จีนเริ่มกระบวนการวางตัวให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง สืบต่ออำนาจการเมืองหลังปี 2023 ตามความคาดหมาย หลังคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เสนอแนะให้แก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไว้ไม่เกิน 2 สมัย (10 ปี)
รัฐธรรมนูญจีนฉบับปี 1982 ที่บังคับใช้จนถึงปัจจุบัน กำหนดให้ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1954 กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี และครบวาระเมื่อถึงการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในปีถัดไป และส่งต่ออำนาจการเมืองให้กับผู้นำรุ่นถัดไป
สีจิ้นผิง วัย 64 ปี ได้รับการจับตาในฐานะผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ทัดเทียมกับเหมาเจ๋อตุง เมื่อชื่อและแนวคิดของสีจิ้นผิงถูกบัญญัติลงในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคเมื่อปีที่แล้ว
และหลังจากที่สีจิ้นผิงได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีกสมัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ก็มีกระแสคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า สีจิ้นผิงจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 2 ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 5 มีนาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ที่ประชุมครั้งนี้จะมีการอนุมัติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีด้วย
นักวิเคราะห์เชื่อ สีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจยาว
หูซิงโต่ว นักวิเคราะห์การเมืองในกรุงปักกิ่ง แสดงความเห็นว่า สีจิ้นผิงอาจกุมบังเหียนบริหารประเทศไปอีกนานเพื่อประโยชน์ในการผลักดันแผนปฏิรูปและทำสงครามกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สีจิ้นผิงยังชูวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ และสร้างสังคมจีนสมัยใหม่ให้สำเร็จภายในปี 2050 ดังนั้นจึงถือเป็นการวางรากฐานการอยู่ในอำนาจของตนเองเพื่อสานต่อภารกิจจนสำเร็จ
แต่หูซิงโต่วเชื่อว่า จีนจะไม่กลับไปยึดถือระบอบผู้นำที่อยู่ในอำนาจไปตลอดชีวิตดังเช่นในอดีต เพราะจีนเคยมีบทเรียนมาแล้วในยุคสมัยเหมาเจ๋อตุง เมื่อเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976
อ้างอิง: