มูลค่าสินทรัพย์ในกองทุน ESG ของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับจากปี 2021 รับอานิสงส์นโยบายประธานาธิบดี ‘สีจิ้นผิง’ ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีน ส่งผลให้หุ้นถ่านหิน ปิโตรเคมี เหล็ก และสุรา ได้รับความสนใจจากกองทุน ESG ไปด้วยจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายสีจิ้นผิง
Hou Chunyan ผู้จัดการกองทุนของ Da Cheng ให้ข้อมูลว่า การลงทุน ESG สอดคล้องกับนโยบายมั่งคั่งร่วมกันของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้พอร์ตโฟลิโอของ Hou ในกองทุน Da Cheng ESG Responsibility Investment Mixed Fund จึงมีการลงทุนทั้งในหุ้นถ่านหิน หุ้นสุรา หุ้นปิโตรเคมี และหุ้นพลังงานแสงอาทิตย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากยอมรับและตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของดัชนี ESG หลักของจีน อย่าง CSI 300 ESG Leaders Index
และด้วยนโยบายมั่งคั่งร่วมกัน และ Net Zero ของสีจิ้นผิง ตลาดตราสารหนี้ก็ขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการออก Green Bond และทำให้ตอนนี้มีกองทุนใหม่อย่างน้อย 112 กองทุนได้เปิดตัวในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา (ตามข้อมูลของ Bloomberg) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมารวมกัน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเองก็ให้ความสนใจและมีความต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ ESG มากขึ้น ผลสำรวจของ Fidelity International ระบุว่านักลงทุนรายย่อยในจีนแสดงความต้องการกองทุนประเภทนี้มากกว่าเมื่อเทียบกับนักลงทุนในตลาดหลักอื่นๆ ในเอเชีย ส่งผลให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็นประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปี 2021
ส่วนฝั่งผู้จัดการกองทุนของจีนได้ให้นิยามคำว่า ESG ว่า เป็นแนวคิดที่ใกล้ชิดกับลำดับความสำคัญทางการเมืองของจีน ซึ่งรวมถึงเป้าหมาย Net Zero ในปี 2060 ควบคู่ไปกับความมั่นคงด้านพลังงาน การจ้างงานในชนบท และการบรรเทาความยากจน
ทั้งนี้ กองทุน ESG มากกว่า 170 กองทุนในจีนมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศจีน โดยประมาณ 15% ของกองทุน ESG ลงทุนในบริษัทถ่านหินแม้จะเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และมากกว่า 60% ถือหุ้นในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริโภคถ่านหินรายใหญ่ของประเทศ
ข้อมูลข้างต้นอาจบ่งชี้ได้ว่าตลาด ESG ไม่มีอยู่จริง จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศว่าจีนจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2060 และอีก 1 ปีต่อมา สีจิ้นผิงได้เพิ่มนโยบายความมั่งคั่งร่วมกันเข้ามา ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่ารวมถึงโครงการต่อต้านความยากจน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวาระหลักของรัฐและกองทุนของรัฐขนาดใหญ่ก็เริ่มขอการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญเหล่านี้
Bradford Cornell ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเศรษฐศาสตร์การเงินที่ UCLA กล่าวว่า ผู้คนต่างพูดถึง ESG ราวกับเป็นสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันว่ามันคืออะไร ทั้งที่ไม่เคยมีการตกลงร่วมกันเลย นั่นก็เพราะในประเทศจีน กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้นล้วนกำหนดโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ นิยาม ESG ของจีนต่างจากทั่วโลก
Liu Xiangfeng ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ ESG จาก QuantData ซึ่งบริษัทตั้งอยู่ในปักกิ่ง กล่าวว่า นักวิเคราะห์ท้องถิ่นจะมองว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นข้อดี ในขณะที่คู่ค้าของพวกเขาในยุโรปอาจมองว่าเป็นข้อเสีย สะท้อนว่าในการพิจารณาเรื่อง ESG นั้นมีเรื่องของความต่างทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนี้บริษัทแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ Kweichow Moutai ที่มีความคิดริเริ่มในการจ้างงานในชนบท จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่ครองอันดับต้นๆ ในดัชนี CSI 300 ESG Leaders ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดตามบริษัท 100 แห่งที่จดทะเบียนในเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นที่มีการจัดอันดับ ESG สูงสุด
ส่วน China Shenhua Energy ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 78% มาจากการขุดถ่านหิน ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของดัชนี เนื่องจากบริษัทผลิตพลังงานหมุนเวียนบางส่วนและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน
นอกจากนี้ ประมาณ 10% ของกองทุน ESG ของจีนยังถือหุ้นบริษัท Hangzhou Hikvision Digital Technology ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเฝ้าระวังภายใต้การคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่าบริษัทนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียงก็ตาม
Boya Wang นักวิเคราะห์ ESG ของ Morningstar Inc. กล่าวว่า รัฐบาลต้องการตีความและกำหนดนิยามของ ESG ของตัวเอง เพราะอยากแน่ใจว่ามันจะไม่ขัดแย้งกับกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยนโยบายมั่งคั่งร่วมกัน ขจัดความความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และขจัดความยากจน
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น บริษัทระดับโลกก็ลงสนามการลงทุนด้าน ESG ของจีนด้วย โดย AXA SA และ Morgan Stanley กำลังเปิดตัวกองทุน ESG ใหม่ร่วมกับพันธมิตรร่วมทุน โดยเพิ่มสินทรัพย์รวมเกือบ 2 พันล้านหยวน (290 ล้านดอลลาร์) ในเวลาไม่ถึง 2 ปี
กองทุนที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งชอบวลีที่จับใจ เช่น พลังงานใหม่ คาร์บอนต่ำ หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม กับเพื่อตีตรา ESG ให้กว้างขี้น ตัวอย่างเช่น Fullgoal Beautiful China Mixed Fund ที่เปิดตัวในปี 2016 ด้วยกลยุทธ์การลงทุนตามโครงการ Beautiful China ที่เผยแพร่เมื่อทศวรรษที่แล้ว ซึ่งส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“อุตสาหกรรมและบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายนี้จะกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ดี” Fullgoal ระบุในหนังสือชี้ชวน
ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่กองทุนจีนเท่านั้นที่พยายามขยายคำจำกัดความดั้งเดิมของ ESG และการลงทุนที่ยั่งยืน หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการสร้างมาตรฐานด้าน ESG เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุน ESG ต่างๆ จะได้รับการรับประกัน แม้แต่ในยุโรปเองซึ่งกำลังพัฒนาเกณฑ์ที่เข้มงวดที่สุด แต่กองทุน ESG ในยุโรปกลับสามารถถือหุ้นธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ภายใต้กฎที่เรียกว่ามาตรา 8 ตราบเท่าที่บริษัทเหล่านั้นยืนยันว่าพวกเขาส่งเสริมความยั่งยืน
นักวิเคราะห์จาก Bank of America Corp. กล่าวว่า กฎระเบียบเหล่านั้นยังสะท้อนถึงอภิสิทธิ์ของรัฐบาลอีกด้วย กองทุนหุ้น ESG ในยุโรปได้เพิ่มการลงทุนในบริษัทต่างๆ เช่น Shell Plc และ Repsol, S.A. เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ตลาดพลังงานแทบพังทลาย
กองทุน ESG ทั่วโลกยังมองจีนเป็นโอกาสสำคัญ
สำหรับนักลงทุน ESG บางรายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา การลงทุนในจีนถูกห้ามโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุผลด้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการของจีน โดย Felix Boudreault หุ้นส่วนและผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ตลาดด้านความยั่งยืนจาก Montreal กล่าวกับ Bloomberg News ว่า สำหรับตลาดจีนนั้น การลงทุนแทบจะไม่มีมุมมองของ ESG เพราะว่าเพียงแค่ภาครัฐจรดปากกาเซ็นอนุมัติ ข้าราชการของจีนก็สามารถกวาดล้างได้ทั้งอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันบริษัทการลงทุนของเนเธอร์แลนด์มูลค่า 1.18 แสนล้านดอลลาร์ เริ่มขึ้นบัญชีดำพันธบัตรรัฐบาลของจีน และหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปแล้ว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ตาม กองทุน ESG ส่วนใหญ่ยังมองการลงทุนในจีนเป็นโอกาสลงทุนอยู่ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2022 กองทุน ESG ในยุโรปถือครองสินทรัพย์จีนประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมกองทุน ESG ในประเทศของจีนถึง 2 เท่า ขณะที่กองทุนที่บริหารโดยสหรัฐฯ ก็ถือหุ้นในจีนเกือบ 8 พันล้านดอลลาร์
นั่นอาจเป็นเพราะว่าแนวทางการลงทุนด้าน ESG ของจีนนั้นมีการกำหนดกรอบไว้น้อยกว่ามาก เนื่องจากกองทุนพยายามเลียนแบบนโยบายหลักของรัฐ ซึ่งมีตั้งแต่การลดการปล่อยมลพิษสำหรับอากาศและน้ำที่สะอาดขึ้น ไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และการเคลื่อนไหวทางสังคม
Shirley Xu หัวหน้าฝ่ายวิจัย ESG ของ China Asset Management Co. กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการสินทรัพย์ในประเทศจีน นอกเหนือจากการใช้การจัดอันดับระหว่างประเทศเป็นข้อมูลอ้างอิง เราต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนในปัจจุบันและลงทุนตามนั้น เรามีการปรับการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมตามลักษณะประเทศ ดังนั้นหลักการและวิธีการลงทุนอาจแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ
Xu กล่าวยกตัวอย่างว่า นักลงทุน ESG ทั่วโลกอาจให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับกองทุน ESG จีนแล้ว เราคิดว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำหรับภาคอสังหาของจีน แต่จะไปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านธรรมาภิบาลมากกว่า เช่น ความผิดปกติทางบัญชี หรือการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น
“นั่นคือวิธีที่เราทำนิยาม ESG ให้เข้ากับท้องถิ่น” Xu กล่าว
ในขณะเดียวกัน กองทุน ESG ของจีนก็มีการถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ โดยประมาณ 63% ของจำนวนกองทุน ESG ทั้งหมด ถือหุ้น Contemporary Amperex Technology ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ของ Tesla และประมาณ 50% ถือหุ้นบริษัท Longi Green Energy Technology ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
กองทุน ESG ที่มีภูมิลำเนาในจีนลดลงโดยเฉลี่ย 12.5% ในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าการลดลง 18% ในดัชนี CSI 300 โดยทั่วไปแล้วกองทุน ESG ทั่วโลกมีประสิทธิภาพดีกว่าตลาด แม้ว่าหลายๆ กองทุนจะมีพอร์ตโฟลิโอที่เน้นด้านเทคโนโลยีและใช้พลังงานต่ำก็ตาม
Boya Wang กล่าวส่งท้ายว่า การลงทุนในจีนโดยอิงกับนโยบายหลักของรัฐไม่ได้รับประกันความสำเร็จ แต่ก็มีโอกาสสำเร็จสูงกว่า เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน และจากการลงทุนโดยอิงกับนโยบายหลักของประเทศ กองทุน ESG ของจีนก็เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เป้าหมายทางสังคมบรรลุเป้าหมาย
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP