×

สรุป! ทำไมเงินเยนอ่อนสุดรอบ 34 ปี หลัง BOJ คงดอกเบี้ย ส่วน Fed มีโอกาส Higher for Longer

27.04.2024
  • LOADING...
เงินเยนอ่อนค่า

เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 เมษายน) โดยจุดหนึ่งร่วงไปถึง 158.33 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินเยนอ่อนค่าไปแล้วเกือบ 11%

 

เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย วันนี้ (27 เมษายน) เงินเยนก็ยังอ่อนค่า โดยเงิน 100 เยนใช้เงินบาทเพียง 23.37 บาทก็สามารถแลกได้แล้ว นับว่าเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 27 ปี หรือตั้งแต่ปี 1997 แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีเงินบาทจะอ่อนค่าไปราว 8% แล้วก็ตาม (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ)

 

เปิดเหตุผลทำไมเงินเยนอ่อนค่าหนัก

 

  1. BOJ คงดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยญี่ปุ่น-สหรัฐฯ กว้างต่อ

 

การอ่อนค่าของเงินเยนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในวันศุกร์ พร้อมส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นยังจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป (Ultra-Loose Policy)

 

สะท้อนว่า BOJ จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) กว้างเช่นนี้ต่อไป ทำให้นักลงทุนย่อมเสาะหาผลตอบแทนที่ดีกว่าญี่ปุ่น

 

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0-0.1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงถึง 5.25-5.5%

 

  1. ผู้ว่า BOJ ไม่ให้น้ำหนักต่อการอ่อนค่าของเยน?

 

นอกจากนี้ ในการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็กล่าว ‘เพียงเล็กน้อย’ เท่านั้นว่าสนับสนุนเงินเยน

 

อย่างไรก็ดี Shunichi Suzuki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ก็กล่าวย้ำหลังการประชุม BOJ ว่ารัฐบาลจะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่าเร็วเกินไป

 

  1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังร้อนแรง นักลงทุนหวั่นดันช่องว่างดอกเบี้ยกว้างขึ้น

 

ขณะเดียวกันข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ ก็แสดงให้เห็นว่าดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures: PCE) ซึ่งเป็นตัววัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ริบหรี่ลง

 

Ben Ayers นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Nationwide กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ร้อนแรงจนถึงเดือนมีนาคมน่าจะลดความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งแรกของปีนี้ออกไป นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะ Resilience มากขึ้น เพิ่มความเป็นไปได้ว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเกิดขึ้นในปี 2025 หากเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญในปีหน้า

 

ดังนั้นตลาดจึงเชื่อว่าช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มกว้างต่อไป ทำให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X