Day’s Night, Help!, I’m a Loser หรือไม่ก็เป็นเพลงที่แฝงความหมายให้ครุ่นคิดในเชิงปรัชญา เช่น Across the Universe, Strawberry Fields Forever และเนื้อหาส่วนใหญ่ของ A Day in the Life 

 

ส่วนเพลงของพอลมักจะโดดเด่นด้วยเมโลดี้ที่ติดหู คำร้องที่จดจำได้ง่าย อีกทั้งเนื้อหาของเพลงก็ไม่ได้ซับซ้อน จำนวนไม่น้อยถูกครหาว่าเป็น ‘เพลงรักโง่ๆ’ หรือว่ากันตามจริง พอล (ในยุคหลัง The Beatles) ถึงกับแต่งเพลงที่ใช้ชื่อว่า Silly Love Songs ในทำนองยอมรับข้อกล่าวหาและไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างใด และแน่นอนที่สุดว่าเพลงรัก (โง่ๆ) ที่สุดแสนอมตะเพลงหนึ่งของพอล ซึ่งว่ากันว่าเป็นเพลงที่ถูกนำไปคัฟเวอร์มากที่สุดในโลก นักฟังเพลงทุกชาติทุกภาษาล้วนรู้จักคุ้นเคยก็คือเพลง Yesterday ที่เนื้อหาว่าด้วยใครบางคนเพิ่งถูกคนรักทอดทิ้ง และพร่ำเพ้อพรรณนาถึงวันก่อนที่แสนหวานซึ่งผ่านพ้นไปแล้วและไม่หวนคืน

 

ว่าไปแล้วหนังเรื่อง Yesterday ของ แดนนี่ บอยล์ (Trainspotting, Slumdog Millionaire) ก็เหมือนกับเพลง Yesterday ของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสามารถอธิบายได้ด้วยเนื้อหาของเพลง ชายหนุ่มถูกหญิงสาวบอกเลิก และสถานการณ์ชีวิตที่รุมเร้านำพาให้เขาหวนระลึกถึงวันวานที่ทุกอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน และนึกฝันอยากกลับไปเป็นเหมือนเดิม ขณะที่ในแง่ของกรอบเนื้อหาและแนวทางมันก็เลือกจะนำพาตัวเองไปในทิศทางของหนังโรแมนติกคอเมดี้ หรือหนังรักโง่ๆ (ที่ไม่ได้แปลว่าปัญญาอ่อน แต่หมายถึงตื้นๆ ง่ายๆ และซ้ำซาก) และหยิบยื่นความรู้สึกฟีลกู๊ด ทั้งๆ ที่เนื้อหาหลายส่วนเปิดช่องให้สำรวจตรวจสอบแง่มุมที่เคร่งขรึมจริงจัง ซึ่งดูประหนึ่งว่าหนังปล่อยโอกาสเช่นนั้นให้หลุดลอย

 

Yesterday

Yesterday

 

กระนั้นก็ตาม ส่วนที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดขายของ Yesterday ได้แก่ความเป็นหนัง High Concept ของมัน หรือหนังที่ไม่เพียงแค่คนดูสรุปเนื้อหาหลักได้ในหนึ่งประโยค ทว่าเรื่องทั้งหมดยังผูกได้อย่างชวนให้อยากรู้อยากเห็นบนสมมติฐานแบบ What if หรือจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก… ในกรณีของ Yesterday สิ่งที่เรียกว่าสมมติฐานแบบ What if ของหนังถูกบอกเล่าเอาไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความในเทรลเลอร์ นั่นคือจะเกิดอะไรขึ้นหากคนทั้งโลกไม่รู้จักเพลงของ The Beatles ยกเว้นตัวเอกของเรื่องเพียงคนเดียว

 

ข้อมูลพื้นฐานที่หนังแจกแจงให้พวกเราได้รับรู้เกี่ยวกับ แจ็ค มาลิก (ฮิเมช พาเทล) ก็คือเขาเป็นนักร้องนักดนตรีหนุ่มผู้ซึ่งอนาคตของเขาบนเส้นทางสายนี้ค่อนข้างริบหรี่หรือมืดมน แม้ว่า เอลลี่ (ลิลี่ เจมส์) เพื่อนสนิทและผู้จัดการส่วนตัวจะพยายามเคี่ยวเข็ญทุกหนทางที่เป็นได้ และจุดปะทุของเรื่องเป็นผลมาจากเหตุการณ์ประหลาดที่ระบบไฟฟ้าเกิดขัดข้องทั่วโลก ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แจ็คประสบอุบัติเหตุและเสียฟันหน้าไป 2 ซี่ ไม่มากไม่น้อย ในสถานการณ์ที่ทั้งโลกเหมือนถูก ‘รีบู๊ต’ กลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แจ็คก็พบว่าเขาเป็นอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น และสำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากจะ ‘ไปต่อ’ ในฐานะนักร้องนักดนตรี จู่ๆ เขาก็กลายเป็นเสมือนคนถือกุญแจเซฟที่เก็บงำทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้เอาไว้ในมือแต่เพียงลำพัง

 

Yesterday

Yesterday

 

ว่ากันตามจริง ความท้าทายอย่างยิ่งยวดของหนังแนว What if ไม่ได้อยู่ตรงที่คนทำหนังจะขายไอเดียสุดแสนบรรเจิดนี้ให้กับผู้ชมอย่างไร เพราะพูดอย่างไม่อ้อมค้อม พวกเราซื้อแนวคิดนี้ตั้งแต่ตอนเห็นโฆษณาตัวอย่างแล้ว ความยุ่งยากอยู่หลังจากนี้มากกว่า หรือคำถามที่ตอบลำบากมากกว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก…’ ก็คือแล้วหนังจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

ในแง่หนึ่งคนดูน่าจะพอลากเส้นประได้พอสมควร แจ็คเก็บเกี่ยวดอกผลที่งอกงามและเบ่งบานอย่างรวดเร็วจากกรุเพลงเก่าของ The Beatles ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอุปสรรคในเบื้องต้นได้แก่การที่เขาต้องพยายามรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับคำร้องและทำนองเพลงของวงดนตรีบันลือโลกเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะกูเกิลก็ไม่รู้จักเพลงของสี่เต่าทอง ผู้ชมได้เห็นว่าช่วงหนึ่งของหนังเขาต้องถ่อสังขารจากลอสแอนเจลิสไปที่ลิเวอร์พูลเพื่อค้นหาเนื้อเพลงของ Strawberry Fields Forever, Penny Lane และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงบัลลาดที่มีเนื้อหาประหลาดอย่าง Eleanor Rigby 

 

สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ The Beatles ความน่าสนุกอย่างหนึ่งของหนังไม่ใช่การได้ฟังผลงานที่ทรงคุณค่าเท่านั้น ทว่าอยู่ที่การได้เห็นปฏิกิริยาของผู้คนที่เพิ่งได้ลิ้มรสชาติเพลงอันไพเราะเพราะพริ้งเหล่านั้นเป็นครั้งแรก เพื่อนๆ ของแจ็ครวมถึงเอลลี่ถึงกับตกอยู่ในภวังค์ พิศวงงงวย หรือแม้กระทั่งน้ำตาคลอด้วยความซาบซึ้งภายหลังได้ยินเพลง Yesterday ครั้งแรก และเป็นไปได้ว่าพวกเราคนดูได้แต่นึกขบขันในปฏิกิริยาอันไร้เดียงสาของตัวละคร

 

แต่ที่น่าจะเรียกเสียงหัวเราะจากเหล่าสาวกได้ครื้นเครงกว่านั้นได้แก่ห้วงเวลาที่หนังแสดงให้เห็นว่าเพลงของ The Beatles ไม่ได้มีมนต์สะกดหรือออกฤทธิ์อย่างได้ผลชะงัดเสมอไป และฉากที่ตัวเอกของเรื่อง ‘พยายาม’ ร้องเพลงคลาสสิกหรือแม้กระท่ังศักดิ์สิทธิ์อย่าง Let It Be ทว่ากลับถูกตอบสนองอย่างเพิกเฉย มองไม่เห็นทั้งคุณค่า ความหมาย และความงดงาม ก็กลายเป็นฉากที่ชวนหัวที่สุดฉากหนึ่งของหนังโดยปริยาย

 

Yesterday

Yesterday

 

อีกส่วนที่เป็นแง่มุมจิกกัดที่ดีมากๆ ของ Yesterday ได้แก่การที่หนังจำลองให้คนดูเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าระบบธุรกิจสามารถจะ ‘ก่อวินาศกรรม’ ตัวงานศิลปะได้อย่างวายป่วงเพียงใด หนึ่งในฉากที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไป อย่างน้อยก็สำหรับแจ็ค ได้แก่ตอนที่โปรดิวเซอร์แสดงความคิดเห็นอย่างน่าอับอายขายหน้าเกี่ยวกับชื่ออัลบั้มของ The Beatles และในเวลาต่อมาผลงานมาสเตอร์พีซอย่างเพลง Hey Jude ก็ต้องด่างพร้อยหรือมัวหมองอันเนื่องมาจากวิสัยทัศน์ที่ตื้นเขินและคับแคบ หรือบางทีอาจจะเป็นผลมาจากความอิจฉาริษยาของใครบางคน

 

ไม่ว่าจะอย่างไร สถานะของการเป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองแฟนเพลง The Beatles ก็มีระยะเวลาและขอบเขตจำกัดของมัน และต้องให้เครดิตกับ ริชาร์ด เคอร์ติส (Love Actually, Notting Hill) คนเขียนบท และแดนนี่ บอยล์ ผู้กำกับ ตรงที่พวกเขาใช้ประโยชน์จากเพลงต่างๆ ได้อย่างรัดกุม และช่วยให้อย่างน้อยนี่ก็ไม่ใช่หนังที่ตั้งหน้าตั้งตาขายเพลงอย่างหน้ามืดตามัว ทว่าในทางกลับกัน เพลงมีส่วนสนับสนุนเนื้อหาและความหมายที่ผู้สร้างต้องการสื่อสาร กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองในภาพกว้าง เส้นเรื่องของหนังมีลักษณะที่เป็นสูตรสำเร็จทีเดียว และบิดพลิ้วเป็นอื่นได้ยาก

 

ตัวละครที่เริ่มต้นด้วยการโกหกหลอกลวง (ไม่ว่าโดยสถานการณ์แล้วจะมีลักษณะตกกระไดพลอยโจนอย่างไร) ย่อมมีหนทางให้ก้าวเดินไปข้างหน้าไม่หลากหลายนัก อีกทั้งสิ่งที่เรียกว่า Dilemma หรือภาวะที่ตัวละครถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างชื่อเสียง ความสำเร็จ เงินทอง กับความรัก ก็เป็นประเด็นซ้ำซากจำเจที่ปรากฏอยู่ในหนังนับไม่ถ้วน แต่ก็อีกนั่นแหละ ต้องปรบมือให้คนทำหนังอย่างกึกก้องในแง่ที่พวกเขาถ่ายทอดประเด็นที่ไม่หลงเหลือความแปลกใหม่ด้วยการสอดแทรก ‘ฉากที่คาดไม่ถึง’ เข้ามา และใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขของความเป็นหนังแฟนตาซีได้อย่างกล้าหาญชาญชัย

 

อีกส่วนที่นับเป็นข้อขัดข้องของหนังได้แก่การใช้กรอบเนื้อหาแบบโรแมนติกคอเมดี้ไปแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายอย่างง่ายดายเกินไป มันลดทอนความขึงขังและหนักแน่นของหนังไปเยอะทีเดียว และทำให้ทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏเบื้องหน้ากลายเป็น Fairy Tale หรือเทพนิยายซึ่งคลับคล้ายว่าพวกเราไม่ต้องถือสาหาความแต่อย่างใด

 

Yesterday

Yesterday

 

รวมๆ แล้วหนังของแดนนี่เป็นหนังที่ก้ำกึ่ง มันมีทั้งส่วนที่น่าสนุก ตลก ชวนติดตาม และส่วนที่เราอยากจะให้มันโลดแล่นกว่านี้ แต่ชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง ประเด็นหนึ่งที่หนังชวนให้ฉุกคิดมากๆ เกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขหลักของเรื่อง แน่นอนว่าปมเรื่องที่ว่าด้วยทั้งโลกนี้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเพลงของ The Beatles เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ ไม่มีวันเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง แต่สมมติว่าใครลองนึกทบทวนโจทย์ของหนังอีกครั้ง คำถามแฝงที่อาจจะผุดพรายก็คือการดำรงอยู่หรือการตกหล่นสูญหายไปของผลงานศิลปะขึ้นอยู่กับอะไร

 

ที่แน่ๆ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ทว่าใช่หรือไม่ว่าพวกเราในฐานะผู้เสพงานศิลปะเป็นตัวแปรสำคัญในการค้ำจุนให้งานทรงคุณค่าทั้งหลายทั้งปวงยังคงอยู่ต่อไปได้ และใช่หรือไม่ว่าหนังที่ไม่มีคนดู เพลงที่ไม่มีคนฟัง วรรณกรรมที่ไม่มีคนอ่าน ภาพเขียนที่ไม่มีคนรับรู้ถึงการมีอยู่ของมัน ฯลฯ ก็อาจเปรียบได้กับการที่งานศิลปะเหล่านั้นได้อันตรธานไปจากโลกนี้เรียบร้อยแล้ว เหมือนเพลงของ The Beatles ในหนังเรื่องนี้

 

หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดจริงๆ งานศิลปะถือกำเนิดไม่ได้หากไม่มีศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่เป็นผู้เสพงานศิลปะอย่างเราๆ ท่านๆ ต่างหากที่ช่วยทำให้ผลงานเหล่านั้นดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน กระทั่งภายหลังศิลปินชีวิตหาไม่ และใช่หรือไม่ว่านี่เป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพวกเราที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

 

Yesterday (2019)

กำกับ: แดนนี่ บอยล์
นักแสดง: ฮิเมช พาเทล, ลิลี่ เจมส์, เคต แม็กคินนอน, เอ็ด ชีแรน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising