×

นี่คือจังหวะเวลาของจีนกับบทบาทจีนกาวใจ อ่านเกมสีจิ้นผิง

20.03.2023
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ทำไมจีนขยับมาเล่นบทบาทเป็นกาวใจเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นความตั้งใจของสีจิ้นผิงที่มีความมั่นใจว่า นี่คือ ‘จังหวะเวลาของจีน’ แม้ว่าผู้นำจีนในอดีตจะไม่สนใจเสนอตัวเป็นกาวใจในความขัดแย้งของประเทศอื่นมาก่อน แต่ทุกวันนี้เป็นยุคของสีจิ้นผิง หลายอย่างเปลี่ยนไป จีนมีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิม สีจิ้นผิงเชื่อว่าจีนมีพลังอำนาจแห่งชาติที่เพียบพร้อมมากขึ้น จีนแข็งแกร่งขึ้น 

 

นอกจากนี้ จีนพยายาม ‘ทำ’ ในสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่ทำ จีนมองว่ามันคือความเพลี่ยงพล้ำของชาติคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ทำตัวเป็นกลาง สหรัฐฯ เอียงข้างไปอยู่กับยูเครนและโจมตีรัสเซียอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะมาเล่นบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีความขัดแย้งระดับโลกในครั้งนี้

   

การเดินทางไปเยือนมอสโกของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงตามคำเชิญของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และการที่ ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ต่อสายคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนไปพร้อมกันด้วย ล้วนเป็นความพยายามของจีนที่จะเป็นมือประสานไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้งในสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานเกินหนึ่งปีแล้ว

 

บทความนี้จึงวิเคราะห์สามประเด็นหลัก เพื่ออธิบายว่าทำไมจีนในยุคสีจิ้นผิงจึงขยับมาเล่นบทบาทเป็นกาวใจเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทำไมจีนต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นมือประสานไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้ง และพยายามเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลกด้วยการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ

 

ประเด็นแรก คือ สีจิ้นผิงมองว่ามันถึงเวลาแล้ว สถานการณ์ของสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมาเป็นปีจนถึงทางตันตอนนี้ น่าจะเป็น Right Timing แล้วที่จีนจะมีบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้นำสร้างสันติภาพในระดับโลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า ‘จีนจะเป็นผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลก’ 

 

หากย้อนไปศึกษาบทบาทจีนในอดีต จะเห็นว่าจีนไม่ยุ่งเรื่องของคนอื่น ผู้นำจีนในอดีตจะไม่ค่อยออกหน้าในเรื่องของคนอื่น จีนจะอยู่แบบ Low Profile ไม่เคยเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยสงครามเลย ที่ผ่านมาผู้นำจีนจะเน้นสร้างบ้านสร้างเมือง เน้นพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศตัวเองมากกว่า เนื่องจากจีนมองว่าตัวเองเป็นชาติขนาดใหญ่ ขนาดของจีนทำให้หลายชาติหวาดระแวงกับการเติบใหญ่ของจีน จึงเลือกที่จะอยู่เงียบๆ มากกว่า 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับสีจิ้นผิงมองว่ามันถึงเวลาแล้วที่จีนจะสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่รักสันติภาพ ในขณะที่คู่แข่งตนเองอย่างสหรัฐฯ เพลี่ยงพล้ำตกอยู่ในสถานะ ‘ผู้ส่งออกสงคราม’ ในมุมจีนมองว่า การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรส่งอาวุธให้ยูเครนมาโดยตลอดมีส่วนทำให้สงครามไม่จบและยืดเยื้อมานานเกินหนึ่งปี

 

ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายที่คาดหวังว่าจีนไม่ควรจะอยู่เฉย จีนควรจะออกมาเล่นบทบาทนี้ด้วย เพราะจีนอยู่ในสถานะที่เป็นมิตรกับคู่กรณีทั้งสอง ฝ่ายรัสเซียก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นมหามิตรที่สนิทกับจีนจนถึงขั้นประกาศว่าเป็น ‘หุ้นส่วนที่ไร้ขีดจำกัด’  (No Limits Partnership) ส่วนยูเครนเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ยูเครนร่วมมือกับจีนภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย

 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าลึกๆ แล้วจีนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่ก็ไม่เคยประณามรัสเซีย (ส่วนนี้มีนัยต่อการเตรียมพร้อมในการรวมชาติกรณีไต้หวัน) และสีจิ้นผิงรู้ดีว่า ควรจะต้องดีลกับคนอย่างปูตินอย่างไร จีนจึงเลือกไม่หักด้ามพร้ากับรัสเซีย พร้อมๆ กับยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับยูเครนด้วย ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐฯ ที่เข้าข้างยูเครนโดยตรงและโจมตีปูตินมาโดยตลอด

 

ประเด็นที่สอง คือ สีจิ้นผิงมีเป้าหมายใหญ่ที่จะแสดงความเป็นผู้นำในระดับโลกมานานแล้ว และได้ริเริ่มแสดงบทบาทเชิงรุกในระดับโลกในหลายเรื่อง เพื่อผลักดันให้ ‘จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลกอีกครั้ง’ จีนใฝ่ฝันจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก โดยการเสนอข้อริเริ่มใหม่ๆ ในระดับโลก เช่น ด้านความมั่นคง จีนได้เสนอ Global Security Initiative (GSI) และจัดทำเอกสาร GSI Concept Paper ดังนั้นการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อเพื่อยุติสงครามยูเครน จึงสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ที่จะโชว์ความเป็นผู้นำในระดับโลกของจีนนั่นเอง

 

ถ้าไปไล่เรียงแผนสันติภาพของจีน 12 ข้อเพื่อยุติสงครามยูเครน ก็จะเห็นว่ามีหลายข้อสอดคล้องกับแผนริเริ่ม GSI ที่จีนเสนอเพื่อความมั่นคงของโลกด้วย เช่น ข้อ 5 ในเอกสาร GSI Concept Paper ระบุว่า ต้องยึดมั่นในการแก้ปัญหาความแตกต่างและข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างสันติผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ โดยระบุว่า “สงครามและการคว่ำบาตรไม่ใช่วิธีพื้นฐานในการแก้ไขข้อขัดแย้ง หากแต่การเจรจา และการปรึกษาหารือเป็นวิธีที่ได้ผลในการแก้ไขความแตกต่าง” ภายใต้ GSI ของจีนจึงเรียกร้องให้มี ‘การเสริมสร้างการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ’ เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันด้านความมั่นคง แก้ไขข้อขัดแย้ง จัดการความแตกต่าง และกำจัดต้นตอของวิกฤต

 

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่า มันคือความต้องการลึกๆ ของสีจิ้นผิงอยู่แล้วที่จะโชว์ความเป็น Global Leadership มันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลกอีกครั้ง

 

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องที่มีนัยต่อการเมืองภายในประเทศของจีนเอง เพราะสีจิ้นผิงต้องการใช้โอกาสในการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลกรอบนี้ เพื่อปลุกเร้าความฮึกเหิมของปวงชนชาวจีนที่รักชาติยิ่งชีพได้มีความภาคภูมิใจในการที่จีนจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาสร้างสันติภาพให้กับโลก โดยหวังให้ความนิยมภายในประเทศต่อตัวผู้นำจีนคนนี้ได้ดีดขึ้นกลับมาอีกครั้งด้วย  เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาความนิยมของสีจิ้นผิงได้สะดุดลงบ้างจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ตึงเกินไป จนสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของประชาชน และกระทบเศรษฐกิจจีนจนซบเซา 

 

ดังนั้น การโชว์ความเป็นผู้นำในระดับโลกของสีจิ้นผิงในการเป็นกาวใจบินไปคุยกับรัสเซีย และการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อเพื่อไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้ง ทำให้ชาวจีนได้เป็นปลื้ม และชาวเน็ตได้ฟินและลุ้นกันว่าจะสำเร็จไหม จีนจะได้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมายุติสงครามยูเครนได้สำเร็จหรือไม่ ลุ้นกันสุดๆ แบบนี้ คงจะได้เบี่ยงเบนความสนใจหรือความกังวลจากปัญหาความอึมครึมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

ทั้งนี้ หากสมมติว่าแผนสันติภาพของจีนประสบความสำเร็จ (แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกโจทย์ยากที่ต้องวิเคราะห์) ก็ย่อมจะมีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกว่า จีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมาช่วยยุติสงคราม ยกสถานะจีนขึ้นเป็นผู้สร้างสันติภาพให้กับโลก และทั้งหมดนี้คือเป้าหมายในระดับโลกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย 

 

จะสังเกตได้ว่า สีจิ้นผิงเคยกล่าวในระหว่างการปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สีจิ้นผิงพูดว่า “จีนจะทำให้โลกต้องการจีน” นั่นคือจะทำให้ ‘จีนจำเป็นสำหรับโลก’ จะทำให้โลกขาดจีนไม่ได้ ดังนั้น การออกตัวแรงของสีจิ้นผิงเพื่อเป็นกาวใจไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้งและการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อในครั้งนี้ หากทำสำเร็จได้จริง ก็จะสอดคล้องกับความฝันของสีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะขยับสถานะของจีนในระดับโลก เพื่อโชว์ให้เห็นว่า จีนจะผงาดขึ้นเป็นผู้นำของโลกที่รักสันติภาพไม่ใช่สงคราม (Peaceful Rise of China)

 

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ผู้นำเดิมของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็กำลังเพลี่ยงพล้ำในหลายๆ เรื่อง เช่น สหรัฐฯ กลายเป็นชาติที่ส่งออกเงินเฟ้อจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน เงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก วิกฤตการเงินการธนาคารที่ก่อตัวขึ้นในสหรัฐฯ กำลังจะทำให้โลกเดือดร้อนไปถ้วนหน้า รวมทั้งมีนักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า แท้จริงแล้ว สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในชาติที่ได้ประโยชน์จากสงครามยูเครน จึงอาจจะไม่อยากให้สงครามยุติ ดังนั้น จีนจึงต้องการใช้จังหวะเวลานี้ เพื่อพลิกเกมมาแสดงบทบาทที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ จีนจะ ‘ทำ’ ในสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่ทำ นั่นคือ การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้สร้างสันติภาพให้กับโลกใบนี้ ไม่ใช่เป็นผู้โหยหาสงคราม

 

อย่างไรก็ดี จะเป็นไปได้แค่ไหนในการเกิดสันติภาพหรือไม่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องและคงจะไม่เกิดโดยง่าย ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของตัวแผนสันติภาพฉบับนี้ของจีน พบว่า เป็นแค่แนวทางหรือข้อเสนอกลางๆ ค่อนข้างประนีประนอมสำหรับทุกฝ่าย พูดง่ายๆ คือเป็นมาตรฐานของข้อเสนอสันติภาพทั่วไปที่ต้องเขียนไว้ เช่น การเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ รื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพ แก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรม คุ้มครองพลเรือนและเชลยศึก เป็นต้น หลายๆ ข้อที่อยู่ในแผนสันติภาพฉบับนี้จึงเป็นพื้นฐานทั่วไปในแผนสันติภาพที่ต้องมีอยู่แล้ว 

 

สิ่งที่ต้องจับตาคือ หลายข้อในแผนฉบับนี้มีนัยให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าวด้วย เช่น ขอให้ชาติตะวันตกยอมเลิกคว่ำบาตรแต่ฝ่ายเดียว และขอให้มีการหยุดยิงหยุดการสู้รบ ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าหากแต่ละฝ่ายยอมถอยคนละก้าว ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดสันติภาพ แต่ประเด็นก็คือว่า แล้วจะมีใครยอมถอยก่อนหรือไม่ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีอีโก้ มีศักดิ์ศรีของตัวเอง จะมีใครยอมใครหรือไม่ 

 

ดังนั้น บทบาทกาวใจของจีนจะทำให้สันติภาพจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับความจริงใจของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ 

 

ที่สำคัญ โจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้คือ สหรัฐฯ ตราบใดที่ชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ ไม่เอาด้วยกับแผนสันติภาพของจีน และไม่ยอมรับบทบาทกาวใจของจีน ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำไปสู่สันติภาพ หรือจะมีการยุติสงครามโดยง่าย หลายคนพูดว่า ใครๆ ก็โหยหาสันติภาพ อยากให้สงครามยุติ รัสเซียเองก็เจ็บตัวและเสียศักดิ์ศรีจากสงครามที่เผด็จศึกไม่ได้ง่ายตามคาด ชาติยุโรปเองก็เดือดร้อนจากสงครามที่ยืดเยื้อ แต่ก็มีความไม่ไว้วางใจจีน ไม่วางใจรัสเซีย

 

ดังนั้น หากไม่มีความจริงใจต่อกันที่จะทำให้สงครามครั้งนี้ยุติจริงๆ มันก็ยากที่จะประเมิน สุดท้ายแล้ว สันติภาพจะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย และคงจะต้องติดตามลุ้นกันต่อไป

 

ภาพ: Kay Nietfeld / picture alliance via Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising