เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ทางกระทรวงการคลังได้มีการหารือพูดคุยเพื่อเริ่มใช้มาตรการพิเศษในการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แล้ว หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม ตามเวลาไทย) หนี้สินของประเทศได้พุ่งแตะเพดานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในจดหมายที่เขียนส่งถึง เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกัน เยลเลนได้ระบุว่า ทางกระทรวงฯ จะระงับการลงทุนครั้งใหม่ในกองทุนผู้เกษียณอายุและผู้พิการของข้าราชการ รวมทั้งกองทุนประกันสุขภาพของผู้เกษียณอายุของสำนักงานไปรษณีย์ โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2023
ขณะเดียวกัน เยลเลนยังได้เตือนด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนอย่างมาก หากสภาคองเกรสไม่ทำการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ จากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังได้กล่าววิงวอนต่อบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสให้เร่งจัดการขยายเพดานหนี้เพื่อช่วยให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังจะช่วยให้รัฐบาลกลางสามารถชำระหนี้ได้ถึงต้นเดือนมิถุนายนเท่านั้น พร้อมเตือนให้สภาดำเนินการขยายเพดานหนี้อย่างทันท่วงทีเพื่อเพิ่มหรือระงับวงเงินหนี้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ขณะที่ฟากทำเนียบขาวก็ออกมาเตือนสภาคองเกรสเช่นกันว่า ให้จัดการขยายเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นไปตามที่เยลเลนได้เคยระบุไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะถึงกำหนดตามกฎหมายในวันที่ 19 มกราคม ทำให้หลังจากนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลมีการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Government Accountability Office ซึ่งเป็นสำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด โดยสามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากการขยายเพดานหนี้ และได้มีการขยายเพดานหนี้มาแล้ว 22 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1997-2022
สื่อท้องถิ่นรายงานอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะจัดลำดับความสำคัญของการเจรจาร่างกฎหมายใหม่เพื่อเพิ่มวงเงินหนี้หลังกำหนดเส้นตายภาษีกลางเดือนเมษายนนี้
หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการขอความยินยอมเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้การขยายเพดานหนี้ให้ทันก่อนเงื่อนเวลาในเดือนมิถุนายนมีปัญหา โดยขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนกล่าวว่าต้องการให้ภาครัฐวางแผนตัดลดการใช้จ่าย เพื่อแลกกับการตกลงขยายเพดานกู้ยืมของรัฐบาลกลาง
ขณะที่ ส.ส. จากพรรครีพับลิกันบางคนกล่าวว่า การลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากในโครงการสำคัญของรัฐบาล เช่น Medicare และ Social Security เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาที่ช่วยให้แมคคาร์ธีได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมสายแข็งของพรรครีพับลิกันและคว้าชัยนั่งเก้าประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาแมคคาร์ธีก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการลดการใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมและระบบประกันสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย
ทั้งนี้ แมคคาร์ธีได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ Fox News ว่า การจัดการปัญหานี้ของรัฐบาลไม่ใช่เพียงแค่การขยายวงเงินเพดานหนี้ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่รัฐบาลทุกฝ่ายต้องนั่งลงทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่ายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ก่อนชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในเวลานี้คือการทำให้ประเทศแห่งนี้ล้มละลาย หากไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมเสียตั้งแต่วันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ ส.ส. สมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลตัดลดการใช้จ่ายก่อนการขยายเพดานหนี้
แครีน ฌ็อง ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวในสัปดาห์นี้ว่า ประธานาธิบดีไบเดนขณะนี้ไม่เต็มใจและเห็นด้วยที่จะผูกเงื่อนไขต่างๆ ไว้กับการเจรจาเพื่อขยายเพดาหนี้ในครั้งนี้ โดยระบุว่า ท่าทีและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสที่ฉวยโอกาสบีบบังคับให้รัฐบาลตัดลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุและครอบครัวชนชั้นกลาง ตลอดจนแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ
ฌ็อง ปิแอร์ ย้ำว่า ทางสภาคองเกรสต้องออกมาลงมือทำทันทีและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความเห็นของ ส.ส. พรรคเดโมแครตที่ออกมาแสดงความเห็นว่า ท่าทีของพรรครีพับลิกันจงใจให้เกิดภาวะยืดเยื้อ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วคนที่ต้องแบกรับความเสียหายจากภาวะยืดเยื้อที่เกิดขึ้นคือคนชนชั้นกลางของสหรัฐฯ ที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ โดย ชัค ชูเมอร์ วุฒิสมาชิกกล่าวว่า การยื้อยุดถ่วงเวลาในการขยายเพดาหนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและครอบครัวชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอำนาจบริหารอยู่ในมือของพรรครีพับลิกัน
ทั้งนี้ เพดานหนี้คือการจำกัดระดับหนี้ที่รัฐบาลกลางสามารถรับได้ การขยายเพดาหนี้นี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมต่อไปได้ เพื่อให้บรรลุเป้างบประมาณที่ตั้งไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สหรัฐฯ รายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ที่ 8.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งทันที!
อ้างอิง: