Xiaomi ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีน เชื่อว่าพวกเขาได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมจ่ายเงินสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คันใหม่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
“เราคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเราในตลาดรถยนต์ระดับพรีเมียม เพราะเรามีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ในจีนอยู่แล้วกว่า 20 ล้านคน” Lu Weibing ประธานของ Xiaomi Group กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ก่อนการเปิดตัวรถยนต์ EV ในงาน Mobile World Congress (MWC) ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ฉีกทุกกฎของการสร้างรถ! Xiaomi ใช้เวลาเพียง 2 ปีเข็น ‘SU7’ น้องใหม่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ (กำลัง) ทำให้ยักษ์ใหญ่สะเทือน
- Xiaomi เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก SU7 โดยมุ่งสร้าง ‘รถยนต์ในฝัน’ ที่สามารถแข่งขันกับ Porsche และ Tesla ฟากซีอีโอย้ำ แม้ราคาสูงแต่คุ้มค่าแน่นอน!
- ความทะเยอทะยานของ Xiaomi ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ได้รับแรงบันดาลใจจาก สตีฟ จ็อบส์ โดยประกาศความพร้อมที่จะท้าชน Tesla
“ผมคิดว่าการซื้อในช่วงแรกจะมาจากกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนของเราเป็นส่วนใหญ่”
Xiaomi พิจารณาตั้งราคา EV ของพวกเขาในระดับต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ราคาประหยัดไปจนถึงระดับหรู โดยได้ทุ่มเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) ในการพัฒนา EV
เปิดตัวรถครั้งแรกในจีน ก่อนลุยตลาดโลก
Xiaomi ได้เผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น SU7 ในจีนเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2023 แต่ยังไม่ได้ประกาศราคาอย่างเป็นทางการ โดย Lu ระบุว่าจะมีการประกาศราคาอย่างเป็นทางการ ‘เร็วๆ นี้’ และการจัดส่งรถในตลาดจีนจะเริ่มเร็วที่สุดในไตรมาส 2 ของปีนี้
Xiaomi ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่งเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ทโฟน โดยอยู่อันดับ 3 ของโลกด้านยอดขาย รองจาก Apple และ Samsung
ข้อมูลจาก Canalys บริษัทวิเคราะห์ตลาดเทคโนโลยีระบุว่า ในปี 2023 Xiaomi ครองส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 13% และจัดส่งโทรศัพท์ได้ 146.4 ล้านเครื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Xiaomi ยังได้ขยายตลาดไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงทีวี ซึ่งสามารถควบคุมด้วยสมาร์ทโฟนและมักจะมาพร้อมดีไซน์สีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของ Xiaomi มาจากสมาร์ทโฟน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอื่นๆ มีสัดส่วนอยู่ที่ 30%
สงครามราคา EV และกลยุทธ์ของ Xiaomi
Xiaomi เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตสินค้าราคาประหยัด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าหรูที่วางตัวเป็นคู่แข่ง Porsche ในตลาดที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง BYD ยังแข่งขันกันด้วยการตัดราคาหรือไม่
Lu กล่าวย้ำว่าแนวทางของ Xiaomi อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาระบบ Ecosystem เช่นเดียวกับกลยุทธ์ ‘Premiumization’ ของสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวในปี 2020 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
กระนั้นปัจจัยความสำเร็จของ Huawei สร้างความท้าทายให้กับ Xiaomi เนื่องจากสมาร์ทโฟนยอดนิยมอย่าง Mate 60 Pro ของ Huawei นั้นวางราคาอยู่ระหว่าง Xiaomi 14 Pro และ iPhone 15 Pro
จุดนี้เองทำให้ Huawei ขึ้นแท่นเป็นผู้นำสมาร์ทโฟนของจีนเหนือกว่า Xiaomi ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
ระบบ Ecosystem และ AI
Xiaomi ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ที่ชื่อว่า HyperOS โดยมีจุดเด่นคือใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อปรับแต่งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ เช่น ระบบไฟภายในบ้าน ซึ่งบริษัทเรียกกลยุทธ์นี้ว่า ‘Human x Car x Home’
นอกจากนี้ Xiaomi ยังมองถึงการที่อุปกรณ์สมาร์ทต่างๆ สามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้ใช้และตอบสนองได้อย่างตรงจุดในอนาคต
การใช้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ (หลายแสนล้านบาท) ในการพัฒนาระบบและตัวรถเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ Xiaomi ในการเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะมีการแข่งขันมากยิ่งขึ้นในอนาคต
Lu ประเมินว่าตลาด EV ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าจะคล้ายกับตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน คือ 5 แบรนด์ชั้นนำจะครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70%
แผนการในอนาคต
หลังจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรก ขั้นตอนต่อไปสำหรับ Xiaomi คือการสร้างโรงงานของตัวเองและผลิตชิ้นส่วนสำคัญภายในองค์กรเอง
และเช่นเดียวกับบริษัทจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ Xiaomi กำลังมองหาการเติบโตในตลาดต่างประเทศ เพราะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา 40-50% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทนั้นมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและอินเดีย
ถึงอย่างนั้น Lu ก็ยอมรับว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองทำให้ Xiaomi เผชิญกับความยากในการออกไปสู่ตลาดโลก แต่เชื่อว่าบริษัทสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้ด้วยการสร้างขีดความสามารถของตัวเอง
ส่วนกำหนดการที่จะเห็นรถยนต์ EV ของ Xiaomi ในตลาดต่างประเทศยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ Lu ระบุว่าโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
ภาพ: Courtesy of Xiaomi
อ้างอิง: