เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้ใช้การประชุม Belt and Road Forum ซึ่งจัดขึ้นที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เพื่อแสดงความมุ่งมาดปรารถนาของตนเองในการปรับเปลี่ยนระเบียบโลกโดยมีจีนเป็นผู้นำ แต่ขณะเดียวกัน สีก็ไม่ลืมชาติพันธมิตรสำคัญอย่างรัสเซีย ดังเห็นได้จากการแบ่งบทเด่นให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน บนเวทีเดียวกันนี้ด้วย
การปฏิบัติต่อกันฉันมิตรระหว่างสีกับปูตินในการประชุมครั้งนี้ตอกย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนที่ ‘ไร้ขีดจำกัด’ ของสองประเทศ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างจีนกับรัสเซียในการต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นถึงความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
สร้างโลกหลายขั้วที่ ‘ยุติธรรมกว่าเดิม’
งานฟอรัมนี้แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจทางการเมืองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสีกับปูติน ซึ่งถือเป็นแขกผู้ทรงเกียรติของการประชุมครั้งนี้ โดยปูตินได้นั่งข้างผู้นำจีนและขึ้นกล่าวต่อจากสีในพิธีเปิด ก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะพบปะหารือกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงในการประชุมทวิภาคี
ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ปูตินยกย่องนโยบายต่างประเทศของสีจิ้นผิงว่า “มีเป้าหมายที่จะสร้างโลกหลายขั้วที่ยุติธรรมกว่าเดิม” พร้อมกับชูความเป็นแนวร่วมที่แน่นแฟ้นของรัสเซียกับจีน
รัสเซียและจีนมี “ความปรารถนาที่จะบรรลุความร่วมมือที่เท่าเทียมและเป็นประโยชน์ร่วมกัน” ซึ่งรวมถึง “การเคารพความหลากหลายของอารยธรรมและสิทธิของทุกรัฐสำหรับรูปแบบการพัฒนาของตนเอง” ผู้นำรัสเซียกล่าว ซึ่งเป็นการตอบโต้อย่างชัดเจนต่อเสียงเรียกร้องของนานาประเทศที่ต้องการให้ผู้นำชาติเผด็จการหรืออำนาจนิยมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมืองในประเทศ
สำหรับการเยือนกรุงปักกิ่งเป็นการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นได้ยากสำหรับปูติน หลังถูกชาติตะวันตกโดดเดี่ยว และศาลอาญาระหว่างประเทศต้องการตัว เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
ความทะเยอทะยานของจีน
ถ้อยแถลงของปูตินบนเวทีดังกล่าวเกิดขึ้นต่อจากถ้อยแถลงเปิดการประชุมของสี ซึ่งกล่าวยกย่องข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative ของตนเอง พร้อมนำเสนอให้โครงการนี้เป็นรูปแบบการพัฒนาทางเลือกสำหรับโลก
สี ซึ่งเป็นผู้นำจีนที่เรืองอำนาจและกล้าแสดงออกมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ได้ใช้การประชุมนี้เพื่อฉายภาพความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของจีนในการปรับเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ พร้อมเสนอตัวเป็นผู้นำทางเลือกแทนสหรัฐฯ ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ว่าจีนจะสร้างความมั่นคงและการพัฒนาระดับโลกอย่างไร
“จีนกำลังพยายามสร้างตัวเองให้เป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และฟื้นฟูชาติจีนในทุกด้านด้วยการเดินหน้าสร้างจีนให้ทันสมัย การปรับปรุงความทันสมัยที่เรากำลังดำเนินการนั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจีนเท่านั้น แต่สำหรับทุกประเทศที่กำลังพัฒนาผ่านความพยายามร่วมกัน” เขากล่าว
ในโอกาสนี้ ผู้นำจีนยังได้กล่าวโจมตีสหรัฐฯ อย่างชัดเจนว่า จีนต่อต้านการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว การบีบบังคับและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และการดิสรัปต์ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าหมายถึงความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกในการกดดันจีน ทั้งในด้านการค้า เทคโนโลยี และสถานะของไต้หวัน
“การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองแบบกลุ่มไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเรา” สีกล่าว
“การมองว่าการพัฒนาของผู้อื่นเป็นภัยคุกคาม หรือการมองว่าการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยง จะไม่ทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นหรือทำให้การพัฒนาเร็วขึ้น”
การต้อนรับผู้นำและคณะผู้แทนจากชาติต่างๆ ในกรุงปักกิ่ง นับเป็นช่องทางสำคัญในการนำเสนอวิสัยทัศน์ดังกล่าวต่อประเทศต่างๆ ที่จีนได้สร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่สีมุ่งมั่นที่จะขยายอิทธิพลของจีนในระดับโลก ท่ามกลางความท้าทายนานัปการภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การว่างงานที่สูง และปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อย่างไรก็ดี ปักกิ่งตั้งเป้าขจัดความท้าทายเหล่านี้ในการประชุม Belt and Road Forum ครั้งนี้ เพื่อแสดงอำนาจและยกย่องการมีส่วนร่วมของจีนในการพัฒนาระดับโลก
ทั้งนี้ ผู้นำโลกคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมงานนี้ เช่น ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน และ โจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ต่างก็ได้ขึ้นกล่าวในพิธีเปิดเช่นกัน โดยหลายคนสะท้อนเสียงเรียกร้องของสีจิ้นผิงให้เพิ่มการพัฒนาระดับโลกและโลกพหุภาคีที่หลายฝ่ายร่วมมือกันมากขึ้น
ใกล้กันยิ่งกว่า
การประชุมที่เมืองหลวงของจีนเกิดขึ้นภายใต้เงาของสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคในวงกว้าง
ปูตินและสีไม่ได้กล่าวถึงความขัดแย้งดังกล่าวในถ้อยแถลงเปิดการประชุม แต่ผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางในระหว่างการประชุมทวิภาคี ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุม Belt and Road Forum โดยผู้นำรัสเซียกล่าวว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นมีแต่จะยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้น
“เราได้พูดคุยกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง” ปูตินกล่าวในการแถลงข่าว “นอกจากนี้ ผมยังได้ให้ข้อมูลประธานาธิบดีสีเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน ซึ่งค่อนข้างละเอียดเช่นกัน”
“ปัจจัยภายนอกทั้งหมดนี้ถือเป็นภัยคุกคามร่วมกัน ซึ่งมีแต่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ปูตินกล่าว
ขณะที่สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า สีได้ “แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึก” เกี่ยวกับสถานการณ์ของอิสราเอลและปาเลสไตน์กับผู้นำรัสเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่พูดคุยกัน ขณะเดียวกันปักกิ่งก็ไม่ได้ระบุถึงหรือประณามกลุ่มฮามาสในแถลงการณ์แต่อย่างใด
วิกฤตฉนวนกาซาบนเวที Belt and Road Forum
การประชุมนี้แทบไม่มีประเทศในสหภาพยุโรปเข้าร่วม ซึ่งสาเหตุหลักมาจากจุดยืนที่แตกต่างเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ซึ่งเป็นพันธมิตรของปูตินและสี เป็นผู้นำในสหภาพยุโรปเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมการประชุม
จีนและรัสเซียต่างเรียกร้องให้หยุดยิง แต่ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการประณามกลุ่มฮามาส พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสหรัฐฯ และผู้นำทั่วยุโรปที่แสดงการสนับสนุนอิสราเอลอย่างล้นหลาม
ทั้งนี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่กล่าวถึงความขัดแย้งดังกล่าวในระหว่างพิธีเปิด Belt and Road Forum โดยเขาเรียกร้องให้หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที
สำหรับจีน การวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าแสดงออกที่เพิ่มขึ้น และแสดงถึงความต้องการเอาอกเอาใจประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนพยายามมีบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลางเพื่อเติมเต็มสุญญากาศที่เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัฟกานิสถาน
“ปมสำคัญของประเด็นความขัดแย้งนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่ายังไม่มีการคืนความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์” หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการคุยโทรศัพท์กับ เซลโซ อาโมริม ที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศของประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล
นอกจากนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว หวังยังได้กล่าวกับเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียว่า การตอบโต้ของอิสราเอลในฉนวนกาซา “ไปไกลเกินกว่าการป้องกันตัวเอง”
คำกล่าวที่ชัดเจนตรงไปตรงมานี้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นของจีน เพราะโดยปกติแล้วจีนจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ อย่างระมัดระวัง โดยมักจะเลือกใช้แถลงการณ์ที่เป็นกลางเกี่ยวกับการสนับสนุนสันติภาพ
“จีนทำเช่นนี้เพื่อส่งสัญญาณไปยังซีกโลกใต้ว่า จีนจะสนับสนุนประเทศเหล่านั้นแบบที่พวกเขาไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้รับจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ” โจนาธาน ฟูลตัน สมาชิกอาวุโสของสภาแอตแลนติกกล่าว
เจ้าหนี้รายใหญ่
จีนได้ต้อนรับผู้นำโลกกว่า 20 คน และคณะผู้แทนมากกว่าร้อยคณะจากเกือบ 150 ประเทศกำลังพัฒนา เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของ Belt and Road Initiative ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าและการเชื่อมโยงทั่วโลก ตลอดจนขยายอิทธิพลของปักกิ่งในต่างประเทศผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
จีนได้จัดสรรงบประมาณเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อสร้างท่าเรือ โรงไฟฟ้า สะพาน ทางรถไฟ ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งช่วยขยายผลประโยชน์และอิทธิพลระหว่างประเทศของจีนไปพร้อมกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก
ในการกล่าวเปิดงานประชุมเมื่อวันพุธที่แล้ว สีจิ้นผิงเมินคำวิพากษ์วิจารณ์ และย้ำถึงความมุ่งมั่นของเขาต่อข้อริเริ่มนี้
“ความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับอนาคต มันแสดงถึงความก้าวหน้าในยุคของเรา และเป็นเส้นทางที่ถูกต้องในการก้าวเดินไปข้างหน้า” เขากล่าว
พร้อมกันนี้ สียังได้เสนอแผนปฏิบัติการ 8 ส่วนของ Belt and Road Initiative ซึ่งรวมถึงการยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิตของจีนอย่างเต็มรูปแบบ และแผนงานริเริ่มกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก
รัสเซียได้ประโยชน์
สำหรับปูติน แม้การเดินทางไปปักกิ่งครั้งนี้ รัสเซียจะไม่ได้ทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจฉบับใหม่กับจีน แต่เขาได้ผลประโยชน์ทางการทูตไปเต็มๆ โดยปูตินได้พบกับผู้นำชาติเอเชียหลายคนที่งานนี้ ในขณะที่ชาติตะวันตกพยายามโดดเดี่ยวเขา
“การประชุมนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัสเซียยังคงเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมหาศาล และอยู่ห่างไกลจากความโดดเดี่ยวมาก” อาร์เทม ลูคิน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐตะวันออกไกล ในเมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย กล่าว “เอเชียและซีกโลกใต้โดยทั่วไปกำลังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่ความกังวลของพวกเขา และพวกเขาสนใจทำธุรกิจกับรัสเซียมากกว่าเรื่องนั้น”
ภาพ: Reuters
อ้างอิง: