×

ไขคำตอบ ทำไม ‘Wuling’ Air EV แบรนด์รถจากจีนจึงเลือกผลิตในอินโดนีเซีย และเข้ามาทำตลาดในไทย

20.06.2023
  • LOADING...
Wuling Air EV

‘Wuling’ Air EV ค่ายรถจีนแต่ผลิตที่อินโดนีเซีย พร้อมเข้ามาบุกตลาดไทย และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนกรกฎาคมนี้ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ถูกคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 4 แสนบาท พร้อมทั้งจุดเด่นด้านขนาดที่เล็กกะทัดรัด วิ่งไกล 200-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ ด้านสื่อนอกมองมาตรการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจาก 11% ให้เหลือเพียง 1% ของรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเป็นแรงดึงดูดค่ายรถจีนตั้งฐานผลิตเพื่อการส่งออกมายังไทยและส่งออกทั่วโลก

 

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท อีวี ไพรมัส ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบมัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) แห่งแรกของไทย ได้รับการแต่งตั้งจาก PT SGMW Indonesia ผู้ผลิตและจำหน่ายรถ EV ภายใต้แบรนด์ Wuling ที่อินโดนีเซีย และเป็นบริษัทในเครือ SAIC-GM-WULING Automobile Company Limited หรือ SGMW ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าแนวหน้าของจีนให้เป็นตัวแทนจำหน่าย (Sole Distributor) รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Wuling อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยล่าสุดประกาศเตรียมทำตลาด ‘Wuling Air EV’ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ และจะนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคันจากฐานผลิตประเทศอินโดนีเซีย ส่วนราคาจำหน่ายคาดว่าเริ่มต้นที่ 4 แสนบาท ด้วยจุดเด่นวิ่งระยะไกล 200-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ อย่างไรก็ตาม จะประกาศราคาอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังเตรียมความพร้อมทั้งการตรวจมาตรฐานเชิงวิศวกรรมตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก

 

สำหรับ Wuling เป็นแบรนด์รถยนต์จากจีน บริษัทในเครือ SAIC-GM-Wuling Automobile Company Limited (SGMW) หรือ WULING นับเป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ Top 5 ของโลก ซึ่งรุ่น Wuling Air EV มีการผลิตและจำหน่ายในอินโดนีเซียและได้รับความนิยมมากสุด โดยมีฐานผลิตตั้งอยู่โรงงานในเมือง Bekasi ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทตั้งเป้าผลิตปีละ 1.2 แสนคันต่อปี เพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออก 

 

รัฐบาลอินโดนีเซียดึงดูดนักลงทุนด้วย การลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 11% ให้เหลือเพียง 1% 

 

สำนักข่าวจาก Nikkei Asia รายงานว่า น่าสนใจว่าบรรดาค่ายรถจีนต่างเข้าไปผลิตและทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ปัจจัยหลักมากกว่านั้นคือเงื่อนไขของรัฐบาลที่กำหนดการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้ใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ จึงยิ่งเป็นการดึงดูดให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียกันต่อเนื่อง

 

แน่นอนว่าอินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าและพยายามที่จะรักษาตำแหน่งของศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคและในฐานะผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV 

 

ขณะที่นโยบายกระตุ้นเละมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่อินโดนีเซียเนื้อหอมมากสุดคือ การลดภาษีมูลค่าเพิ่มของรถยนต์ไฟฟ้าจาก 11% ให้เหลือเพียง 1% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

 

แม้มีข้อแลกเปลี่ยนว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีนี้ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อกระตุ้นการลงทุนท้องถิ่นก็ไม่ได้ทำให้บรรดาค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ยักษ์ใหญ่แบตเตอรี่ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์เกาหลีใต้ Hyundai และหมายรวมถึง SAIC-GM-Wuling ต่างเข้ามาตั้งฐานผลิตในอินโดนีเซีย รวมทั้ง Tesla ที่มีข่าวลือต่อเนื่อง

 

ดังนั้น แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งขึ้นจนกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านรถยนต์ไฟฟ้าอาจใช้ไม่ได้กับไทยหากไทยยังอยู่ในรูปแบบเดิม

 

ยกตัวอย่าง Wuling ที่มุ่งเน้นตั้งฐานผลิตที่อินโดนีเซียและทำตลาดที่นั่นก่อน เพราะมีโซลูชันที่เหมาะสมและราคารถไม่แพงสำหรับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อดีอีกประการคืออินโดนีเซียยังไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ

 

ด้วยขนาดของรถ Wuling มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีความยาว 3 เมตร กว้าง 1.5 เมตร และสูง 1.6 เมตร ทำให้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของเอเชีย และนับจากวันที่ Wuling ได้เป็นสัญลักษณ์การประชุมผู้นำ G20 ปีที่ผ่านมาและการประชุมสุดยอดอาเซียนทำให้ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง หลังจากนี้ต้องจับตาว่าการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และจะครองตลาดไทยได้สำเร็จหรือไม่ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising