เงินเยนในวันนี้ (2 ตุลาคม) ทำสถิติอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน ที่ระดับ 149.74 เยนต่อดอลลาร์ เข้าใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 150 เยนต่อดอลลาร์ ที่ตลาดเชื่อว่าจะเป็นจุดที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงิน
“ความกังวลเรื่องการแทรกแซงค่าเงินของ BOJ เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ แต่ BOJ ก็ยังคงยึดมั่นที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเกรงว่าการปรับทิศนโยบายที่เร็วเกินไปจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” Olivier d’Assier หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Axioma ระบุ
ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า สาเหตุที่เงินเยนอ่อนค่าเป็นเพราะดอกเบี้ยของญี่ปุ่นถูกทางการกดไว้ในระดับต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้กระเทือนไปถึงรัฐบาลที่มีหนี้ภาครัฐอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่ 263% ของ GDP ทำให้ยิ่งนานวันส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นถ่างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
โดยล่าสุดดอกเบี้ยระยะสั้นของญี่ปุ่นอยู่ที่ใกล้ 0% ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.5% แตกต่างกันถึง 5.5% จนกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญให้นักลงทุนเข้ามาทำกำไร ทำ Carry Trade หรือกู้เยน (ดอกต่ำ) มาลงทุนในดอลลาร์ (ดอกสูง) ทิ้งญี่ปุ่นมาหาสหรัฐฯ กันอีกรอบ
ทั้งนี้ เงินที่ไหลออกจากญี่ปุ่นได้สร้างแรงกระเทือนกับตลาดพันธบัตรของญี่ปุ่น จนธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องออกประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่ม (Unplanned) อีก 3 แสนล้านเยน เพื่อช่วยกดดอกเบี้ยไว้เพิ่มเติม ทำให้ตลาดกำลังจับจ้องไปที่ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังญี่ปุ่นว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไร และจะเข้าแทรกแซงค่าเงินหรือไม่
นอกจากผลกระทบต่อค่าเงินเยนแล้ว การแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลดอลลาร์ได้ทำให้เงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกอ่อนค่าลงเช่นกัน โดยล่าสุดเงินยูโรอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 1.05 ยูโรต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 1.21 ปอนด์ต่อดอลลาร์
อ้างอิง: