สีจิ้นผิง กลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลระดับโลกและถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ ในทศวรรษแรกที่ผ่านมา สีจิ้นผิงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินจีน และกำลังจะก้าวสู่ทศวรรษที่สอง สื่อไทยและสื่อทั่วโลกต่างจับตารอคอยผลการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่จะเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2022 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของพรรคที่จะต่ออำนาจในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนให้กับสีจิ้นผิงเป็นวาระที่ 3 หรือการเข้าสู่ ‘ยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิง’ นั่นเอง ในฐานะนักวิชาการไทยที่จับตาเกาะติดพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอด คำถามที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยในช่วงนี้คือ ทิศทางจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงในวาระที่ 3 จะเป็นอย่างไร บทความนี้จึงจะมาวิเคราะห์และตอบคำถามนี้กัน
ก่อนจะมาถึงยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิง
สีจิ้นผิงก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเป็นผู้นำจีนตั้งแต่ปลายปี 2012 ตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ให้ดำรงตำแหน่ง ‘เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน’ เป็นครั้งแรก และยังได้เป็นเบอร์หนึ่งคุมกองทัพจีน ในตำแหน่ง ‘ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง’ และต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2013 สีจิ้นผิงได้เริ่มรับตำแหน่ง ‘ประธานาธิบดี’ ของจีนเป็นวาระแรกด้วย สีจิ้นผิงจึงเป็นผู้นำสูงสุดของจีนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกด้านอย่างชัดเจน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิงได้สร้างผลงานที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้นำก่อนหน้าในหลายเรื่อง เช่น การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดและจริงจัง การกระตุ้นค่านิยมความรักชาติ การรณรงค์ ‘ฟื้นฟูชาติ’ และการจุดประกาย ‘ความฝันของจีน’ รวมทั้งสามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจจีนได้สำเร็จในหลายด้าน เช่น การขจัดความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีน สามารถช่วยให้คนจีน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนได้สำเร็จ การยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีน (GDP per Capita) เพิ่มทะลุหลัก 12,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี การเพิ่มชนชั้นกลางจีนเป็น 400 ล้านคน การพัฒนาประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเป็นสังคมไร้เงินสด การพัฒนา ‘เงินหยวนดิจิทัล’ มาให้ชาวจีนทั่วไปได้ใช้ในลักษณะ Retail Central Bank Digital Currency (CBDC) จนสำเร็จเป็นชาติแรกของโลก รวมทั้งการผงาดขึ้นมามีบทบาทระดับโลกอย่างโดดเด่นด้วยยุทธศาสตร์ ‘ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) ทำให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ผ่านการส่งออกสินค้าจีน ส่งออกนักลงทุนจีน ส่งออกเทคโนโลยีจีน ส่งออกแพลตฟอร์มจีน ตลอดจนการส่งออกวัฒนธรรมจีนด้วย
ปัญหาและบริบทที่เปลี่ยนไป
จากวันนั้นถึงวันนี้ ยุคของสีจิ้นผิงผ่านมาแล้ว 2 วาระ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริบทโลกและบริบทภายในประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จีนในวันนี้ต้องเผชิญกับทั้งวิกฤตในระดับโลก และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ที่ตึงเกินไปทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มเติบโตช้าลง รวมทั้งวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังแก้ไม่จบ และปัญหาซุกใต้พรมอื่นๆ เช่น ปัญหาหนี้
นอกจากนี้ การเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของจีนในยุคสีจิ้นผิงได้ถูกมองว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ในสายตาของชาติตะวันตกหลายประเทศ โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของจีน ซึ่งผูกโยงเข้ากับประเด็นความมั่นคง ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศชัดเจนว่า จีนเป็น Strategic Competitor และการแข่งขันกับจีนเป็น Bipartisan Issue ที่ทั้งสองพรรคการเมืองของสหรัฐฯ เห็นสอดคล้องกัน ดังนั้น สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรต่างมีนโยบายที่แข็งกร้าวและกดดันจีนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามการค้า การห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีให้จีน ไปจนถึงการใช้นโยบาย China Plus One เพื่อย้ายการลงทุนออกจากจีน เป็นต้น
ที่สำคัญ ชาติตะวันตกยังได้แทรกแซงในประเด็นที่จีนมองว่าเป็น ‘กิจการภายในของจีน’ ทั้งประเด็นไต้หวัน ฮ่องกง และซินเจียง รวมทั้งจีนต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ในระดับโลก นอกเหนือจากวิกฤตโควิด เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตเงินเฟ้อสูงไปทั่วโลก เป็นต้น
ด้วยสารพัดปัญหารุมล้อมทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ จึงชัดเจนว่า ยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิงย่อมไม่ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารประเทศในสองยุคแรกที่ผ่านมา
ทิศทางจีนยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิง
ดังนั้น หากประเมินจากวิกฤตและปัญหาต่างๆ ที่จีนกำลังเผชิญทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต จึงคาดว่าทิศทางจีนยุคที่ 3 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิงจะเน้น ‘เสถียรภาพต้องมาก่อน’ (Stability First) สีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ยอมปล่อยให้ประเทศเกิดความสับสนวุ่นวาย และพร้อมที่จะออกมาตรการในลักษณะ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ ป้องกันการเกิดปัญหาก่อนจะลุกลามบานปลาย ดังเช่นตัวอย่าง การสั่งห้ามทำธุรกรรมเงินคริปโตทุกชนิดบนแผ่นดินจีน และไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจตีโป่งแบบฉาบฉวยหรือเก็งกำไร รวมไปถึงการใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวายที่จะตามมาหากเกิดการระบาดในจีนเป็นวงกว้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ การกดดันจีนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทูตของประเทศตะวันตก ยิ่งเป็นแรงผลักให้จีนหันกลับมาพึ่งตัวเองและพันธมิตรเพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น จนมีนักวิชาการบางค่ายมองแบบสุดขั้วว่า จีนจะกลายเป็น Isolationism ในเชิงการแยกตัวออกจากระเบียบโลกและระบบเดิมที่มีชาติตะวันตกเป็นผู้วางกฎเกณฑ์กติกามานาน
จากการวิเคราะห์ทิศทางจีนยุคที่ 3 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จึงคาดว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประการแรก การรักษาเสถียรภาพสำคัญที่สุด เน้นการยืนบนขาตัวเอง ลดการพึ่งพาโลกและดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน ด้วยแนวทางต่างๆ เช่น
- การสานต่อโมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation Model) ทั้งด้านการหมุนเวียนภายในและการหมุนเวียนภายนอก เพื่อใช้ภาคเศรษฐกิจภายนอกเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อนพลวัตของเศรษฐกิจภายในของจีน และเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง
- การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
- การลดความเหลื่อมล้ำในจีนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
- การสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อขยายชนชั้นกลางจีนให้เพิ่มเป็น 800 ล้านคน เพื่อเป็นพลังผู้บริโภคระลอกใหม่ที่มีกำลังซื้อ เพื่อดึงให้โลกต้องพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของจีน และใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องขนาด Scale Advantage ที่ทำให้ใครๆ ก็ไม่กล้าทิ้งตลาดจีน และใช้เป็นอำนาจต่อรองของจีนต่อไป
- การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเอง ไม่ใช่แค่ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น แต่จะต้องเอาชนะชาติอื่นด้วย โดยเน้นการวิจัยขั้นพื้นฐาน (Basic Research) เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต และตั้งเป้าหมายให้จีนเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีของโลกในยุคต่อไป ภายใต้แผนการ China Standards 2035
- การมุ่งจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง พร้อมไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ประการที่สอง การแยกขั้วออกจากโลกการเงินตะวันตก (Financial Decoupling) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกกดดันทางการเงินและความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจีนเลือกที่จะเป็นฝ่ายขยับก่อน (First Move) โดยไม่ต้องรอให้ชาติอื่นมากดดันหรือกระทำกับจีน จากการเรียนรู้ประสบการณ์ของรัสเซียที่ถูกยึดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและถูกแซงก์ชันทางการเงินในรูปแบบต่างๆ หลังจากที่ทำสงครามกับยูเครน ดังนั้น เพื่อแยกตัวออกจากโลกการเงินของตะวันตก จีนได้ทยอยดำเนินการในหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการดำเนินอย่างต่อเนื่องและจริงจังในอนาคต เช่น
- บริษัทจีนขอถอนตัวออกจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก (Delist) ในขณะนี้มีบริษัทจีนขนาดใหญ่ 5 รายได้ประกาศยื่นขอถอนตัวออกจากตลาดหุ้นของสหรัฐฯ แล้ว ได้แก่ บริษัท PetroChina, บริษัท Sinopec, บริษัท Shanghai Petrochemical, บริษัท Chalco ผู้ผลิตอะลูมิเนียมระดับโลก และบริษัทประกัน China Life Insurance ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ย่อมจะกระทบ Market Cap ของตลาดหุ้นนิวยอร์กที่จะหายไป ล่าสุด บริษัท Sinopec ของจีนยังได้ประกาศจะถอนตัวออกจากตลาดหุ้นลอนดอนด้วย
- ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และกระจายปรับพอร์ตการลงทุนต่างประเทศให้หลากหลายขึ้น หันมาลงทุนใน Strategic Investments มากขึ้น
- ลดการพึ่งพาระบบ SWIFT ในการโอนเงินระหว่างประเทศ และหันมาส่งเสริมการใช้ระบบ CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) ของจีนเองในการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างจริงจัง โดยขจัดจุดอ่อนหรือข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมี และขยายจำนวนธนาคารที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ครอบคลุมมากขึ้น
- ลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ หันมาถือทองคำมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการค้าขายกับประเทศคู่ค้าของจีนด้วยสกุลเงินหยวนและสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้า เช่น กลุ่ม BRICS
- ส่งเสริมการซื้อขายน้ำมันและพลังงานสำคัญอื่นๆ ด้วยสกุลหยวน (เปโตรหยวน) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศพันธมิตรต่างๆ ของจีน
- ส่งออก ‘เงินหยวนดิจิทัล’ เพื่อให้มีการใช้ในระดับสากลมากขึ้น
ประการที่สาม การผลักดัน ‘แผนริเริ่มการพัฒนาโลก’ (Global Development Initiative: GDI) ให้เป็นวาระระดับโลก ซึ่งสีจิ้นผิงได้ประกาศแผนริเริ่ม GDI ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2021 และแวดวงผู้เชี่ยวชาญจีนวิเคราะห์ว่า GDI จะเป็นซีรีส์ต่อยอดหรือการกลายพันธุ์ของข้อริเริ่มหนึ่ง BRI นั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่า ผู้นำจีนได้เริ่มพูดถึง BRI น้อยลง และหันมาพูดถึง GDI ในวาระต่างๆ มากขึ้น
ภายใต้กรอบ GDI จีนประกาศจะใช้ ‘ภูมิปัญญาจีน’ ในการช่วยผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาของโลก และในเดือนมกราคม 2022 จีนได้ริเริ่มตั้งกลุ่ม Group of Friends ในกรอบ GDI โดยมีมากกว่า 50 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง (รวมทั้งประเทศไทย) ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2022 สีจิ้นผิงได้ประกาศกองทุน Global Development and South-South Cooperation มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ (คล้ายกับที่จีนเคยประกาศตั้งกองทุน Silk Road Fund ภายใต้ BRI) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแผนริเริ่ม GDI ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง มีเพียงแค่การตั้งเป้าหมายของ GDI ไว้หลวมๆ ได้แก่
- เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือระดับโลกตาม UN 2030 Agenda for Sustainable Development ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs 17 ประการ
- เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเร่งการพัฒนาระดับโลก ทั้งระบบธรรมาภิบาลโลก การปกป้องสิทธิของประชาชนทุกประเทศในการเลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเอง การคัดค้านการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น และคัดค้านการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่ไม่มีพื้นฐานในกฎหมายระหว่างประเทศ
- เพื่อสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาระดับโลกที่สมดุลและเท่าเทียมกัน และส่งเสริมสถาบันพัฒนาพหุภาคีเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนี้อย่างมีประสิทธิผล
- เพื่อสนับสนุนบทบาทองค์การสหประชาชาติในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของวาระ UN 2030 Agenda และให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระดับโลก เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดังนั้น จึงคาดว่าในยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิงนับจากนี้ น่าจะมีการผลักดัน GDI อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการผลักดัน ‘แผนริเริ่มความมั่นคงของโลก’ (Global Security Initiative: GSI) ซึ่งสีจิ้นผิงได้เริ่มประกาศแผน GSI ไว้ตั้งแต่เมษายน 2022 เช่นกัน
ประการที่สี่ การยึดมั่นตามแนวทาง ‘ความคิดสีจิ้นผิง’ (Xi Jinping Thought) เป็นแกนหลักในการบรรลุความฝันของจีนในวาระครบ 100 ปีการสถาปนาประเทศจีน
“ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่” (Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era) ไม่ใช่สิ่งที่พูดลอยๆ หรือเป็นแค่วาทกรรม แต่มีความสำคัญในเชิงสถาบันและเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายสำหรับจีน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2017 โดยได้มีการบรรจุ ‘ความคิดสีจิ้นผิง’ ไว้ในธรรมนูญของพรรค และในปี 2018 ยังได้นำ ‘ความคิดสีจิ้นผิง’ ไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศจีน ล่าสุด ในปี 2021 กระทรวงศึกษาจีนก็ได้นำ ‘ความคิดสีจิ้นผิง’ ไปใส่ในตำราเรียน และใส่ไว้ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อปลูกฝังเยาวชนจีนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย
ดังนั้น ทิศทางจีนในยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิง เพื่อขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวให้บรรลุความฝันของจีนในวาระครบ 100 ปีการสถาปนาประเทศจีนในปี 2049 คาดว่าจะยึดมั่นตามแนวทาง ‘ความคิดสีจิ้นผิง’ ซึ่งมี 14 ข้อ ดังนี้ (1) ยืนหยัดการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกมิติ (2) พรรคคอมมิวนิสต์ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (3) ยืนหยัดการปฏิรูปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (4)ใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกระจายผลประโยชน์อย่างโปร่งใส (5) ยืนหยัดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ (6) ปกครองจีนด้วยการยึดมั่นในกฎหมาย (7) ปลูกฝังค่านิยมของสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน (8) การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา (9) การพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (10) เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการทหาร (11) กองทัพต้องอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (12) ยืนหยัดนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ และเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวัน (13) สร้างสังคมโลกที่มีสันติภาพและมีเป้าหมายร่วมกัน (14) ยืนหยัดวินัยของพรรคที่ต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
ประการที่ห้า เสริมสร้างพลังอำนาจแห่งชาติในทุกด้าน และเร่ง ‘การรวมชาติ’ กับไต้หวัน (ซึ่งระบุไว้ชัดเจนใน ‘ความคิดสีจิ้นผิง’) ในลักษณะเร่งปฏิบัติการเชิงรุกต่อไต้หวันให้มากขึ้น รวมทั้งใช้นโยบายต่างประเทศแบบ ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ ในการจัดการกับความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยคาดว่าในยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิง จีนพร้อมเผชิญหน้าอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากมีชาติใดจะมาล้ำเส้นแดงของจีน (Red Line) จนเกินงามใน 5 ประเด็นอ่อนไหวของจีน ได้แก่ ประเด็นไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ทิเบต และทะเลจีนใต้ ซึ่งในแวดวงผู้เชี่ยวชาญจีนได้ขนานนามนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวพร้อมตอบโต้เอาคืนอย่างรวดเร็วฉับไวของจีนในยุคนี้ว่า เป็น ‘การทูตนักรบหมาป่า’ (Wolf Warrior Diplomacy) และมีนักวิชาการบางค่ายวิเคราะห์ว่า ด้วยความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่เกิดขึ้น ทำให้ยุทธศาสตร์เดิมของจีนที่มีต่อไต้หวันใน ‘การรวมชาติอย่างสันติ’ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป
โดยสรุป จากสภาพปัญหาภายในของจีนและวิกฤตจากภายนอกประเทศในโลกที่ถูกแบ่งเป็นหลายขั้ว ทำให้การบริหารประเทศในยุคที่ 3 ของสีจิ้นผิงย่อมจะต้องเจอโจทย์ยากกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทิศทางจีนในอนาคต จึงจำเป็นต้องเน้น Stability First การรักษาเสถียรภาพต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ควบคู่ไปกับการแสดงบทบาทผู้นำโลกในการพัฒนาและขับเคลื่อนทิศทางของโลก และพร้อมใช้ความแข็งกร้าวในการจัดการความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของจีน
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เสร็จสิ้นลงในอีกไม่กี่วันจากนี้ ก็จะมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งจะเป็นผู้นำระดับ ‘คีย์แมน’ เคียงข้างสีจิ้นผิงในการกุมอนาคตจีนต่อไปในอีก 5 ปีจากนี้ จึงต้องมาลุ้นกันว่า จะมีใครที่เป็นมือเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในทีมผู้นำระดับท็อปของจีนบ้าง และจะมีความชัดเจนของผู้ที่จะมาเป็น ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรี’ คนต่อไปของจีนที่จะมาแทนที่นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงที่จะครบ 2 วาระในเดือนมีนาคมปีหน้าด้วย
ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images