เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อสภาประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC) ซึ่งถูกมองเป็น ‘สภาตรายางของพรรคคอมมิวนิสต์’ มีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ (เห็นชอบ 2,958 คน หรือ 99.8%, คัดค้าน 2 และงดออกเสียง 3 คน) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 10 ปี ซึ่งจะกรุยทางให้สีจิ้นผิงสามารถครองอำนาจไปตลอดชีพ หรือนานตราบเท่าที่เขาต้องการ ทั้งยังเป็นการกระชับอำนาจสู่ศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงมีคนนำสีจิ้นผิงไปเปรียบเทียบกับองค์จักรพรรดิจีนในสมัยโบราณ
การรวมศูนย์อำนาจในมือของสีจิ้นผิงถูกมองเป็นการเดินถอยหลังของจีนบนถนนสายปฏิรูปที่ยึดถือมานาน 4 ทศวรรษ อีกทั้งยังหันหลังให้กับระบบการผลัดเปลี่ยนผู้นำภายในพรรคที่ใช้มาตั้งแต่หลังสิ้นยุคประธานเหมาเจ๋อตุง ซึ่งเกิดจลาจลจากชนวนความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบเผด็จการผูกขาดอำนาจ
จีนกำลังบ่ายหน้าออกจากระบบการผลัดเปลี่ยนผู้นำ?
โมเดลการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างเข้มข้นภายในพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นแนวทางการปกครองที่มีจีนเพียงประเทศเดียวที่ใช้ได้ผล และเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่าจากยุคเติ้งเสี่ยวผิง ผู้ซึ่งต้องการปฏิรูปและเปิดประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ระบบการเมืองดังกล่าวช่วยลดความขัดแย้งและเยียวยาบาดแผลจากเมื่อครั้งที่เกิดกลียุคแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเหมาเจ๋อตุงในช่วงปี 1966-1976
แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณว่า จีนกำลังหวนคืนสู่ระบอบการปกครองโดยผู้นำที่ผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว และนั่นก็ทำให้สีจิ้นผิงถูกจับตาว่ากำลังจะเป็น ‘เหมาเจ๋อตุง 2’ อย่างหลีกหนีไม่พ้น
แต่ทำไมเขาถึงต้องเดินหมากก้าวนี้…?
อำนาจที่เสื่อมถอยของสีจิ้นผิง
หากมองในมุมกลับ การที่สีจิ้นผิงพยายามสร้างฐานอำนาจให้เข้มแข็งอาจสะท้อนได้ว่า อำนาจของเขากำลังเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้อยู่พอสมควร เพราะในยุคสมัยใหม่ คณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จะมีธรรมเนียมปฏิบัติในการวางตัวว่าที่ผู้นำที่จะขึ้นสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากประธานาธิบดี และการวางตัวจะเด่นชัดขึ้นจากการแต่งตั้งว่าที่ผู้นำใหม่ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในพรรคหรือรัฐบาลในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีที่ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งครบวาระสมัยแรก
ซึ่งสีจิ้นผิงก็เคยผ่านกระบวนการนี้มาก่อน และหากจีนยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆ ก็หมายความว่า สีจิ้นผิงได้เดินมาถึงครึ่งทางของการกุมบังเหียนคณะบริหารแล้ว และนั่นอาจทำให้เขาเกิดความกังวลใจว่า อำนาจในมือของเขากำลังสั่นคลอน
ในขณะที่นโยบายสร้างชาติจีนให้เป็นประเทศมหาอำนาจสมัยใหม่ก็อาจต้องสะดุดลง หรือเกิดความไขว้เขวในทิศทางของนโยบายในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่สีจิ้นผิงไม่อยากเห็น ดังนั้นเขาจึงสร้างความชอบธรรมในการสืบต่ออำนาจของเขาด้วยปณิธานสร้างชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่ แต่นั่นเท่ากับเป็นการนำอนาคตของประเทศชาติมาวางเดิมพันกับตำแหน่งของเขาด้วย
แต่ฝ่ายสนับสนุนมองว่า การมอบอำนาจให้สีจิ้นผิงแบบเทหมดหน้าตักจะช่วยให้เขามีอิทธิพลมากขึ้นในการเข้าไปแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นที่หมักหมมมานาน รวมทั้งสามารถผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อรับประกันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเหนือสิ่งอื่นใด เขาจะสามารถเดินหน้าขจัดนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลตามแผนกวาดล้างคอร์รัปชันให้สิ้นซากได้ต่อไป
การเดินหมากที่เสี่ยงของสีจิ้นผิง
การกุมอำนาจบริหารประเทศในมือของคนคนเดียวอาจเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงสีจิ้นผิงได้เช่นกัน แม้ด้านหนึ่งจะทำให้การเมืองจีนดูมั่นคงขึ้นและส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการกวาดล้างคอร์รัปชันที่เปรียบเหมือนเซลล์มะเร็งร้ายที่บ่อนทำลายสังคมจีน แต่อย่าลืมว่าจีนก็เคยมีบทเรียนจากความระส่ำระสายในยุคของเหมาเจ๋อตุงที่มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ
คาร์ล มินซ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและธรรมาภิบาลจีน แสดงความเห็นว่า ความเสี่ยงในประเทศที่ร้ายแรงที่สุดเมื่อบรรทัดฐานในยุคการปฏิรูปเริ่มผุกร่อนก็คือ ความไร้เสถียรภาพและความวุ่นวายทางการเมืองแบบยุคก่อนปี 1978 กำลังจะก่อตัวขึ้น ซึ่งอาจตามมาหลอกหลอนจีนอีกครั้งเหมือนกับซอมบี้ที่ปีนขึ้นมาจากหลุมศพ
ที่ผ่านมาจีนมีการคุมเข้มการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และนับตั้งแต่ที่มีข่าวแพร่สะพัดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้สีจิ้นผิงครองอำนาจไปตลอดชีพนั้น ระบบ Great Firewall ในโลกไซเบอร์ของจีนก็เดินหน้าเซนเซอร์คำศัพท์ที่อ่อนไหวอย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการบล็อกวลีว่า ‘ฉันไม่เห็นด้วย’ ไปจนถึงคำว่า ‘ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง’ ในโซเชียลมีเดียของจีน
แต่มีคำถามตามมาว่า จีนจะเซนเซอร์ได้อีกนานแค่ไหน เพราะการปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนอาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด
อำนาจยิ่งมาก ยิ่งสร้างความหวาดระแวง
นับตั้งแต่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์มีฉันทานุมัติให้นำปรัชญาการเมืองของสีจิ้นผิงบัญญัติลงในธรรมนูญของพรรค สีจิ้นผิงก็ได้รับการเทิดทูนเยี่ยงรัฐบุรุษเหมาเจ๋อตุง และทำให้เขากลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจที่สุดในจีนยุคสมัยใหม่
หนึ่งในผลงานที่ทำให้สีจิ้นผิงได้รับการยำเกรงและเป็นที่ยอมรับภายในพรรคคือการที่เขาใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการลงโทษศัตรูทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์จากข้อหาทุจริต แต่หลังจากนี้อริทางการเมืองคงต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปกันใหญ่ เพราะจะไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนไหนกล้าเห็นต่างไปจากเขา ซึ่งจะเปิดทางให้เขาสามารถจัดตั้งระบบโครงสร้างการเมืองและการทหารที่มีเพียงเฉพาะผู้ที่ภักดีต่อเขาเท่านั้น ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างจากสมัยที่ขุนนางในพระราชสำนักก้มหัวสนองพระราชโองการของพระจักรพรรดิเท่าใดนัก
แต่การกวาดล้างคอร์รัปชันขั้นเด็ดขาดได้นำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ว่า เขามีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทุจริตไม่ได้กระทำอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขามากมายถึงความพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ดังเช่นกรณีของ ป๋อซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสาขาฉงชิ่งและสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดที่ 17 ผู้ซึ่งเคยได้รับการจับตาว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจีนในอนาคต แต่เขาถูกขับออกจากพรรค และถูกลงโทษจำคุก พร้อมยึดทรัพย์สินด้วยความผิดฐานคอร์รัปชัน
จางลี่ฝาน นักประวัติศาสตร์จีนชื่อดังให้ทัศนะว่า ระบอบเผด็จการภายใต้ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของจีน ทำให้เกิดปัญหาด้านความโปร่งใสและการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะเป็นต้นตอให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากอำนาจบริหารประเทศแล้ว เขายังควบคุมกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (เมื่อวัดจากกำลังพล) ด้วยงบประมาณกลาโหมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของสีจิ้นผิง ก็เปรียบได้กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander in Chief) ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงแต่มีอำนาจสั่งซ้ายหันขวาหันเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจบัญชาการหน่วยขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ในสังกัดกองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army Rocket Force) หรือในชื่อเดิมคือ ‘เหล่าทหารปืนใหญ่ที่ 2’ (Second Artillery Corps) ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่รับผิดชอบดูแลคลังขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) อีกด้วย
วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงของสีจิ้นผิงคือการสร้างกองทัพจีนให้ทันสมัย มีกองทัพเรืออันเกรียงไกรที่สามารถปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติในน่านน้ำทะเลเปิด และเหนือสิ่งอื่นใด กองทัพของเขาจะต้องพร้อมสู้รบอยู่ตลอดเวลา และมีศักยภาพในการ ‘เผด็จศึก’ ศัตรูได้อีกด้วย
สำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่มีประเด็นพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะกลางทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญนั้น ก็ยิ่งต้องจับตาความเคลื่อนไหวของจีนมากขึ้นเป็นพิเศษ
โดยในเดือนที่แล้ว กองทัพจีนได้ส่งเครื่องบินรบ Su-35 ที่เพิ่งนำเข้าจากรัสเซียเข้าประจำการในภารกิจลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศเพื่อนบ้านว่า จีนพร้อมปกป้องอธิปไตยบนดินแดนพิพาทเหล่านี้ในฐานะผลประโยชน์แห่งชาติระดับแกนกลางของจีน
นอกจากนี้จีนยังนำเครื่องบินขับไล่แบบสเตลธ์ที่พัฒนาขึ้นเองอย่าง J-20 ที่ถูกนำไปเปรียบกับ F-22 ของสหรัฐฯ และ Su-57 ของรัสเซีย เข้าประจำการในหน่วยรบแนวหน้าของกองทัพอากาศด้วย ซึ่งถือเป็นการประกาศความพร้อมในการสู้รบหากต้องเผชิญศึกสงคราม
นักวิชาการแนะเรียนรู้บทเรียนในอดีต
แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าสีจิ้นผิงจะอยู่ในอำนาจเกินกว่า 3 สมัย (15 ปี) แต่ค่อนข้างแน่นอนว่า สีจะคุมหางเสือเรือในฐานะประธานาธิบดีจีนเป็นเวลา 15 ปีเป็นอย่างน้อย
สตีฟ เจิง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนในอังกฤษเตือนว่า สีจิ้นผิงควรเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในประวัติศาสตร์ เพราะเราเคยเห็นมานักต่อนักแล้วกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้นำในหลายประเทศ หรือแม้แต่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอง หากพวกเขายื้ออำนาจยาวนานเกิน 10 ปีก็จะเจอปัญหาตามมาทั้งสิ้น สำหรับกรณีของจีนนั้น การผูกขาดอำนาจอาจนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันใหม่ๆ ที่ไม่มีวันจบสิ้น
สีจิ้นผิง ไม่ใช่ ‘ปูตินแห่งจีน’ แต่เป็นผู้นำคนดีแบบจีนนิยม
สีจิ้นผิงไม่ได้พยายามจะเป็น ‘ปูตินแห่งจีน’ แต่กำลังสร้างโมเดลใหม่เป็นของตัวเอง ด้วยระบบผู้นำแบบจีนนิยม
โมเดลใหม่นี้ทำให้สีจิ้นผิงไม่จำเป็นต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีดังเช่นที่ปูตินเคยลงไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพื่อคั่นกลางก่อนกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เพราะสีจิ้นผิงมีอำนาจบารมีในประเทศมากกว่านั้น และการที่เขาได้รับการเทิดทูนและยกย่องจากคนในพรรคมากกว่าผู้นำรุ่นก่อนๆ จึงทำให้เขาสามารถสืบต่ออำนาจได้อย่างชอบธรรม
ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะดังแค่ไหน แต่สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะออกมาตอกกลับว่า สีจิ้นผิงคือบุคคลที่ใช่สำหรับจีน และเป็นผู้นำในอุดมคติที่ประชาชน 1,400 ล้านคนจะฝากความหวังเพื่อสานฝันของคนจีนให้เป็นความจริง ความฝันนี้คือการทวงคืนความยิ่งใหญ่ของจีนบนเวทีโลก แต่คำถามก็คือ สิ่งนี้ใช่ความฝันของคนทั้งประเทศจริงหรือ?
ถึงแม้ว่าเขาจะมีผลงานโดดเด่นในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ แต่เขาก็ยังมีปัญหาท้าทายในการแก้ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สีจิ้นผิงต้องตามแก้ต่อไป หากเขายังต้องการรักษาอำนาจให้ยาวนานโดยที่ไม่เกิดการลุกฮือขึ้น
นอกจากการครองใจประชาชนแล้ว สีจิ้นผิงยังมีความท้าทายในการควบคุม 3 สถาบันที่เป็นเสาหลักค้ำจุนประเทศให้อยู่หมัด ทั้งสถาบันชาติ พรรคคอมมิวนิสต์ และทหาร ถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่มีการแตกแถวเกิดขึ้น แต่ แอนดรูว์ นาธาน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์ย่อมมีความอิจฉาริษยา แน่นอนว่ามีผู้ที่เกลียดสีจิ้นผิงหรือไม่เห็นด้วยกับเขาอยู่มาก ไม่ว่าจะเรื่องนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันหรือการผูกขาดอำนาจของเขา แต่พวกเขายังคงปิดปากเงียบ อาจจะด้วยความเกรงกลัว หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามแต่
การฉีกธรรมเนียมปฏิบัติในการส่งผ่านอำนาจบริหารประเทศจากรุ่นสู่รุ่น ย่อมทำให้สีจิ้นผิงต้องห่วงหน้าพะวงหลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ หลังจากนี้ และการที่เขาถูกจับตามองมากขึ้นในฐานะผู้นำโลกที่ทัดเทียมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยิ่งทำให้เขาอยู่ในจุดที่พลาดพลั้งไม่ได้ แต่เขาย่อมตระหนักดีว่าการเดินรอยตามระบอบการปกครองแบบเผด็จการของเหมาเจ๋อตุงอาจไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.ft.com/content/bc8ab2bc-24fe-11e8-b27e-cc62a39d57a0
- www.telegraph.co.uk/news/2018/03/11/chinas-parliament-backs-xi-jinpings-power-grab-almost-unanimous
- edition.cnn.com/2018/03/11/opinions/presidential-weekly-briefing-china-opinion-vinograd/index.html
- www.nbcnews.com/news/world/analysis-xi-jinping-retuns-china-era-one-man-rule-n851531
- edition.cnn.com/2018/03/11/asia/china-presidential-term-limits-intl/index.html?sr=twCNN031218china-presidential-term-limits-intl0158AMVODtop