×

เส้นทาง ‘สีจิ้นผิง’ ก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้นำทรงอิทธิพลของโลก

10.10.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่จะเปิดฉากในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของแดนมังกร เนื่องจาก ‘สีจิ้นผิง’ อาจได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคสมัยที่ 3 เพื่อกรุยทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่ครองอำนาจยาวนาน

 

ภายใต้การกุมบังเหียนของสี ช่วง 2 สมัย หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า จีน ในฐานะมหาอำนาจ ‘อันดับสอง’ และคู่ปรปักษ์ ‘อันดับหนึ่ง’ ของสหรัฐฯ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในหลายๆ ด้าน ในขณะเดียวกัน ก็เผชิญความท้าทายมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สงครามการค้า การเมืองและความมั่นคง ทั้งภายในประเทศและระดับโลก

 

บทบาทและอิทธิพลของสีในวัย 69 ปี ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้นำเผด็จการที่ทรงอำนาจมากที่สุด นับตั้งแต่ยุคของ ‘ประธานเหมา’ หรือ ‘เหมาเจ๋อตุง’

 

ในขณะที่นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เขาเป็น ‘บุคคลผู้ทรงอำนาจที่สุดของโลก (The World’s Most Powerful People)’

 

แน่นอนว่ากว่าจะก้าวมาสู่การเป็นผู้นำระดับโลก ที่มาที่ไปของสีย่อมไม่ธรรมดา วันนี้ THE STANDARD จะพาไปรู้จักกับอดีตและตัวตนของชายที่ทั่วโลกต่างยำเกรงผู้นี้

 

จากเจ้าชาย สู่แรงงานชนบท

 

  • สีจิ้นผิง (Xi Jinping) เกิดในวันที่ 15 มิถุนายน 1953 ที่กรุงปักกิ่ง เป็นบุตรชายของ สีจงซุน (Xi Zhongxun) ทหารผ่านศึกและวีรบุรุษนักปฏิวัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำยุคบุกเบิกของพรรคคอมมิวนิสต์ และครั้งหนึ่งเคยเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจรองจากอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล

 

  • การเป็นบุตรชายของเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับชนชั้นนำ ทำให้สีถูกมองว่าเปรียบเหมือน ‘เจ้าชาย’ ที่มีทุกอย่างรองรับและมีชีวิตสะดวกสบาย ถึงแม้ว่าบิดาของเขาจะมีความเข้มงวดอย่างมากต่อสมาชิกครอบครัว โดย โจเซฟ โทริเกียน (Joseph Torigian) ผู้เขียนชีวประวัติของสี เผยว่า “ความเข้มงวดต่อสมาชิกในครอบครัวของจงซุนนั้นร้ายแรงมาก จนแม้แต่คนใกล้ชิดของเขายังมองว่าแทบจะไร้มนุษยธรรม”

 

  • อย่างไรก็ตาม ชีวิตของสีและครอบครัวพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังบิดาของเขาถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการปฏิวัติและมีแนวคิดเป็นปรปักษ์กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายที่ถูกกำจัดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งมีการกวาดล้างผู้เห็นต่างครั้งใหญ่

 

  • จงซุนถูกปลดจากทุกตำแหน่งระดับผู้นำในรัฐบาล ก่อนจะถูกส่งไปทำงานในโรงงาน และถูกดำเนินคดีและจำคุก

 

  • สถานะชนชั้นนำของสีหายไปในช่วงข้ามคืน ครอบครัวของเขาต้องแยกทางและหนีเอาตัวรอด หนึ่งในพี่สาวต่างมารดาของเขาเสียชีวิต โดยมีรายงานว่าเธอฆ่าตัวตายเพราะถูกข่มเหง ขณะที่สีเคยเล่าว่าเขาถูกเพื่อนร่วมชั้นเรียนตัดขาดและไม่ยุ่งเกี่ยว

 

  • ในวัย 15 ปี สีถูกส่งไปยังชนบท เพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ และใช้แรงงานอย่างหนักด้วยการขนเมล็ดพืชในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านยากไร้ที่อยู่ห่างไกล ทางภาคกลางของจีน เขาต้องอาศัยหลับนอนในบ้านภายในถ้ำนานกว่า 7 ปี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่กลายเป็นฝันร้ายและแผลในใจของสีมายาวนาน และต่อมากลายเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าตัวตนของเขาอย่างเป็นทางการหลังขึ้นครองเก้าอี้ผู้นำประเทศ

 

  • ในการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Washington Post เมื่อปี 1992 สีกล่าวถึงอดีตอันขมขื่นว่า “ความหนักหน่วงในการใช้แรงงานนั้นทำให้เขาถึงกับตกตะลึง” ขณะที่การปรับทัศนคติบีบบังคับให้เขาต้องประณามบิดาของเขาเอง

 

  • “ถึงแม้ว่าคุณไม่เข้าใจ คุณก็จะถูกบังคับให้เข้าใจ” สีกล่าว พร้อมชี้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “มันทำให้คุณเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น”

 

  • ขณะที่ อัลเฟรด แอล. ชาน (Alfred L. Chan) ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของสีกล่าวว่า ประสบการณ์ในวัยเยาว์เหล่านี้หล่อหลอมให้เขา ‘แข็งแกร่ง’ 

 

ทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่เรียกร้องความสนใจ ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด

 

  • แม้ว่าสีและครอบครัวจะเผชิญชะตากรรมอันยากลำบากจากฝีมือของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่นอกจากจะไม่คิดแค้นและหาทางต่อต้าน เขากลับยอมรับและพยายามเข้าร่วม ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธเพราะแนวคิดของบิดาที่ถูกมองว่าเป็นความอัปยศและขัดต่ออุดมการณ์พรรค

 

  • ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของสีเป็นผลในท้ายที่สุด เขาได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคในปี 1974 และทำงานอย่างหนักเพื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเริ่มจากตำแหน่งหัวหน้าสาขาของพรรคในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลฝูเจี้ยนในปี 1999 ก่อนจะกลายเป็นหัวหน้าสาขาของพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียงในปี 2002 และหัวหน้าสาขาพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางการเงินและนครใหญ่อันดับ 2 ของจีน

 

  • เอเดรียน ไกเกส (Adrian Geiges) ผู้เขียนหนังสือ สีจิ้นผิง : ชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลก กล่าวว่า การทำงานของสีนั้นเป็นระบบระเบียบอย่างมาก เพื่อให้ได้ประสบการณ์ โดยเริ่มจากงานในระดับต่ำสุดในหมู่บ้าน สู่มณฑลและตำแหน่งอื่นๆ และเขายังฉลาดมาก ด้วยการปฏิบัติตัวไม่ให้เป็นที่สนใจ

 

  • หลังเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม ระหว่างปี 1975-1979 สีมีโอกาสได้เข้ารับการศึกษาที่คณะวิศวกรรมเคมี แห่งมหาวิทยาลัยซิงหวา (Tsinghua University) ในกรุงปักกิ่ง โดยเข้าเรียนในฐานะ ‘นักเรียนแรงงาน-ชาวนา-ทหาร (Worker-Peasant-Soldier Student)’ ซึ่งไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา แต่ใช้ ‘ปูมหลังและชนชั้น’ ของพ่อแม่ที่มีอาชีพแรงงาน ชาวนา และทหาร ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับสิทธิพิเศษและการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

 

  • ในระหว่างเรียนวิชาเอกด้านวิศวกรรม ช่วงเวลาการศึกษาของสีราว 15% ยังถูกแบ่งไปกับการศึกษาแนวคิดของเหมาเจ๋อตุงและลัทธิมาร์กซ์และเลนิน และอีก 5% ใช้กับการทำงานด้านการเกษตรและรับการฝึกสอนจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน

 

  • หลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เกียรติยศและชื่อเสียงบิดาของสีได้รับการกู้คืน ในขณะที่สถานะและบทบาททางการเมืองของสีก็ดีขึ้นอย่างมาก

 

  • ผลงานของสีภายในพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Standing Committee of the Politburo) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตัดสินใจในระดับสูงสุด

 

  • กระทั่งปี 2012 เขาจึงได้รับเลือกให้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของจีน แทนที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา

 

  • ด้านชีวิตส่วนตัว ภายหลังการหย่าร้างกับภรรยาคนแรก สีได้แต่งงานใหม่กับ เผิงลี่หยวน นักร้องโซปราโนชื่อดังในปี 1987 โดยทั้งสองได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อของทางการ เนื่องจากคู่ครองของประธานาธิบดีจีนคนก่อนๆ นั้นมักจะทำตัวไม่เป็นที่สนใจมากนัก

 

10 ปี ‘จีน’ ภายใต้บังเหียนของ ‘สี’ กับวิสัยทัศน์ ‘ความฝันของจีน’

 

  • ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สีมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน คือการเห็นจีนก้าวขึ้นเป็นประเทศทรงอำนาจที่สุดของโลก ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แซงหน้าเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐฯ โดยใจกลางของวิสัยทัศน์นั้นคือสิ่งที่สีเรียกว่า ‘ความฝันของจีน (China Dream)’ หรือ ‘การฟื้นฟูอันยิ่งใหญ่ของชาติจีน’

 

  • ภายใต้บังเหียนของสี จีนได้ออกกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับการเติบโตที่ชะลอตัวลง เช่น การตัดลดอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นเจ้าของ และลดการแพร่กระจายมลพิษ ตลอดจนดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกขนานนามว่า ‘สีโคโนมิกส์ (Xiconomics)’ ซึ่งประกอบด้วย 7 นโยบายหลัก ได้แก่

 

  1. โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือโครงการฟื้นฟูการเชื่อมต่อตามเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการติดต่อสื่อสารระหว่างจีนกับหลายประเทศในภูมิภาค

 

  1. เอกสารการปฏิรูป (Reform Document) ซึ่งกำหนดรายละเอียดดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญจำนวน 336 งาน และตั้งเป้าทำให้สำเร็จในปี 2020 เช่น การผ่อนคลายการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ การปฏิรูปการคลัง และการเปิดกว้างทางการเงิน

 

  1. การปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน หรือการดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ มากกว่าตัวเลขการขยายตัวของ GDP โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และธนาคารเงา (Shadow Banking) ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติ ไปจนถึงความท้าทายด้านประชากรศาสตร์

 

  1. การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในตลาดสังคมนิยมของจีนมาช้านานให้แข็งแกร่งมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทาย เช่น การคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ และการรับมือโรคระบาดใหญ่ (Pandemic)

 

  1. ยุทธศาสตร์วงจรแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่เน้นทั้งการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการส่งออกมานานหลายทศวรรษ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายชุดใหม่ในอีก 15 ปีข้างหน้า

 

  1. ความรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) หรือการกระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาขั้นต่อไป

 

  1. กลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ในปี 2021 จีนถือเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักประเทศแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ระลอกแรกๆ แต่การยึดมั่นในแนวทางควบคุมการระบาดของโควิดให้เป็นศูนย์ ด้วยมาตรการที่เข้มงวด เช่น การล็อกดาวน์แบบปิดเมืองบางส่วน เพื่อต่อสู้กับโควิดสายพันธ์ุโอมิครอนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน

 

แต่ถึงกระนั้น สีเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุดในการจัดการกับโรคระบาด ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยชีวิตของประชาชนด้วย

 

  • สำหรับในเวทีโลกนั้น รัฐบาลปักกิ่งในยุคของสีแสดงความแน่วแน่และชัดเจนในด้านต่างๆ ตั้งแต่การขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการประท้วงจากนานาชาติ และการแสดงอำนาจอย่างนุ่มนวล ด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนมหาศาลในหลายประเทศแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการดำเนินนโยบายของสี คือการฟื้นคืนของลัทธิชาตินิยมผู้รักชาติ ขณะที่สีได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อของรัฐ ที่ฉายภาพเขาในฐานะบุรุษผู้แข็งแกร่งของประเทศ แต่ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มที่มองว่าเขาพยายามพัฒนาบุคลิกและตัวตนให้คล้ายกับประธานเหมา

 

  • หนึ่งในผลงานของสีที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก คือการประกาศต่อสู้กับปัญหาความยากจนและสร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชน โดยช่วงระหว่างปี 2013-2021 รัฐบาลปักกิ่งได้ทุ่มงบประมาณเพื่อขจัดความยากจนกว่า 1.6 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 8.4 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การก่อสร้างถนน บ้านเรือนประชาชน ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน

 

  • กระทั่งในปี 2020 จีนจึงประกาศยุติความยากจนแบบสุดขั้ว (Extreme Poverty) ได้สำเร็จ ขณะที่ความมั่งคั่งของประเทศก็พุ่งทะยาน โดยนับตั้งแต่ปี 2013-2020 ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในพื้นที่เมืองพุ่งสูงขึ้นกว่า 66% ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

 

  • ระบบคมนาคมขนส่งเป็นอีกตัวชี้วัดถึงความก้าวหน้าในยุคการปกครองของสี โดยระยะทางของโครงข่ายรางรถไฟความเร็วสูงเพิ่มจาก 9,300 กิโลเมตร ในปี 2012 เป็นกว่า 40,000 กิโลเมตร ในปี 2021 ขณะที่ข้อมูลการจราจรของเที่ยวบินโดยสารช่วงปี 2012-2019 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

 

  • นโยบายกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของสี โดยตลอดระยะเวลา 2 สมัยที่ผ่านมา เขาเดินหน้าทำสงครามต่อต้านการคอร์รัปชันด้วยแนวทาง ‘จับเสือ ปราบแมลงวัน’ ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับล่าง

 

  • ข้อมูลของทางการจีนชี้ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนราว 11.3 ล้านคน ที่แจ้งเตือนและร้องเรียนเรื่องการทุจริตเล็กน้อยของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษไปแล้วอย่างน้อย 1.5 ล้านคน

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่าการเดินหน้านโยบายกวาดล้างคอร์รัปชันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมืองของสี

 

  • โดยสัญญาณที่ชัดเจนถึงการแสดงอำนาจและอิทธิพลของสี คือการลงมติรับรองของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2017 เพื่อบรรจุปรัชญา 14 ข้อของตน ที่เรียกว่า ‘ความคิดของสีจิ้นผิง ว่าด้วยลัทธิสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีนสำหรับยุคใหม่’ ลงในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับปรัชญาของ เหมาเจ๋อตุง และ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานกฎหมายที่สำคัญทั้งหมดของจีน

 

  • นอกจากนี้ สียังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการด้านอวกาศ โดยตลอด 10 ปีมานี้ จีนมีความก้าวหน้าด้านโครงการอวกาศอย่างมาก เช่น การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ถึง 2 ครั้ง เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ในปี 2013 และ 2019 และการส่งหุ่นยนต์สำรวจ ‘จู้หรง (Zhurong Rover)’ ลงบนพื้นผิวดาวอังคาร เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ขณะที่การสร้างสถานีอวกาศ ‘เทียนกง’ ก็คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปีนี้

 

  • อีกบทบาทของจีนในฐานะประเทศที่แพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกกว่า 29% ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในยุคของสี จากการผลักดันนโยบายสีเขียว ด้วยการลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการประกาศคำมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับสูงสุดก่อนปี 2030 และมุ่งสู่เป้าหมาย ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)’ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060

 

ผู้นำจีนที่เผด็จการที่สุด นับตั้งแต่ประธาน ‘เหมา’

 

  • หลังรับหน้าที่ประธานาธิบดีแทนหูจิ่นเทาในปี 2012 นักวิเคราะห์หลายคนทั่วโลกมองว่า สีอาจเป็นผู้นำจีนที่มีความเสรีนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยพิจารณาจากประวัติการทำงาน ซึ่งไม่ค่อยทำตัวดึงดูดความสนใจ และเรื่องราวของครอบครัวที่เผชิญความลำบากและทุกข์ทรมานมามากมาย

 

  • การคาดการณ์เหล่านั้นพังทลายลงใน 10 ปีต่อมา และเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเข้าใจที่มีต่อตัวตนและความคิดของสี ซึ่งกลายเป็นชายผู้ทรงอำนาจมากที่สุดของจีน อาจจะยังน้อยเกินไป

 

  • ภายใต้การปกครองของสี เขาได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยานโดยไร้ความปราณี และไม่อดทนต่อความขัดแย้งหรือเห็นต่าง ด้วยความปรารถนาที่จะควบคุมและแทรกซึมเข้าไปในทุกแง่มุมของชีวิตประชาชนจีนในยุคใหม่

 

  • การปราบปรามเสรีภาพในยุคของสีเกิดขึ้นทั้งภายในจีนแผ่นดินใหญ่และดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตย เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง การปิดกั้นความเห็นบนอินเทอร์เน็ตและการจับกุมผู้เห็นต่าง ต่อต้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนปรากฏให้เห็นมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่ต่อต้านบรรยายภาพของสีในฐานะผู้นำจีนที่เผด็จการที่สุดนับตั้งแต่ประธานเหมา

 

  • การละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมโลกเพ่งเล็งรัฐบาลจีนในยุคสี โดยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการจีนได้กักขังชาวมุสลิมอุยกูร์มากกว่า 1 ล้านคน ไว้ภายในค่าย ‘ปรับทัศนคติ’ ขณะที่ปรากฏหลักฐานการบังคับใช้แรงงานและบังคับให้ผู้หญิงชาวอุยกูร์ทำหมัน

 

  • หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ประณามจีนว่าทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการปราบปรามชาวอุยกูร์

 

  • ที่ฮ่องกง ในปี 2019 ประชาชนนับล้านออกมาประท้วงต่อต้านแผนผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ แต่หลังกฎหมายถูกระงับ การประท้วงกลายเป็นการเดินขบวนเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเรียกร้องการเลือกตั้งแบบสากล

 

  • บรรยากาศตึงเครียดที่ทวีความรุนแรง ทำให้สียุติการประท้วงด้วยการลงนามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 ให้อำนาจปักกิ่งเข้าควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อย กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยถูกกวาดล้าง จับกุมและตั้งข้อหาแบ่งแยก ล้มล้างและร่วมมือกับกองกำลังต่างชาติ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต

 

  • สียังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นไต้หวัน ซึ่งมองว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน โดยในวันครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา เขาได้ประกาศคำมั่นในการรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ยังคงพร้อมใช้กำลังทหารหากจำเป็น และพร้อมป้องกันความเคลื่อนไหวในการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันเช่นกัน

 

  • ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา บรรยากาศระหว่างจีนและไต้หวันเป็นไปอย่างตึงเครียดถึงขีดสุด นับตั้งแต่ที่จีนเพิ่มแรงกดดันด้วยการส่งเครื่องบินรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ไต้หวันจะให้การต้อนรับ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และคณะผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนต้องแสดงแสนยานุภาพ ซ้อมรบใหญ่ทางทะเลรอบเกาะไต้หวัน

 

  • จะเห็นได้ว่านโยบายต่างประเทศในยุคของสี โดยเฉพาะกรณีต่างๆ ที่ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเพ่งเล็ง ทั้งซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน นั้นมีความดุดันและแข็งกร้าวมากกว่าที่ผ่านมา โดยปักกิ่งเน้นย้ำมาตลอดว่าประเด็นทั้งหมดถือเป็น ‘กิจการภายใน’ และไม่ต้องการความเห็นหรือท่าทีแทรกแซงจากต่างชาติ

 

  • ขณะที่สีเคยกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ เมื่อต้นปี 2021 ว่าจีนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ และส่งข้อความไปยังทั่วโลกที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เกรงกลัวใครว่า “ไม่มีใครจะเอาชนะเราหรือบีบเราได้”

 

อย่างไรก็ตาม ผลงานของสีตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขามีศักยภาพมากพอที่จะนำพาจีน ในฐานะมหาอำนาจจากขั้วเผด็จการ ฝ่าแรงต้านของสหรัฐฯ และประเทศในขั้วประชาธิปไตย เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือการเป็นประเทศทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก

 

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายและยังมีความท้าทายอีกมากรอคอยอยู่ หากว่าเขาสามารถสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ได้ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้

 

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising