เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงจุดยืนสนับสนุนให้สหรัฐฯ เดินหน้าสานสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับจีนต่อไป แม้จะมีรายงานน่าสงสัยเกี่ยวกับนโยบายการค้าของจีนและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม โดยเยลเลนย้ำชัดว่า การรักษาความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า
ความคิดเห็นและท่าทีดังกล่าวของเยลเลนมีขึ้นขณะที่เจ้าตัวขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อหน้าคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 มิถุนายน) โดยระบุว่า แม้มีข้อกังวลที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่การแยกจากกัน (Decoupling) ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ทำให้ชาวอเมริกัน ‘ได้ประโยชน์อย่างมาก’ จากการซื้อสินค้าราคาถูกที่ผลิตในจีน ขณะที่จีนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันจากการส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยืนกรานอย่างชัดเจนว่า การยุติการค้ากับจีนจะเป็นหายนะครั้งใหญ่
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาผู้นำชาติเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ที่มีการประชุมขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนให้รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนต่อไป
เยลเลนยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าการสานสัมพันธ์การค้ากับจีนเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสม และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ จะแยกประเด็นเรื่องเศรษฐกิจการค้าออกจากประเด็นที่หน่วยงานจีนมีส่วนร่วมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยความเห็นดังกล่าวมีขึ้นต่อการตัดสินใจออกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ข้องแวะกับบริษัทจีนที่สงสัยว่าพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกัน เพื่อรักษาอิทธิพลทางการค้าของสหรัฐฯ ให้ทัดเทียมกับจีน เยลเลนยังออกโรงเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติเงินกู้ยืมแก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถคานอำนาจกับอิทธิพลของจีน
นอกเหนือจากการเพิ่มการให้กู้ยืมแก่โครงการกองทุนการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ แล้ว เยลเลนยังบอกกับฝ่ายนิติบัญญัติว่าฝ่ายบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมในกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชนอื่นๆ เช่น กลุ่ม Inter-American Development Bank และกองทุนเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (African Development Fund)
เยลเลนอธิบายว่า การลงทุนดังกล่าวจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเหล่านั้น ท่ามกลางช่วงเวลาปัจจุบันที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และการให้กู้ยืมแก่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF จะเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจที่สำคัญต่อการให้กู้ยืมที่ไม่โปร่งใสและไม่ยั่งยืนจากผู้อื่นเช่นจีน
ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2008-2021 จีนควักเงินถึง 240,000 ล้านดอลลาร์ให้กับประเทศต่างๆ ผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ซึ่งทำให้มีประเทศอย่างน้อย 22 ประเทศ ตกเป็นลูกหนี้ของจีน โดยรายงานระบุว่า โครงการที่ต้องกู้ยืมเงิน ‘เกือบทั้งหมด’ เป็นโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ Belt and Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ใช้เป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการแสวงหาพันธมิตรกับจีน โดยขณะนี้เส้นทางสายไหมดังกล่าวขยายครอบคลุมถึงอาร์เจนตินา ปากีสถาน เคนยา และตุรกี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายประเทศที่กู้ยืมเงินกับจีนกำลังประสบปัญหาในการชำระคืนเงินกู้ และอาจทำให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ ต้องแบกรับหนี้และความยากจนที่มากขึ้น ซึ่งจีนในขณะนี้ได้ออกโรงเรียกร้องให้ World Bank และ IMF เข้ามาให้ช่วยจัดการ กระนั้นก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับรายละเอียดของเงินกู้ที่เกิดขึ้น
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เยลเลนได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับกิจกรรมบางอย่างที่จีนมีส่วนร่วมในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นการมีส่วนร่วมในลักษณะที่ปล่อยให้ประเทศต่างๆ ติดอยู่ในหนี้สิน และไม่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ ก่อนชี้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อต่อต้านอิทธิพลดังกล่าวในสถาบันระหว่างประเทศทั้งหมดที่สหรัฐฯ เข้าร่วม
รัฐมนตรีคลังหญิงของสหรัฐฯ ยังใช้โอกาสนี้กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาขยายข้อตกลงเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งเยลเลนรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมากที่สภาสหรัฐฯ สามารถดำเนินการเพื่อจัดการกับวงเงินหนี้ได้ทันเวลา พร้อมแนะให้หาแนวทางจัดการกับปัญหาเพดานหนี้ในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
รายงานระบุว่า การพูดคุยเรื่องเพดานหนี้รอบล่าสุดดำเนินไปหลายเดือนก่อนที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะบรรลุข้อตกลงเพื่อระงับวงเงินหนี้เป็นเวลา 2 ปี โดยเยลเลนมองว่า การกระทำในนาทีสุดท้ายดังกล่าว ‘ทำร้ายความเป็นผู้นำระดับโลกและความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในเวทีโลก’
อ้างอิง: