เมื่อวันที่ 19-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรือวิจัยตัดน้ำแข็งขั้วโลกเสวี่ยหลง 2 (Xuelong 2) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเทียบท่า ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจในทวีปแอนตาร์กติกา
การเดินทางมาไทยในหนนี้ ถือเป็นครั้งแรกของเรือ Xuelong 2 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และในวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ของปีนี้
Xiao Zhi Min ผู้บังคับการเรือ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “Xuelong 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และเป็นลำแรกที่มีการสร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ โดยในการเดินเรือครั้งนี้ได้พบกับสภาพภูมิอากาศที่มีความท้าทายมาก แต่ตัวเรือก็มีศักยภาพที่จะตัดทะลุน้ำแข็ง ด้วยหัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษเพื่อชนและไต่ขึ้นเหนือแผ่นน้ำแข็ง สร้างแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็งเพื่อให้เรือตัดผ่านและเคลื่อนที่ต่อไป จนสามารถบรรลุภารกิจด้านต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ได้”
เรือวิจัยลำนี้ มีความยาวรวม 122.5 เมตร และมีพื้นที่ใช้สอยรวม 9 ชั้น รองรับลูกเรือและนักวิจัยได้สูงสุด 90 คน แบ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัย พร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวมพื้นที่กว่า 580 ตารางเมตร สำหรับการวิจัยและทดลองด้านต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือรองรับการเก็บตัวอย่างน้ำจากใต้ทะเล และวิเคราะห์ผลด้านจุลชีววิทยาและเคมีโดยเบื้องต้นได้ระหว่างเดินทาง
ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเดินทางไปกับเรือ Xuelong 2 ให้สัมภาษณ์ว่า “ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาด้านสภาพสิ่งแวดล้อม ตรวจหา Microplastic จากตัวอย่างน้ำ เพื่อดูว่าทะเลในเขตขั้วโลกใต้ยังบริสุทธิ์อยู่หรือไม่” โดยได้เริ่มกระบวนการเก็บตัวอย่างจากนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ของประเทศนิวซีแลนด์ ไปจนบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา ผ่านการใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างบนเรือวิจัย เพื่อนำตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดูระดับการปนเปื้อน Microplastic ของสภาพแวดล้อมในบริเวณขั้วโลกใต้ จากระดับความลึกที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ดร.อุดมศักดิ์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติงานบนเรือว่า “ทุกคนบนเรือเราเป็นพี่น้องทำงานร่วมกัน ดูแลกันเป็นอย่างดี ผมตื่นเต้นในเรื่องของการวิจัยที่สุด เพราะตั้งแต่เกิดมาผมอยู่แต่เขตร้อน ไม่เคยไปเขตหนาว การวิจัยในแอนตาร์กติกาต้องเจอกับอุณหภูมิติดลบ และลมความเร็วสูงกว่า 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” โดยมีความท้าทายในด้านอากาศที่หนาวและแห้ง ทำให้เหนื่อยง่าย และร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ”
ในวันเดียวกัน Li Wenming หัวหน้าวิศวกรเรือ พร้อมกับ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์ไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ ได้พาสื่อมวลชนเดินทางเยี่ยมชมส่วนต่าง ๆ ของเรือ Xuelong 2 โดย Li Wenming เปิดเผยว่า “ระบบต่าง ๆ บนเรือได้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นภายในประเทศ รวมถึงระบบนำทางที่มีการใช้เครือข่าย BeiDou โดยหน่วยงานอวกาศของจีนเป็นหลัก ควบคู่กับระบบนำทางสากล” พร้อมกับพาชมสะพานเดินเรือ ห้องวิจัย และบริเวณที่ใช้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1993 โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมเรือ Xuelong 2 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการส่งนักวิจัยไปปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดย ศ.ดร.สุชนา ให้ข้อมูลว่า “นักวิจัยที่ได้เดินทางไปประเทศจีน ต้องผ่านเกณฑ์คัดเลือกที่เข้มงวด ทั้งด้านประโยชน์เชิงวิชาการ ความสอดคล้องกับธีมงานวิจัยของจีน ณ ตอนนั้น เช่นเดียวกับความพร้อมทางร่างกายและจิตใจระหว่างต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นเป็นระยะเวลานานหลายเดือน”
ทั้งนี้ ศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกากับคณะสำรวจจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2009 ก่อนเดินทางไปกับคณะของจีนในครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2025 โดยมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในละแวกโดยรอบของทวีปแอนตาร์กติกา อาทิ ประชากรนกเพนกวินลดลง หรือการพบพยาธิในตัวปลาเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในปัจจุบันมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง ณ บริเวณทวีปแอนตาร์กติกา โดยนอกจากงานด้านสมุทรศาสตร์ ยังมีด้านธรณีวิทยาและฟอสซิล ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ อันได้แก่ การศึกษารังสีคอสมิกและนิวทริโน โดยมี รศ.ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไปปฏิบัติภารกิจด้านวิศวกรรมของหอดูดาว IceCube สำหรับสำรวจอนุภาคนิวทริโน ในบริเวณขั้วโลกใต้
แม้เรือ Xuelong 2 จะออกเดินทางจากท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อมุ่งหน้ากลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่เรียบร้อย แต่สำหรับผู้ที่สนใจ ยังมีการจัดนิทรรศการ ‘Xuelong 2 and See the Unseen in Polar Region’ โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นแหล่งความรู้และแรงบันดาลใจของผู้สนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ ณ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม