1 มีนาคม กลายเป็นวันที่หลายแบรนด์ใช้เป็นวันที่ปรับราคาขายใหม่รวมไปถึงนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยาคูลท์ ที่ได้แจ้งปรับราคาครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยเพิ่มราคาขายปลีกอีก ‘1 บาทต่อขวด’
“ต้นทุนในการผลิตนมเปรี้ยวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยาคูลท์มีความจำเป็นต้องขอปรับราคาจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อขวด” เป็นเหตุผลที่ยาคูลท์แจ้งให้แก่ลูกค้าทราบ
อย่างไรก็ตามไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ขึ้นราคา อย่างในญี่ปุ่นเองผลพวงเงินเฟ้อทำอาหารและเครื่องดื่มแห่ขึ้นราคา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าที่ถูกลง แต่ ‘ยาคูลท์’ กลับเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยอมจ่ายแม้ขึ้นราคา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตรึงราคาไม่ไหว! ‘ลีโอ’ ขึ้นราคา 1-1.5 บาทต่อขวด ส่วน ‘ช้าง’ เพิ่มขวดแก้วอีก 1 บาท ฟากน้ำตาลกำลังจะขึ้น หวั่นทำสินค้าอื่นๆ ขยับตัวตามอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
- ภาวะเงินเฟ้อรุมเร้าญี่ปุ่น ผู้บริโภคซื้อสินค้าถูกลง สวนทาง ผงชูรส-ยาคูลท์-กาแฟ แม้ขึ้นราคาแต่ลูกค้ายอมจ่าย
- หมดปัญหามองหาสาวยาคูลท์ไม่เจอ ยาคูลท์เปิดขายออนไลน์ ส่งตรงถึงหน้าบ้านแล้ว
ข้อมูลจาก UTokyo Economic Consulting และ Nikkei ยาคูลท์มีรายได้เติบโตขึ้น หลังจากสินค้ายาคูลท์ Y1000 ราคาขวดละ 150 เยน (38.4 บาท) เน้นจุดขายด้านลดความเครียดและช่วยในการนอนหลับ กลายเป็นสินค้ายอดฮิตและขาดตลาด แม้ว่าราคาจะสูงกว่ายาคูลท์สูตรปกติเกือบ 2 เท่า
Mitsuteru Komiyama หัวหน้าฝ่ายการตลาดของยาคูลท์บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ยาคูลท์ประสบความสำเร็จ ต้องยกให้สาวยาคูลท์ที่เดินสายส่งและขายยาคูลท์ตามบ้านเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับการสร้างการรับรู้จนแบรนด์ติดตลาด
สำหรับในไทยสิ่งที่ต้องจับตาคือสินค้าอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้ มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี ได้เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สิ่งที่ต้องโฟกัสขณะนี้คือราคาน้ำตาลทรายที่กำลังจะปรับขึ้นอีกระลอก เพราะน้ำตาลเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าขนส่ง
ต้นทุนดังกล่าวนับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ปรับขึ้นราคาอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนี้มีสินค้าที่เตรียมขึ้นราคาหลายรายการ เช่น กลุ่มนมยูเอชที นมผง และเนสกาแฟกระป๋อง
“การขึ้นราคาก็มีความท้าทาย หากย้อนไปในช่วงปลายปี 2565 สินค้าต่างๆ ประกาศขึ้นราคาพร้อมกันหลายเจ้า แต่ปรากฏว่าขายได้น้อยลง ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า จึงเพิ่มงบการตลาดหันมาจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภค”