×

จับตา สีจิ้นผิง ประกาศมติสำคัญในรอบ 40 ปี ปูทางปกครองจีนตลอดชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2021
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ในประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชายเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยเขียนสิ่งที่เรียกว่า ‘มติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ (Resolution on CPC History) ซึ่งขณะนี้ทั่วโลก และแม้แต่ในประเทศจีนเอง ต่างกำลังรอดูว่า สีจิ้นผิง จะกลายเป็นคนที่ 3 หรือไม่ เพราะมติดังกล่าวอาจปูทางให้สีปกครองประเทศต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด

 

การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 8-11 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 (6th Plenum) ถูกจับตาเป็นอย่างมากว่า สีจิ้นผิง จะประกาศ ‘มติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ หรือไม่ ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริง ก็จะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยมติดังกล่าวไม่เพียงจะยกสถานะของ สีจิ้นผิง ให้เทียบเท่า เหมาเจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำจีนต่อจากประธานเหมาเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย

 

การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 คืออะไร?

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีกำหนดจัดประชุมใหญ่ (Party Congress) ทุกๆ 5 ปี ซึ่งในระหว่าง 5 ปีนั้น คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประชุมกัน 7 ครั้ง การประชุมเหล่านี้ เรียกว่า Plenum หรือการประชุมเต็มคณะ ซึ่งจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ โดยนักการเมืองชายประมาณ 400 คน (และนักการเมืองหญิงไม่กี่คน) ตลอดจนแกนนำของรัฐ ผู้บัญชาการทหาร ผู้ว่าการมณฑล และนักวิชาการชั้นนำ จะมาประชุมร่วมกันที่โรงแรมทหารในกรุงปักกิ่งที่มีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา ซึ่งวาระการประชุมจะเป็นความลับสุดยอด และจะได้รับการเปิดเผยในแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมเท่านั้น

 

การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 มีความสำคัญมากกว่าการประชุมครั้งอื่นๆ ในบางด้าน เพราะจะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับการเจรจาต่อรองทางการเมืองก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆ ในการประชุมใหญ่ของพรรคในปีถัดไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการ เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ทบทวนร่างมติว่าด้วย ‘ความสำเร็จที่สำคัญและประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรค’ สำนักข่าว Xinhua ของทางการจีนรายงาน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

 

ถ้อยคำดังกล่าวสร้างความตกตะลึง เพราะทำให้หลายคนหวนนึกถึงการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 เมื่อปี 1981 ซึ่งในครานั้น เติ้งเสี่ยวผิง ได้ประกาศ ‘มติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ ซึ่งประณามนโยบายก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward) และการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ของเหมาเจ๋อตุง ที่ทำให้ประชาชนอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในการประชุมเต็มคณะเมื่อปี 2016 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศให้สีจิ้นผิงมีสถานะเป็นผู้นำ ‘แกนหลัก’ (Core Leader) ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นคำที่สงวนไว้สำหรับเติ้งเสี่ยวผิง เหมาเจ๋อตุง และเจียงเจ๋อหมินเท่านั้น โดยสื่อความหมายถึงผู้นำที่เป็นแกนของพรรคและของประเทศ ที่มีอำนาจโดยพฤตินัยในการยับยั้งการตัดสินใจที่สำคัญๆ

 

มติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน คืออะไร?

เมื่อครั้งที่ประธานเหมาเผยแพร่มติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1945 นั้น จีนยังไม่ได้สถาปนาประเทศเป็น ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ (การสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดขึ้นในปี 1949) 

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนกำลังตกอยู่ในสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเหมาเจ๋อตงกับ เจียงไคเชก แต่เมื่อเอกสารชื่อ ‘Resolution on Certain Questions in the History of Our Party’ ถูกเผยแพร่ ความไม่แน่นอนทั้งหมดก็ยุติลง โดยมติดังกล่าวระบุว่ามีเพียงเหมาเจ๋อตุงเท่านั้นที่มีเส้นทางการเมืองที่ถูกต้องในการนำพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมปูทางให้ประธานเหมาปกครองจีนภายใต้ ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ (Personality Cult) เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ

 

ขณะที่ในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงนั้น เขาได้เผยแพร่เอกสารมติในปี 1981 ซึ่งในตอนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเผชิญกับการแย่งชิงอำนาจอีกครั้งภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตุงเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น ในเอกสารดังกล่าว เติ้งได้ประณามการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา แต่ก็ไม่ถึงกับทำลายชื่อเสียงของอดีตผู้นำไปเสียทั้งหมด รวมทั้งไม่ได้ทำให้พรรคเสื่อมเสีย ขณะเดียวกันมติดังกล่าวทำให้เติ้งสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำพรรคและผู้นำประเทศ ในฐานะชายผู้มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพาจีนไปข้างหน้า

 

ในเอกสารดังกล่าวนั้น เติ้งได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และแบน ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ อู๋กั๋วกวง ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรียในแคนาดา กล่าวว่า มติดังกล่าวทำให้เกิดระบบที่การตัดสินใจเป็นของชนชั้นสูง และเป็นการให้สัตยาบันในเอกสาร ไม่ใช่กฎหมาย

 

“การเขียนเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนถือเป็นกระบวนการสร้างฉันทามติภายในชนชั้นสูงของพรรค” อู๋กล่าว และเผยว่าเติ้งตรวจสอบความคิดเห็นของกลุ่มแกนนำพรรคมากกว่า 4,000 คนที่มีต่อมติของเขาอย่างละเอียด 

 

ทั้งนี้แม้มีรายงานจากสื่อของรัฐบาลจีนว่า สีจิ้นผิงกำลังนำเสนอมติของเขาต่อบุคคลสำคัญนอกพรรค แต่อู๋ฟันธงว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้นำจีนก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมมติขั้นสุดท้ายเสมอ “สีจิ้นผิงครอบงำกระบวนการเขียนมติฉบับที่ 3 นี้อย่างแน่นอน” 

 

สีจิ้นผิงจะบอกอะไร?

จากรายงานต่างๆ ของสื่อทางการจีน Bloomberg ได้วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่สีจิ้นผิงจะเขียนเรื่องราวบอกเล่าศตวรรษแห่งความสำเร็จ กลบเกลื่อนความล้มเหลว และวางวิสัยทัศน์สำหรับสังคมมาร์กซิสต์สมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสองอดีตผู้นำที่วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของพรรค 

 

ในการสร้างเรื่องราวแห่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องนั้น สีจะต้องยอมรับนโยบายที่ขัดแย้งกันของเหมาและเติ้ง เมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่สร้างรอยด่างให้ประวัติศาสตร์ของจีน อย่างการปฏิวัติวัฒนธรรม และการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และนำเสนออุดมการณ์ของตนเอง แม้นักวิจารณ์จะมองว่า สีจิ้นผิงกำลังสร้าง ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ ตามแบบประธานเหมาก็ตาม

 

อู๋กล่าวว่า “การผสมผสานนโยบายของเหมาและเติ้งเข้าด้วยกันดูเหมือนไร้เหตุผล แต่นั่นเป็นเล่ห์เหลี่ยมในการเล่นการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สีกำลังเปลี่ยนนโยบายหลายอย่างของเติ้ง แต่ที่แน่ๆ เขาเจริญรอยตามทั้งเหมาและเติ้งในทางหนึ่ง นั่นคือ เพื่อปกป้องการผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน” ทั้งนี้อู๋เคยทำงานให้กับจ้าวจื่อหยาง อดีตนายกรัฐมนตรีจีนและอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งต่อมาถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วยสาเหตุที่มีแนวคิดเสรีนิยม 

 

ภาพ: Nicolas Asfouri – Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X