×

ปรากฏการณ์ ‘ยันตระ’ ว่าด้วยการเติบโตและร่วงโรยของอดีตพระผู้โด่งดังแห่งยุค: ภาคแรก

03.11.2021
  • LOADING...
ยันตระ

HIGHLIGHTS

  • หากจะดูเส้นทางการเติบโตและการขึ้นมามีชื่อเสียงของอดีตพระยันตระ ผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างน้อย 2 ชุดความคิดใหญ่ๆ คือ ‘พระที่ดี’ และ ‘พระหล่อ’
  • ซึ่งแน่นอนว่า ‘ความงามหรือความรูปหล่อ’ ดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นลักษณะพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ผู้มีบุญ’ ในวัฒนธรรมความเชื่อแบบพุทธศาสนาไทย

คงจะไม่ถือว่าช้าไป หากผู้เขียนเพิ่งจะมากล่าวถึงกรณี ‘ยันตระ’ หรือ ‘อดีตพระยันตระ อมฺโรภิกขุ’ กับกระแสที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนัก กรณีปรากฏภาพของอดีตพระยันตระที่นุ่งเขียวห่ม ได้รับการกราบไหว้จากพระสงฆ์และฆราวาสผู้ที่ยังคงเคารพนับถือ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่า ‘การไหว้ในครั้งนี้’ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับเหล่าพระสงฆ์ผู้ที่ยังถือครองสมณเพศ แต่กลับไปกราบไหว้อดีตพระที่เคยมีมลทินทางศาสนา

 

ข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอยากจะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปพิเคราะห์ถึงเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นในกรณีของอดีตพระยันตระ เมื่อปี 2535 รวมถึงกรณีอื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงรากของความคิดหรือต้นสายปลายเหตุทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเหตุจากเรื่องพระเหล่านี้โด่งดังขึ้นมาในสังคมไทย และมองถึงเหตุแห่งความอื้อฉาวคาวมลทินที่เกิดขึ้น

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530-2540 จะพบว่า ในช่วงเวลานี้มีเรื่องราวอื้อฉาวระหว่างพระที่มีชื่อเสียงกับสีกาอยู่หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมีเจี๊ยบ (2532) พระนิกร (2534) พระยันตระ (2537) ภาวนาพุทโธ (2538) และพระอิสระมุนี (2544) เป็นต้น ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้มีเส้นเรื่องการเติบโตและจุดจบบางประการที่คล้ายคลึงกัน โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างกรณีของพระยันตระเป็นพิเศษในการพิเคราะห์ในครั้งนี้

 

 

ต้นแบบพระดีที่ต้องการ

หากจะดูเส้นทางการเติบโตและการขึ้นมามีชื่อเสียงของอดีตพระยันตระ ผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างน้อย 2 ชุดความคิดใหญ่ๆ คือ ‘พระที่ดี’ และ ‘พระหล่อ’

 

‘พระที่ดี’ เป็นชุดความคิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่ทว่ากลับถูกสร้างและผลิตซ้ำเพื่อปลูกฝังขึ้นมาพร้อมกับสายธารทางประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วชุดความคิดพระดีถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนมาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องจากอิทธิพลการควบคุมของอำนาจรัฐต่อศาสนา

 

แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีลักษณะของการสร้างและผลิตซ้ำชุดความคิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากอิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่เติบโตและขยายวงกว้างอย่างมหาศาล ดังนั้นปัญหาความมั่นคงของรัฐที่ผูกกับความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตากลายมาเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากแนวคิดคอมมิวนิสต์จะทำลาย 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสน์ และกษัตริย์

 

รัฐไทยจึงพยายามปกป้องศาสนาจากการถูกโจมตีจากภายนอก ไม่เพียงเท่านั้นยังกระตุ้นให้มีการควบคุมพระสงฆ์ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะมองว่าหากพระประพฤติเสื่อมเสียจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตศรัทธาต่อพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแกนสำคัญหนึ่งที่เชื่อมโยงอุดมการณ์ความเป็นชาติที่มั่นคง

 

ความพยายามของรัฐที่จะปกป้องศาสนาและควบคุมพฤติกรรมของพระสงฆ์ คือการสร้างและผลิตซ้ำชุดความคิดว่าด้วย ‘พระที่ดี’ ให้กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นตัวแทนที่เป็นแม่แบบของพระสงฆ์ที่ดีที่รัฐต้องการคือกลุ่มพระสงฆ์สายพระป่าธรรมยุติอีสาน คือพระป่าสายหลวงปู่มั่นที่เติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 2510-2520

 

กลับมาที่อดีตพระยันตระ อมฺโรภิกขุ หรือชื่อเดิมคือ วินัย ละอองสุวรรณ เป็นอดีตภิกษุชื่อดังชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องกล่าวว่ายันตระเติบโตมาในกระแสธารความคิดนี้เช่นกัน โดยเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นนักบวชด้วยการปฏิบัติตนเป็นฤาษี ภายหลังเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้เรียกตัวเองว่า พระยันตระ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส

 

แนวปฏิบัติของพระยันตระสอดคล้องไปกับแนวคิดพระที่ดีที่ถูกผลิตสร้างโดยรัฐได้ คำสอนหลักของเขาคือเน้นแนวทางปฏิบัติกรรมฐานไม่ต่างจากพระธรรมยุติสายป่า ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการศาสนาว่าถูกต้องตามหลักพระไตรปิฎก จนทำให้มีญาติโยมทั้งในไทยและต่างประเทศนับถือจำนวนมาก เพราะเลื่อมใสในคำสอน คำสอนต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมถึงได้รับนิมนต์ไปเทศนาที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้

 

รูปงาม นามไพเราะ พระสงฆ์ในอุดมคติชาวพุทธไทย

อีกปัจจัยหนึ่งนอกจากลักษณะของการเป็น ‘พระดีที่ต้องการ’ แล้วนั้น อีกชุดความคิดหนึ่งคือเรื่อง ‘ความงาม’ ความงามในที่นี้ไม่ได้หมายถึงงามแบบผู้หญิงงาม แต่หมายถึงความงามที่ท่าทาง งามผิวพรรณวรรณะ และงามน้ำเสียง พระพยอมกล่าวชัดว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา อดีตพระยันตระมีชื่อเสียงโด่งดังมากถึงขนาด

 

ที่มีคนเตรียมของใส่บาตรรอวนรอบที่สองที่สาม เพราะใครๆ ก็อยากเห็นอยากเจอตัว ‘พระที่รูปหล่อ เสียงเพราะ พูดภาษาอังกฤษได้’ จนวัดแทบแตก

 

ซึ่งแน่นอนว่า ‘ความงามหรือความรูปหล่อ’ ดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นลักษณะพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ผู้มีบุญ’ ในวัฒนธรรมความเชื่อแบบพุทธศาสนาไทย โดยความเชื่อนี้จะควบคู่มากับแนวคิดเรื่องบุญและการสั่งสมบุญ ดังนั้นผู้ใดที่มีลักษณะหน้าตาดี ผิวพรรณสดใส มีน้ำเสียงที่ไพเราะและทรงพลัง จึงเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่กระทำบุญหรือสร้างบุญกุศลมามหาศาลในอดีตชาติ

 

บุญกุศลเหล่านั้นจึงสะท้อนมาที่รูปลักษณ์ที่หล่อเหลาสวยงาม และรูปลักษณ์นี้เองก็เป็นเหมือนหลักฐานเชิงประจักษ์ (ตามความเชื่อ) ว่าพระยันตระคือ ‘ผู้มีบุญ’, ผู้คนจึงแสวงหาเพื่อหวังจะได้ร่วมสร้างบุญกับผู้มีบุญด้วย และเช่นกันก็เชื่อกันว่าหากได้ร่วมบุญกับผู้มากด้วยบุญบารมีก็จะยิ่งทำให้ผู้ร่วมบุญได้บุญกุศลมากกว่าการทำบุญกับพระทั่วไป

 

ดังนั้นเมื่อ 2 ปัจจัยนี้มาผสานกันอย่างลงตัว รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ในยุคนั้นเริ่มมีมากขึ้น การสื่อสารไม่ว่าจะทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร วารสารต่างๆ จำนวนมากๆ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่ผลักดันให้พระยันตระก้าวขึ้นมาเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุคด้วยเช่นกัน ซึ่งพูดให้เห็นภาพก็คงไม่ต่างจาก พส. ที่โด่งดังในโลกออนไลน์

 

นี่คือจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นมีชื่อเสียงโด่งดังของอดีตพระยันตระ จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างล้นหลาม แต่ทว่าในความโด่งดังขั้นสุดของอดีตพระยันตระ สิ่งที่ขยี้อดีตพระยันตระจนแหลกไม่มีชิ้นดีนั้นก็คือแนวความเชื่อทางศาสนาที่เป็นตัวสร้างพระยันตระขึ้นมานั่นเอง 

 

บทความหลังจากนี้ผู้เขียนจะพิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ปัจจัย 2 ประการข้างต้นที่เคยเป็นแรงผลักดันให้อดีตยันตระโด่งดังนั้น ทำให้อดีตพระยันตระตกต่ำไปจนถึงโดนคดี ถูกขับให้ออกจากความเป็นสงฆ์จนต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างไร แผนนารีพิฆาตเป็นอย่างไร และทำไมหลายคนยังคงเคารพนับถืออดีตพระยันตระอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

ภาพ: เฟซบุ๊ก ยันตระ แห่งสุญญตาราม

อ้างอิง:

  • ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ไทยปิฎก ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนา, Illuminations Editons: กรุงเทพฯ, 2562.
  • เปิดประวัติ “อดีตพระยันตระ” ก่อนดราม่าพระสงฆ์กราบไว้, Workpoint today
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X