สำหรับจีนแล้ว ทุกฉากทุกตอนล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ซ่อนอยู่ การพบกันระหว่าง สีจิ้นผิง กับ แจ็ค หม่า รวมทั้งกับนักธุรกิจและผู้นำภาคเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ในงานประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ สะท้อนความหมายหลายประการ
คำกล่าวของสีจิ้นผิงในที่ประชุม ผมสรุปเป็นภาษาง่ายๆ ว่ามีใจความหลักสามข้อ
หนึ่ง ภาคเอกชนเป็นหัวใจของเศรษฐกิจจีนและจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
สอง ภาคเอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดระเบียบไปเรียบร้อยแล้วและทุกคนในที่นี้สอบผ่านแล้ว ขอให้ไม่ทำผิดอีกและขอให้ทำดีต่อไป
สาม ข้อกังวลต่างๆ ในตอนนี้ของภาคธุรกิจ เช่น ถูกรัฐบาลท้องถิ่นกลั่นแกล้ง รัฐบาลกลางรับทราบปัญหาและจะเข้าไปดูแล
ส่วนภาพข่าวที่ปรากฏออกมา ทุกคนจับจ้องวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าใครนั่งตรงไหน ใครจับมือใคร ใครได้พูดในงานบ้าง อาจสรุปเป็นข้อสังเกต 4 ข้อ
ข้อแรก การส่งเทียบเชิญให้ แจ็ค หม่า เข้าร่วมงาน มีความสำคัญมากในเชิงสัญลักษณ์ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2021 ภายหลังจากที่ แจ็ค หม่า ออกมากล่าววิจารณ์รัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนออกมาแตะเบรกการเข้า IPO ของ Ant Financial นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบภาคเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนที่ตามมาอีกหลายระลอก หลายคนยังมองว่ากลายเป็นจุดเริ่มต้นของขาลงของภาคเทคโนโลยีจีนและของเศรษฐกิจจีนด้วย
หลังจากนั้น แจ็ค หม่า ก็เก็บตัวเงียบไม่ออกงานใดๆ ครั้งนี้การที่ แจ็ค หม่า ได้ปรากฏตัวเข้าร่วมงานสำคัญและจับมือยิ้มแย้มทักทายกับสีจิ้นผิง ย่อมสะท้อนว่า แจ็ค หม่า และบริษัท Alibaba ไม่มีปัญหาอีกต่อไปในมุมของรัฐบาลจีน
เพราะหากรัฐบาลจีนยังมอง แจ็ค หม่า ในแง่ลบ ก็สามารถระบุเชิญผู้นำบริษัท Alibaba คนอื่นได้ (ปัจจุบัน แจ็ค หม่า เองก็ไม่ได้มีบทบาทในการบริหารบริษัท) หรือหากยังมีปัญหากับ Alibaba ก็ไม่เชิญ Alibaba เข้าร่วมก็ได้
อย่างไรก็ตาม แจ็ค หม่า ไม่ได้เป็นจุดโดดเด่นในงาน เขานั่งอยู่ด้านริมของโต๊ะยาว และไม่ได้เป็นตัวแทนนักธุรกิจกล่าวแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็สะท้อนว่าจีนเองก็ไม่ได้ต้องการให้ แจ็ค หม่า กลับมาเล่นบทบาทโดดเด่นหรือออกตัว High Profile แบบในอดีตอีกเช่นเดียวกัน
จึงตามมาที่ข้อสังเกตที่สองว่า แล้วนักธุรกิจคนใดได้นั่งในจุดที่โดดเด่นที่สุด ตามธรรมเนียมของจีน ตำแหน่งหลักจะเป็นบริเวณกลางโต๊ะที่หันหน้าตรงเข้ากับสีจิ้นผิง ซึ่งนักธุรกิจที่นั่งในตำแหน่งนี้ได้แก่ เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง HUAWEI และ หวังชวนฟู่ แห่ง BYD ซึ่งสะท้อนว่าสองบริษัทนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของสีจิ้นผิง
HUAWEI เป็นตัวอย่างของบริษัทจีนที่ลงทุนด้าน Hard Tech ได้ประสบความสำเร็จ และสามารถขยายทำทุกข้อต่อของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมของตน ท่ามกลางการกีดกันทางเทคโนโลยีจากฝั่งตะวันตก HUAWEI ยังมีภาพฆ่าแล้วไม่ตาย ยิ่งทุบยิ่งโต สะท้อนยุทธศาสตร์การพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของจีน
ส่วน BYD เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่สีจิ้นผิงให้ความสำคัญมาก โดยมองว่าภาคพลังงานสะอาดจะกลายมาเป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนแทนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมเก่า
ปัจจุบันจีนได้กลายมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกแทนที่ญี่ปุ่นแล้ว โดยมีรถยนต์ EV เป็นตัวตีตลาดรถยนต์ต่างประเทศ และมีอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์เป็นตัวเสริม
เมื่อตอนที่สีจิ้นผิงจัดระเบียบภาคเทคโนโลยีของจีนนั้น เคยมีข้อสังเกตว่าสีจิ้นผิงมุ่งจัดระเบียบธุรกิจที่อยู่ในภาค Soft Tech เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งโตได้เพราะการผูกขาด และไม่ได้มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่จะตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของจีนได้
แตกต่างจากภาค Hard Tech อย่างธุรกิจของ HUAWEI หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ EV แบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนมาตลอด เพราะมองว่าจะตอบโจทย์ความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี และสร้างการเติบโตรอบใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของจีนได้
ข้อที่สาม หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของจีนที่ไม่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ Baidu ซึ่งเป็นบริษัทเสิร์ชเอนจินเจ้าใหญ่ของจีน และ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทโซเชียลมีเดีย ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าเพราะเหตุใดสองบริษัทนี้จึงตกหล่นไปจากเทียบเชิญ
มีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา Baidu ดูจะแตกต่างจาก Alibaba และ Tencent ที่สองเจ้าหลังสามารถขยายธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้นกว่าธุรกิจแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่นทั้ง Alibaba และ Tencent ต่างก็มีธุรกิจ Cloud Computing ที่แข็งแกร่ง
ส่วน ByteDance เองก็มีลักษณะเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียอย่างเดียว และกำลังมีประเด็นร้อนอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลจีนอาจไม่ต้องการแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจน บ้างก็ว่าเจ้าของ ByteDance พำนักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นหลัก
ข้อสังเกตสุดท้ายคือ ในงานครั้งนี้ ยังมีตัวแทนบริษัทน้องใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงอยู่ 2 บริษัทที่ทุกคนจับตา และมีการพูดกันว่าถ้างานในลักษณะนี้จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว สองบริษัทนี้ก็คงไม่ได้รับเชิญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของวงการเทคโนโลยีจีนที่มีดาวดวงใหม่เจิดจรัสแทนที่ดาวดวงเก่าอยู่ตลอด
บริษัทแรกก็คือ DeepSeek ที่ได้สั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มาก่อนหน้านี้ เพราะสามารถพัฒนา Generative AI ที่ชาญฉลาด โดยไม่ต้องใช้ชิปที่ดีที่สุดหรือมีพลังประมวลผลที่ดีที่สุด แถมยังแน่จริงโดยการเปิดสูตรเป็น Open Source ให้คนทั้งโลกเอาไปใช้และช่วยต่อยอดขึ้นไปอีกได้ ทำให้สั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่ในวงการของสหรัฐฯ หลายเจ้า
อีกบริษัทหนึ่งก็คือ Unitree ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์ที่กำลังมาแรงแซงโค้งเช่นเดียวกัน ด้วยความสามารถในการผลิตและพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ และยกระดับผลิตภัณฑ์ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ย้อนกลับไปครั้งสุดท้ายที่สีจิ้นผิงร่วมงานประชุมนักธุรกิจและภาคเทคโนโลยีชั้นนำในลักษณะนี้คือเมื่อปี 2018 ดังนั้นงานในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์อย่างชัดเจน
ความหมายตรงไปตรงมาที่ต้องการสื่อคือรัฐบาลจีนจะกลับมาให้ความสำคัญต่อภาคธุรกิจและภาคเทคโนโลยี ท่ามกลางบริบทการชะลอตัวยาวของเศรษฐกิจจีนและการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ภายใต้ยุค Fast and Furious ของโดนัลด์ ทรัมป์
ภาพ: Florence Lo / Reuters