‘ยาคูลท์’ นมรสเปรี้ยวขวดจิ๋วกับซีลปากขวดสีฟ้าๆ น้ำเงินๆ นับเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นเคยมานาน แม้จะผ่านไปกี่ปี ความคลาสสิกของยาคูลท์ก็ยังคงเป็นที่พูดถึง (เช่นเดียวกับขนาดที่เป็นน้องเล็กเมื่อเทียบกับบีทาเก้น) แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้คนฝั่งอเมริกาแห่กว้านซื้อ ‘ยาคูลท์’ นมเปรี้ยวขวดมินินี้จนน่าแปลกใจ
บริษัท Yakult Honsha ผู้ผลิตยาคูลท์จากประเทศญี่ปุ่น พบว่าแม้ผลิตภัณฑ์จะไปโผล่บนหน้าจอด้วยความบังเอิญหรือผิดพลาด แต่กลับส่งผลกับยอดขายอย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อ คิตตี้ น้องสาวของ ลาร่า จีน ยื่นขวดยาคูลท์จิ๋วให้กับ ปีเตอร์ คาวินสกี โดยบอกว่าเป็น ‘สมูทตี้โยเกิร์ตจากเกาหลี’ ใน To All the Boys I’ve Loved Before ซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้เรื่องล่าสุดจาก Netflix ยาคูลท์ก็ถูกกล่าวถึงผ่านทางทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และแม้ยาคูลท์จะไม่ใช่สมูทตี้จากเกาหลีแบบที่คิตตี้พูดในฉาก แต่ฟอยล์สีแดงสดที่ปิดปากขวด (ต่างกับบ้านเราที่เป็นสีฟ้า) กลับโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนทำให้ผู้ชมรู้ว่าแท้จริงแล้วคือยาคูลท์ แม้จะไม่มีการกล่าวถึงใดๆ ว่ามาจากญี่ปุ่นหรือพูดชื่อแบรนด์
คำค้นหาที่เกี่ยวกับยาคูลท์ถูกกล่าวถึงถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่ Netflix เปิดตัวซีรีส์เรื่องดังกล่าว จนส่งผลให้คนหันมาซื้อนมเปรี้ยวจิ๋ว (ที่คนไทยทุกคนก็รู้ว่ามีแลคโตบาซิลลัส) ไปลองดื่มกัน จนหุ้นที่เคยตกลง 6% จากยอดขายที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงปีที่ผ่านมากระเตื้องขึ้นถึง 2.6% ตั้งแต่ซีรีส์ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา พลังเรื่องราวรอมคอมของวัยรุ่นช่วยให้แบรนด์เติบโตสูงที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม
Yakult Shortage never happened in an Asian Country before, as far as I know. But today, my fave dairy drink is sold out in two stores. I blame you Peter K! 😂✌ #ToAllTheBoysIveLovedBefore @Netflix_PH @NetflixAsia @netflix pic.twitter.com/sGLvTEWS7D
— ALY アリー (@FangurlAly) August 22, 2018
มาร์ค บักมาน (Mark Bachman) ผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้านความสัมพันธ์ระหว่างโซเชียลมีเดียและผลการปฏิบัติงานของบริษัทจาก M Science’s TickerTags เผยกับ Bloomberg ว่า “เมื่อมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผลพลอยได้จึงตกอยู่ที่แบรนด์ยาคูลท์ที่ทำให้คนรู้จักเพิ่มขึ้น ทำให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น”
ยาคูลท์นั้นเป็นแบรนด์นมเปรี้ยวโปรไบโอติกส์เกิดจากกระบวนการหมักของนมพร่องมันเนยกับน้ำตาลและแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus casei Shirota) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในระบบดูดซึมอาหารของมนุษย์ เชื่อว่าส่งผลให้ระบบในร่างกายของมนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น โดยก่อตั้งขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1935 และเริ่มจัดจำหน่ายในไทยเมื่อปี 1971 และปี 1999 ในสหรัฐอเมริกา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีรีส์จาก Netflix ทำให้สินค้าขายดี เมื่อปลายปี 2017 ซีรีส์ระทึกขวัญอย่าง Strangers Things ก็ทำเอา Eggo แบรนด์วาฟเฟิลขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอย่างไม่ได้ตั้งใจมาแล้วเช่นกัน
อาหารประเภทใดจะฮอตฮิตติดตลาดจากซีรีส์ดังเรื่องต่อไป ต้องคอยติดตาม
แต่ตอนนี้ถาม (หา) สาวยาคูลท์สิคะ
ภาพ: Courtesy of Netflix, Official Yakult Website
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง