แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง แต่ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ยังเติบโต! เมื่อไตรมาส 2 ของปี 2567 พบยอดจัดตั้งธุรกิจ 4 เดือน ทะลุ 31,000 ราย
โดยธุรกิจบันเทิงและโฆษณาขยายตัวจากกระแสซีรีส์วายของหลายๆ ค่ายที่แตกไลน์ธุรกิจคึกคัก คาดว่าปีนี้น่าจะเป็นปีทอง ขึ้นแท่นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของปีนี้!
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน 2567 พบว่ามีถึง 6,530 ราย ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดของเดือนเมษายนในทุกๆ ปี นับตั้งแต่เปิดให้บริการจดทะเบียนมา 101 ปี
โดยเพิ่มขึ้น 489 ราย หรือ 8.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 6,373 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 30.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 10 อันดับ ‘ทุนต่างชาติ’ ที่ขนเงินลงทุนเข้าไทยมากที่สุด ธุรกิจอะไรที่มาแรง
- “ผมขอเวลา 6 เดือน ผมหวังว่าจะเปลี่ยนใจพวกเขาได้” ถอดบทสนทนาตอนหนึ่งของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กับความในใจ…ทำไมไทยยังตามหลังเวียดนาม?
ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนว่าตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไตรมาสที่ 2 นั้นสูงกว่าในปีที่ผ่านมา จากมีสัญญาณที่ดีทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ
โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
ซีรีส์วายไทย อุตสาหกรรมดาวรุ่ง
ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้านความบันเทิง คือธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา ในเดือนเมษายน 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 106 ราย และมีแนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ตามการเติบโตของสื่อดิจิทัลและธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลมีถึง 56 ราย เพิ่มขึ้น 12% ด้วยทุนจดทะเบียน 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 146.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่มีการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยช่วง 3 ปี (2563-2565) มีรายได้รวม 33,009.84 ล้านบาท
โดยเฉพาะซีรีส์วาย ที่สามารถสร้างกำไรและเม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา ธุรกิจจัดกิจกรรม (Event) และธุรกิจท่องเที่ยว
“อุตสาหกรรมที่มาแรงในขณะนี้คือซีรีส์วาย ซึ่งวันนี้จะไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตละครหรือภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความสำคัญและมูลค่าให้กับธุรกิจอื่นๆ ตามมา เช่น เมื่อดูซีรีส์จบแต่ธุรกิจยังไม่จบแค่นั้น ยังสามารถสร้างมูลค่าต่อเนื่องจากนักแสดงกลายเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีอิทธิพลทางความคิดของแฟนคลับ” อรมนกล่าว
นอกจากนี้น่าสนใจว่าธุรกิจจัดกิจกรรม Fan Meeting เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นต่อไปอีก ทั้งธุรกิจให้บริการสถานที่จัดงาน ธุรกิจรับจัดงานแสดง ธุรกิจผลิตของชำร่วย การตามรอยสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เพลงประกอบซีรีส์ มากไปกว่านั้นธุรกิจโฆษณาที่แฝงไปกับซีรีส์ก็ยังได้รับอานิสงส์ดีทำให้ธุรกิจโตตามไปด้วยยอดจดทะเบียน 4 เดือนแรกคึกคัก
สำหรับยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 4 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 31,533 ราย แม้จะลดลงเล็กน้อย 2.14% และทุนจดทะเบียนรวม 95,212 ล้านบาท ลดลง 73.59% แต่มาจากในปีที่แล้วที่มีการควบรวมกิจการของบริษัทที่มีมูลค่าทุนเกิน 100,000 ล้านบาท ปีนี้ยังคาดว่าตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 44,000-47,000 ราย
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 810 ราย ลดลง 126 ราย หรือ 13.46% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566
โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกสะสม 4 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-เมษายน 2567) รวม 3,619 ราย ลดลง 585 ราย หรือ 13.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งผลให้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,908,768 ราย
‘ญี่ปุ่น’ แชมป์ลงทุนในไทย
ส่วนการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 75 ราย เพิ่ม 7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
“ส่งผลให้ 4 เดือนแรกมีนักลงทุนต่างชาติรวม 253 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 36 ราย หรือ 17% รวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท” อรมนกล่าวทิ้งท้าย