×

เป้าหมาย ‘รวมชาติ’ สารปีใหม่จากสีจิ้นผิง และนัยต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน

09.01.2024
  • LOADING...

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่ทั่วโลกจับตากำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางการขับเคี่ยวของสองพรรคใหญ่อย่างหมินจิ้นตั่ง หรือ DPP (พรรครัฐบาลปัจจุบัน) และกั๋วหมินตั่ง (KMT) รวมถึงพรรคทางเลือกที่ 3 อย่างไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ที่มีโอกาสสอดแทรกขึ้นมาเป็นม้ามืด ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดภูมิทัศน์การเมืองโลกและความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างปักกิ่งและไทเปอย่างมีนัยสำคัญว่าจะยกระดับความตึงเครียดขึ้นหรือผ่อนคลายลงตลอด 4 ปีข้างหน้า

 

แม้โพลล่าสุด ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันและแคนดิเดตใหม่พรรค DPP ที่ได้รับการวางตัวต่อจากไช่อิงเหวินจะมีคะแนนนำอยู่ แต่ โหวโหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีนิวไทเปจากกั๋วหมินตั่ง ที่มีนโยบายละมุนละม่อมกับจีนมากกว่า ก็ไล่ตามมาชนิดไม่ทิ้งห่างนัก ขณะที่โค้งสุดท้ายของการหาเสียง ผู้สมัครแต่ละพรรคต่างงัดแคมเปญประชันนโยบายว่าจะจัดการความสัมพันธ์หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีนอย่างไร เพื่อเอาชนะใจโหวตเตอร์

 

นอกจากไต้หวันที่ประชาชนกำลังจะได้เข้าคูหาเพื่อกำหนดอนาคตตัวเองตามวิถีประชาธิปไตยแล้ว ฝั่งจีนเองก็เฝ้าจับตาสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งดังที่กล่าวไปแล้ว แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวจากปักกิ่งในช่วงเวลานี้ก็ถูกนักวิเคราะห์จับสัญญาณหรือนำไปตีความเชิงนัยถึงจุดยืนหรือท่าทีของปักกิ่งต่อการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

การรวมชาติกับไต้หวันเป็น ‘สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้’

 

ในคำกล่าวเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2024 หรือ 13 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งไต้หวัน สีจิ้นผิงใช้ถ้อยคำน้ำเสียงที่ดูหนักแน่นเน้นย้ำอีกครั้งว่าการรวมชาติระหว่างจีนและไต้หวันเป็น ‘สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์’ แต่เขาคาดหวังว่าเป้าหมายนี้จะบรรลุผลในแนวทางสันติตามที่เคยกล่าวไว้ในหลายโอกาสก่อนหน้านี้ กระนั้นก็ตามสีจิ้นผิงก็ยังคงแง้มประตูไว้บานหนึ่งว่าจีนพร้อมใช้กำลังกับไต้หวันทุกเมื่อหากจำเป็น

 

ในอดีตจวบจนปัจจุบัน ผู้นำจีนหลายรุ่น รวมถึงสีจิ้นผิง มักเรียกไต้หวันว่า ‘ไถวันถงเปา’ (台湾同胞) ซึ่งแปลว่าพี่น้อง (ที่คลานตามกันมา) ไม่ใช่คนอื่นคนไกล หรือก็คือไต้หวันเป็นเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งในคำกล่าววันปีใหม่ สีจิ้นผิงก็ใช้คำเรียกนี้อีกครั้ง โดยบอกว่าเพื่อนร่วมชาติจากสองฟากฝั่งของช่องแคบควรจับมือร่วมใจกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความรุ่งโรจน์แห่งช่วงเวลาการฟื้นฟูชาติจีน

 

แต่สื่อตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่า ในคำแปลภาษาอังกฤษฉบับทางการ มีการใช้คำว่า ‘All Chinese’ ที่แปลว่า ‘คนจีนทั้งหมดทั้งปวง’ แทนคำว่า ‘Compatriots’ ที่แปลว่า ‘เพื่อนร่วมชาติ’ ตามสคริปต์ต้นฉบับภาษาจีนที่สีจิ้นผิงกล่าว

 

สำนักข่าว Xinhua ยังพาดหัวภาษาอังกฤษถึงคำกล่าววันปีใหม่ของสีจิ้นผิงบนเว็บไซต์ด้วยวลีว่า ‘จีนจะรวมชาติได้อย่างแน่นอน’ ซึ่งจากบริบทแวดล้อมในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันนี้ ก็สะท้อนถึงโทนที่แข็งกร้าวขึ้นจากฝั่งจีน และอาจนำไปตีความได้ว่าจีนพยายามกดดันหรือเตือนไม่ให้ผลการเลือกตั้งนำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้น

 

มีคำกล่าวว่าการเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้จะเป็นการเลือกระหว่าง ‘สงครามหรือสันติภาพ’ เพราะจีนมองว่าพรรค DPP และไล่ชิงเต๋อ แคนดิเดตคนใหม่ เป็นพวก ‘แบ่งแยกดินแดน’ และมีแนวคิดปฏิปักษ์ แม้ว่าไล่ชิงเต๋อจะยืนกรานว่าไต้หวันไม่จำเป็นต้องประกาศแยกตัวเป็นเอกราชหรือเปลี่ยนชื่อทางการของไต้หวันจากสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ก็ตาม ซึ่งการประกาศเอกราชนั้นจะเป็นการล้ำ ‘เส้นแดง’ ที่จีนขีดไว้ และถือเป็นการประกาศสงครามกับจีนนั่นเอง

 

จีนและไต้หวันนั้นมีมุมมองต่างกัน ฝั่งจีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตลอด และจีนคือจีนเดียว แบ่งแยกไม่ได้ ขณะที่ฝั่งไต้หวันมองว่าตนมีอธิปไตย ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน มีอิสระในการปกครองตนเองตั้งแต่เจียงไคเชกพ่ายสงครามกลางเมืองต่อเหมาเจ๋อตงและหนีมาตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวัน ถึงแม้ที่ผ่านมาไต้หวันจะไม่เคยประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนอย่างเป็นทางการเลยก็ตาม

 

เลฟ นัคแมน ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อในไทเป มองว่าการที่สีจิ้นผิงใช้คำพูดที่ดูแรงขึ้นในเวลานี้ ไม่เพียงเพราะใกล้จะถึงวันเลือกตั้งชี้ชะตาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแรงกดดันจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ลุ่มๆ ดอนๆ และความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานหนักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรค DPP ของไต้หวันด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเห็นนักวิชาการฝั่งไทยนั้น ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เป็นเจ้าของเพจอ้ายจงที่ติดตามการเมืองฟากฝั่งปักกิ่งอย่างใกล้ชิด มองว่าคำพูดของสีจิ้นผิงในวันปีใหม่เป็นการแสดงจุดยืนของจีนมาตลอดอยู่แล้ว และการรวมชาติก็เป็นจุดหมายปลายทางที่เรียกว่า ‘ความฝันของจีน’ ซึ่งการกล่าวของผู้นำจีนเช่นนี้ก็เป็นการตอกย้ำเรื่องหลักการจีนเดียวเท่านั้น

 

ภากรมองว่าสารปีใหม่จากสีจิ้นผิงไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไรหรือส่งผลมากนักต่อการตัดสินใจเลือกพรรคหรือแคนดิเดตของประชาชนไต้หวัน เช่นเดียวกับนัคแมนที่คิดว่าประชาชนในไต้หวันไม่เชื่อว่าคำขู่หรือคำเตือนของสีจิ้นผิงจะเกิดขึ้นจริง เพราะพวกเขาเคยชินกับการใช้ถ้อยคำที่ดูเหมือนข่มขู่ของผู้นำจีนจนดูเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับคนไต้หวัน

 

‘ลมเปลี่ยนทิศ’ หรือจะเกิดปรากฏการณ์การเมืองใหม่?

 

ในอดีต การเลือกตั้งไต้หวันตั้งแต่ปี 1996 ยังไม่เคยมีพรรคไหนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ 3 สมัยติดต่อกัน หรือก็คือจะมีการสลับขั้วพรรคใหม่ระหว่างกั๋วหมินตั่ง (KMT) กับหมินจิ้นตั่ง (DPP) ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลทุกๆ 8 ปี (ยกเว้นหลี่เติงฮุยจากกั๋วหมินตั่งที่ชนะเลือกตั้งโดยตรงสมัยเดียวในปี 1996) แต่หากการเลือกตั้งครั้งนี้ DPP ชนะอีกครั้ง ก็จะเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ และสั่นคลอน ‘Status Quo’ ที่เป็นอยู่ระหว่างสองพรรคของไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมา Status Quo นี้สามารถสร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับจีน เกิดเป็นวงจรดีและร้ายสลับกันไป และไม่เลวร้ายจนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมได้

 

นอกจากประเด็นความสัมพันธ์กับจีนแล้ว คนหนุ่มสาวในไต้หวันยังสนใจปัญหาค่าแรงและราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนบางกลุ่มที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันอยากลองเปลี่ยนรัฐบาลดูบ้าง ขณะที่พรรคทางเลือกที่ 3 อย่าง TPP ของเคอเหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีไทเป ก็ดูจะดึงดูดคนรุ่นใหม่และเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจุดเด่นของ TPP คือชูนโยบายทางสายกลางที่ดูไม่สุดโต่งเหมือนหมินจิ้นตั่งที่จัดเป็นพรรคกลาง-ซ้าย หรือกั๋วหมินตั่งที่จัดเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม

 

และด้วยโพลล่าสุดที่ผู้สมัคร DPP นำกั๋วหมินตั่งไม่มาก ประกอบกับเราได้เห็นโมเมนตัมในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กั๋วหมินตั่งเป็นฝ่ายชนะ ก็ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ดูคู่คี่สูสีกว่าครั้งก่อนๆ สามารถออกได้หลายหน้า แม้ไล่ชิงเต๋อยังเป็นเต็งหนึ่งอยู่ก็ตาม แต่ก็มีโอกาสที่ลมจะเปลี่ยนทิศได้ และทำให้ 4 ปีข้างหน้าอาจเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน

 

อีกประเด็นที่คนข้างนอกจับตาคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งศาสตราจารย์นัคแมนมองว่าโลกสนใจว่าสถานะประชาธิปไตยของไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ท่ามกลางสงครามข่าวสารที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นผู้คนจึงไม่สนใจแค่ว่าใครชนะ แต่ชนะอย่างไรด้วย

 

ในวันขึ้นปีใหม่ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินที่กำลังจะหมดวาระหลังนั่งเก้าอี้ครบ 2 สมัย ได้กล่าวเตือนไปยังจีนเช่นกันว่า อย่าพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งไต้หวัน และย้ำด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนนั้นขึ้นอยู่กับ ‘เจตจำนงของประชาชนชาวไต้หวัน’ ที่จะเป็นคนตัดสินใจกำหนดอนาคตของตัวเอง

 

เหนือสิ่งอื่นใด โลกก็กำลังเฝ้าดูว่าผลเลือกตั้งจะออกมารูปไหน และมีการประเมินจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝั่งตะวันตกว่าจีนจะตอบโต้หรือกดดันด้วยกิจกรรมทางทหารใดๆ หรือไม่ หากผลออกมาไม่ใช่สิ่งที่ปักกิ่งคาดหวัง ซึ่งจีนอาจรอดูไปจนกระทั่งพ้นวันที่ 20 พฤษภาคม หรือหลังประธานาธิบดีคนใหม่เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งแล้ว

 

มีความเป็นไปได้ด้วยว่ามาตรการตอบโต้จากจีนที่อาจคลุมตั้งแต่การซ้อมรบไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจนั้นอาจเบาบางลงหาก DPP ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่สูญเสียเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ เพราะลำพัง DPP ที่ไม่มีอำนาจในสภาเต็มที่จะผ่านกฎหมายต่างๆ ได้ยากลำบากมากขึ้นตลอด 4 ปีข้างหน้า

 

แต่หากหมินจิ้นตั่งควบทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ บรรยากาศต่อจากนี้ก็อาจตึงเครียดไปอีกนาน และบางที ‘สถานีถัดไป’ ที่จะเกิดสงครามใหญ่ต่อจากยูเครนและฉนวนกาซา ก็อาจจะเป็นช่องแคบไต้หวันตามที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงก็เป็นได้

 

เมื่อเดือนที่แล้ว Global Times สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้โควตคำพูดของ หวังไจ้ซี อดีตนายทหารและรองหัวหน้าฝ่ายกิจการไต้หวันของจีนระหว่างปี 2000-2008 ที่กล่าวไว้ว่า หากไล่ชิงเต๋อชนะ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะทางทหารบริเวณช่องแคบไต้หวัน และ “เราจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องนี้”

 

ตรงกับความเห็นของ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยเตือนไว้ว่า บางทีสงครามอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากชนวนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะมาจากการซ้อมรบหรือกิจกรรมทางทหารอื่นใดที่ดูเป็นการยั่วยุของทั้งสองฝ่าย ซึ่งโอกาสเกิดสิ่งหลังนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

นอกจากคู่ของจีนและไต้หวันแล้ว ทั่วโลกยังเฝ้าดูความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ สองมหาอำนาจใหญ่ที่มีความซับซ้อนในเรื่องไต้หวันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาวอชิงตันดำเนินนโยบายที่มีความกำกวมระหว่างยึดหลักการจีนเดียว แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะใช้กำลังทางทหารกับจีนเพื่อปกป้องไต้หวันภายใต้กฎหมาย Taiwan Relations Act ปี 1979

 

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ระหองระแหงกันมานานจะกระเตื้องขึ้นในระหว่างที่สีจิ้นผิงเยือนซานฟรานซิสโกและจับมือกับ โจ ไบเดน อย่างชื่นมื่นเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่อย่าลืมว่าปลายปีนี้สหรัฐฯ ก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเช่นกัน ซึ่งทุกครั้งเรื่องของจีนและไต้หวันจะกลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ผู้สมัครจากเดโมแครตและรีพับลิกันหยิบนำมาโจมตีและใช้หาเสียงเพื่อเรียกคะแนน ซึ่งโดยมากก็มักทำให้ความสัมพันธ์กลับมามึนตึงกันเป็นระยะ

 

ความสัมพันธ์สามเส้าจะเป็นอย่างไรต่อ และความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่สำคัญต่อการค้าและซัพพลายเชนโลกจะออกมาในรูปไหน

 

หากกั๋วหมินตั่งพลิกชนะ ‘สันติภาพกับจีน’ จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ โหวโหย่วอี๋ ประกาศไว้ในการหาเสียงที่เถาหยวนช่วงโค้งสุดท้าย

 

แต่หาก DPP ชนะ ไล่ชิงเต๋อ ย้ำบนเวทีหาเสียงเช่นกันว่า ไต้หวันจะรักษา ‘สถานภาพที่เป็นอยู่’ (Status Quo) กับจีน 

 

ทว่าด้วยนโยบายที่ดูแข็งกร้าวต่อปักกิ่งของ DPP ย่อมนำมาซึ่งความไม่แน่นอน และความเสี่ยงปะทุสงครามจากอุบัติเหตุต่างๆ ก็ยังมีอยู่ ขณะที่โหวโหย่วอี๋กล่าวโจมตีหมินจิ้นตั่งว่ากำลังนำไต้หวันเดินบนถนนสู่อันตรายและสงคราม

 

มีการประเมินตัวเลขคร่าวๆ ว่าหากเกิดสงครามใหญ่ในไต้หวัน จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราว 10% ของ GDP โลก มากกว่ามูลค่าความเสียหายจากสงครามยูเครน การระบาดของโควิด และวิกฤตการเงินโลก

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ประชาชนไต้หวันผู้มีสิทธิออกเสียงจะเป็นผู้ตัดสิน

 

#เลือกตั้งไต้หวัน 2024

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ภาพ: AFP / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X