×

สีจิ้นผิง กระชับอำนาจอย่างไร ทำไมจึงสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำจีนสมัยที่ 3

10.10.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ภายหลังจากที่ สีจิ้นผิง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) ในปี 2007 และได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีก 5 ปีต่อมา (ปี 2012) สีจิ้นผิงในฐานะผู้กุมบังเหียนของพรรคการเมืองที่มีอำนาจนำและทรงพลังที่สุด ก็เริ่มเดินหน้าบริหารประเทศและนำพาจีนไปสู่ความยิ่งใหญ่ 

 

สีจิ้นผิงได้รับมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือสภาตรายางของจีน (NPC) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 ของจีนเมื่อช่วงต้นปี 2013 และนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศ นอกจากจะกุมอำนาจในการบริหารแล้ว เขายังควบคุมกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างกองทัพจีนให้ยิ่งใหญ่และทันสมัย

 

สีจิ้นผิงกระชับอำนาจอย่างไร

นอกจากโครงสร้างทางอำนาจที่จะมอบความยิ่งใหญ่ให้กับสีจิ้นผิงแล้ว เขายังเดินหน้ากระชับอำนาจอย่างต่อเนื่อง แนวคิดของสีจิ้นผิงแทรกซึมอยู่ในสังคมจีน เขากลายเป็น ‘แก่นแกน’ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประชาชนชาวจีนจำนวนมากต่างเคารพยึดถือ ภาพของผู้นำที่มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาจีนในมิติต่างๆ ให้ทันสมัย และนำพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตและความท้าทายต่างๆ นั้นเด่นชัดขึ้นในโสตการรับรู้ของผู้คนในจีน

 

เราเริ่มเห็นสัญญาณของการกระชับอำนาจที่เข้มข้นขึ้นของสีจิ้นผิง หลังจากที่สีจิ้นผิงบริหารประเทศไปได้แล้วประมาณ 5 ปี แต่กลับยังไม่มีการวางตัวทายาททางการเมืองที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจีนคนใหม่ในอนาคตอย่างที่ช่วงเวลานั้นควรจะเป็น 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี 2018 สภาประชาชนแห่งชาติจีนมีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ รับรองให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกบทบัญญัติที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนไม่เกิน 2 สมัย เพื่อเปิดทางให้สีจิ้นผิงสามารถครองอำนาจผู้นำประเทศจีนไปได้อีกหลายสมัย จนกว่าสีจิ้นผิงจะสละตำแหน่ง หรือเป็นไปตลอดชีวิตก็อาจเป็นได้ หากประมุขของประเทศอย่างสีจิ้นผิงต้องการ

 

อีกทั้งสีจิ้นผิงยังมีภาพของผู้นำนักขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่กัดกินสังคมจีนมาช้านาน เขาใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด ปราบปรามและลงโทษการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แม้จะมีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงนัยทางการเมืองที่อาจแอบแฝงหรือซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะการกำจัดศัตรูทางการเมือง 

 

ดังเช่นกรณีของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ป๋อซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสาขาฉงชิ่ง และสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดที่ 17 นักการเมืองดาวรุ่งของจีนที่เคยได้รับการคาดหมายว่าอาจจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำจีนในอนาคต ก่อนที่จะถูกขับออกจากพรรค พร้อมยึดทรัพย์สินโทษฐานทุจริตคอร์รัปชันเมื่อปี 2012 ปีเดียวกันกับที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ภายใต้การบริหารประเทศของสีจิ้นผิง มีเจ้าหน้าที่ทางการจีนราว 4.7 ล้านรายถูกสอบสวน เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ที่อาจจะพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน แก้ไขปัญหานี้อย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนที่จงรักภักดีต่อสีจิ้นผิงเข้าไปนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งที่เว้นว่างลง เสริมฐานอำนาจให้กับตนเองในฐานะผู้นำประเทศที่มีความสามารถอีกด้วย

 

แนวคิดต่างๆ ของสีจิ้นผิงและหลักการของพรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่อาจก้าวล่วง ในหมู่บรรดาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเองก็ห้ามวิพากษ์วิจารณ์กันในเชิงลบ ขณะที่ข้อความเห็นต่างหรือข้อความเชิงเสียดสีทั้งหมดก็จะถูกระบบเซ็นเซอร์ คัดกรอง และลบออกไปจากระบบอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลของจีน

 

ทำไมการกระชับอำนาจจึงสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำจีนสมัยที่ 3 

การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจีน ที่เปิดโอกาสให้สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศนี้ได้ยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนระบบระเบียบ และแบบแผนเดิมที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หันหลังให้กับระบบการผลัดเปลี่ยนผู้นำภายในพรรคที่ใช้มา ตั้งแต่หลังสิ้นสุดยุค เหมาเจ๋อตุง ประกอบกับความพยายามในการกระชับอำนาจของสีจิ้นผิงนี้ อาจถูกมองเป็น ‘การเดินถอยหลัง’ ของจีนบนถนนสายปฏิรูปที่ยึดถือมานานกว่า 40 ปี

 

โดยผู้นำ 2 คนก่อนหน้าสีจิ้นผิงอย่าง เจียงเจ๋อหมิน และ หูจิ่นเทา เองก็กุมบังเหียนบริหารประเทศจีนเพียงคนละ 1 ทศวรรษเท่านั้น ดังนั้นการเป็นผู้นำจีนสมัยที่ 3 ในยุคนี้จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ยุคที่ประธานเหมาก้าวขึ้นมาบริหารประเทศในฐานะผู้นำสูงสุด เมื่อเกือบราวๆ ครึ่งศตวรรษก่อน

 

หลายฝ่ายมองว่าระบบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism) ที่แข็งแกร่งขึ้นในสังคมจีน ประกอบกับการทลายแบบแผนของการหมุนเวียนและถ่ายโอนอำนาจ จนนำไปสู่การผูกขาดอำนาจนั้น อาจกลายเป็นระเบิดเวลา นำไปสู่เหตุจลาจลที่มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจระบบดังกล่าวของประชาชน บานปลายกลายเป็นวิกฤตดังเช่นในอดีต และอาจทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม ยิ่งกัดกินสังคมจีนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย 

 

นักวิชาการบางรายระบุว่า การกระชับอำนาจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับการบริหารประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายอย่างเช่นจีน ประเทศเช่นนี้ต้องการการรวมศูนย์อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง นำพาประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น รวมถึงป้องกันความโกลาหลที่อาจจะเกิดขึ้น

 

ที่ผ่านมาสังคมจีนภายใต้การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความรุดหน้าอย่างมาก เช่น เขานำพาประเทศก้าวข้ามเส้นความยากจน ลงทุนและพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก พยายามแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ และรับมือกับโรคระบาดอย่างสุดความสามารถ แต่กระนั้นเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โลกที่เคลื่อนไปข้างหน้ามักมีความท้าทายเกิดขึ้นเสมอ อาทิ กระแสเชิงลบและผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน การกระชับอำนาจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

คาดการณ์ว่าสีจิ้นผิงจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำจีนต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สมัย (หรือมากกว่านั้น) จากมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ก่อนที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนจะลงมติรับรองอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคมปี 2023 โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองชุดใหม่อีกด้วย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่จะสะท้อนนัยของเกมการเมืองของสีจิ้นผิงว่า จะยังคงเปิดพื้นที่ให้กับขั้วตรงข้ามทางการเมืองมีที่นั่งใน PSC หรือไม่ หรือสมาชิกทั้งหมดจะมาจากฝ่ายสนับสนุนสีจิ้นผิง เพื่อกระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในช่วงอย่างน้อย 5 ปีนับจากนี้ 

 

แฟ้มภาพ: Noel Celis / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising