สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในที่ออกมาเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 พฤษภาคม) ว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังติดต่อกับผู้นำธุรกิจและการเงินของสหรัฐฯ เพื่ออธิบายถึงผลกระทบ ‘หายนะ’ ที่การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลก
โดยหนึ่งในแหล่งข่าวย้ำว่า เยลเลนกำลังพบปะพูดคุยตัวต่อตัวกับบรรดาซีอีโอชั้นนำแต่ละคน เพื่อเตือนซีอีโอเหล่านี้เกี่ยวกับ ‘ผลที่ตามมาที่เป็นอันตรายของสถานการณ์ทางการคลังของรัฐบาลในปัจจุบัน’
ทั้งนี้ แหล่งข่าวปฏิเสธที่จะระบุชื่อซีอีโอที่เยลเลนเคยพูดคุยด้วยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนทนาเหล่านั้น แต่ยอมรับว่าซีอีโอที่ถูกเรียกพบนี้ครอบคลุมถึงบรรดาผู้บริหารในภาคการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง
แม้ว่าแหล่งข่าวไม่ได้ระบุจุดประสงค์ของเยลเลน แต่ความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเดินหน้าหารือกับบรรดาเจ้าของธุรกิจทั่วสหรัฐฯ เพื่อให้ร่วมด้วยช่วยกันกดดันพรรครีพับลิกันในการบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ก่อนหน้านี้ เยลเลนได้ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นสำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลังประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 เพื่อเข้าร่วมรายการ This Week ของสถานีโทรทัศน์ ABC เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเยลเลนเตือนว่า ความล้มเหลวของสภาคองเกรสในการเพิ่มเพดานหนี้มูลค่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ อาจก่อให้เกิด ‘มหันตภัยทางการเงิน’ ครั้งใหญ่
เยลเลนย้ำว่า การเจรจาเพื่อขยายเพดานหนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และการกระทำของพรรครีพับลิกันที่หยิบยกเรื่องการขยายเพดานหนี้เป็นข้อต่อรองให้พรรคเดโมแครตตัดลดรายจ่าย ไม่ต่างอะไรกับการเอาปืนมาจ่อหัวชาวอเมริกัน
ในช่วงสัปดาห์นี้เยลเลนมีกำหนดจะเดินทางไปญี่ปุ่น โดยเจ้าตัวจะจัดงานแถลงข่าวอีกครั้งที่เมืองนีงาตะ ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม ก่อนการประชุม G7
ด้านสถานการณ์การขยายเพดานหนี้ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันว่าสภาคองเกรสมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งสะท้อนถึงเงินของรัฐบาลกลางที่ใช้จ่ายไปก่อนหน้านี้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดพบปะกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน กับ มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาระดับสูงของพรรคเดโมแครตที่ทำเนียบขาวในวันนี้ (9 พฤษภาคม) เพื่อพยายามจัดการกับข้อติดขัดในการขยายเพดานหนี้ที่เกิดขึ้น
สัปดาห์ที่แล้วเยลเลนได้กล่าวกับบรรดาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติว่าทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่น่าจะสามารถชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน โดยปราศจากการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลกลาง โดยเยลเลน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์คนอื่นๆ เตือนหลายครั้งว่าการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้คนหลายล้านคนต้องตกงาน ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ภาระการผ่อนบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตสูงขึ้น
ด้านสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ ได้จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่สหรัฐฯ ไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทันตามกำหนดจนต้องผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน แต่ในกรณีที่หากการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น หลายฝ่ายเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวง
เฉพาะแค่ในสหรัฐฯ รัฐบาลจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนของพนักงานรัฐบาลกลางและทหาร หรือเงินบำนาญได้อีกต่อไป อุทยานแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ จะปิดตัวลง ในขณะที่บริษัทและองค์กรการกุศลที่พึ่งพาเงินของรัฐบาลจะตกอยู่ในอันตราย การพยากรณ์อากาศอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องพึ่งพาข้อมูลจาก National Weather Service ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล
ขณะเดียวกัน Moody’s Analytics คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯ ผิดชำระหนี้เป็นเวลานาน ราคาหุ้นจะลดลงเกือบ 1 ใน 5 และเศรษฐกิจจะหดตัวมากกว่า 4% ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ ในระยะยาว หากนักลงทุนเริ่มเห็นว่าหนี้ของสหรัฐฯ มีความเสี่ยง พวกเขาจะเรียกเก็บเงินจากสหรัฐฯ มากขึ้นในการกู้ยืมเงิน และเนื่องจากการกู้ยืมของรัฐบาลช่วยกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ผลกระทบจะกระจายออกไปยังส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจ ทำให้การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถมีราคาแพงขึ้นสำหรับทุกคน
ขณะนี้เริ่มมีการถกเถียงกันแล้วว่ารัฐบาลจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของการจ่ายดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้หรือไม่ กระนั้น หลายฝ่ายก็เชื่อว่าด้วยศักดิ์ศรีของเจ้าหนี้ และภาระรับผิดชอบในฐานะพี่ใหญ่เศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ ไม่น่าจะเอามาแลกกับปัญหาทางการเมืองภายในของตนเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจเน็ต เยลเลน ยืดอกยอมรับ คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด แต่เชื่อว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
- เจเน็ต เยลเลน เผยแผนกำหนดเพดาน ‘ราคาน้ำมันรัสเซีย’ ได้ผล หลังรัสเซียยอมลดราคาขายล็อตใหญ่ให้ ‘จีน-อินเดีย’
- เจเน็ต เยลเลน ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว พร้อมเชื่อว่ามีวิธีคุมเงินเฟ้อโดยที่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง
อ้างอิง: