วันนี้ (6 พฤษภาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการตรวจตัวอย่างเพื่อหาโควิด-19 ของประชาชนในจังหวัดยะลาจำนวน 40 ราย ครั้งที่ 3 พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดถูกส่งมาตรวจในห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อคืนวันที่ 5 พฤษภาคม ขณะนี้ทราบผลทางห้องปฏิบัติการว่า ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ หลังผลการตรวจสอบ 2 ครั้ง ที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ให้ผลไม่ตรงกัน ขั้นตอนจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรายงานไปยังสาธารณสุขจังหวัดยะลาให้ได้รับทราบผลอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังกล่าวอีกว่า จากการส่งทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อตรวจสอบสาเหตุในสถานที่ปฏิบัติงานจริง ไม่พบความผิดพลาดที่เป็นประเด็นสำคัญ (Major Error) ซึ่งระหว่างนี้ได้มอบนโยบายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา รับหน้าที่ตรวจยืนยันผลอีกทางหนึ่ง เนื่องจากห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลศูนย์ยะลามีภาระงานที่ค่อนข้างมากจากนโยบายการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน ทำให้ต้องตรวจตัวอย่างเชื้อจำนวน 700-800 ตัวอย่างต่อวัน โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตรวจไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่าง ถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการขนาดเล็กที่มีปริมาณงานมากที่สุดในประเทศ
“ต้องชื่นชมความทุ่มเทในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในจังหวัดยะลา ที่ได้ดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุก ยิ่งทำให้จำนวนตัวอย่างเพิ่มขึ้นมาก ขณะนี้ได้เสริมอุปกรณ์เพื่อรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาแล้ว พร้อมเร่งจัดตั้งห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์และโรงพยาบาลปัตตานีเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายภาระงานให้ครอบคลุมการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อรายใหม่มีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อการควบคุมและรักษาโรคให้ได้มากที่สุด” นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนประเด็นการคิดค้นวัคซีนสู้โรคโควิด-19 นพ.โอภาส ระบุว่า ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเร่งคิดค้นอยู่ โดยล่าสุดได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดค้นวัคซีนขึ้นมาทดลองกับหนู โดยผลการทดลองพบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ร่างกายและเลือดมีผลดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ แม้จะเป็นข่าวดีเล็กๆ แต่เชื่อว่าจะสามารถเร่งพัฒนาและผลิตเป็นวัคซีนได้
“หลังจากนี้จะมีการฉีดวัคซีนหลายรูปแบบในสัตว์ทดลอง และจะเอาเลือดมาตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่า แอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพและได้ขนาดกับรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นข่าวดีเรื่องหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นความสำเร็จในก้าวเล็กๆ ที่ในอนาคตเราเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาวัคซีนให้ออกมามีผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยก็มีศักยภาพในการคิดค้นเช่นกัน” นพ.โอภาส กล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล