×

คุยกับทีมคิดค้น ‘รถพลังงานแสงอาทิตย์’ ตัวแทนจากไทยเพียงหนึ่งเดียวบนเวที Bridgestone World Solar Challenge 2019

12.10.2019
  • LOADING...
รถพลังงานแสงอาทิตย์

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • Bridgestone World Solar Challenge เป็นรายการแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก่าแก่มาก หลังถูกจัดมายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี 
  • SOLAR CAR Thailand จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ถือเป็นทีมบุกเบิกผลิตรถพลังงานแสงอาทิตย์ทีมแรกของไทย ที่ร่วมลงแข่งขันในรายการระดับตำนานอย่าง Bridgestone World Solar Challenge
  • แม้จะเข้าร่วมแข่งขันได้เพียง 3 ครั้ง นับจากปี 2558 แต่ในปี 2562 นี้ เป้าหมายของทีม SOLAR CAR Thailand คือการเป็นแชมป์ในรุ่นระดับครุยเซอร์คลาส

เมื่อไม่นานมานี้ THE STANDARD มีโอกาสได้ร่วมวงสนทนากับทีม SOLAR CAR Thailand แห่งวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมาเป็นไปของทีมว่า จุดเริ่มต้นการผลิตรถพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

แต่ถึงอย่างนั้น ผศ.ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ยังไม่ขอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงที่มาของทีม SOLAR CAR Thailand แต่เลือกที่จะขออธิบายให้รู้จักรายการ Bridgestone World Solar Challenge การแข่งขันโซลาร์คาร์ระดับตำนานว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

รายการแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ‘WSC’ เป็นหนึ่งในรายการที่เก่าแก่ที่สุดของโลกรายการหนึ่ง ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคที่โลกเริ่มมีวิกฤตด้านพลังงาน พอมีวิกฤตแบบนี้ออกมาทำให้สถานการณ์น้ำมันโลกตอนนั้นมีราคาสูงขึ้น เกิดการแก่งแย่งเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันในทุกด้าน 

 

ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงรวมหัวกันเพื่อคิดว่า จะทำอย่างไรต่อไปหากในอนาคตโลกใบนี้จะไม่มีน้ำมัน การขนส่งหรือการคมนาคมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น จนเกิดแนวคิดที่จะหาพลังงานทางเลือกอื่น และแน่นอนว่า ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก

 

“นั่นจึงทำให้ในช่วงปี 1987 หรือปีที่มีการจัดการแข่งขันรถที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นทางการ ด้วยการเชิญบริษัทผลิตยานยนต์ทั่วโลกออกแบบสร้างรถประเภทดังกล่าวขึ้นมา เพื่อนำไปประชันฝีมือกันทุก 2 ปี ที่ประเทศออสเตรเลีย สนามแข่งที่ถูกใช้จัดการแข่งขันอย่างยาวนานจวบจนปี 2019 นี้”

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

ซึ่งการแข่งในรายการนี้จะถูกแยกเป็น 3 ประเภทคือ 

  • Challenger Class  
  • Cruiser Class
  • Adventure Class

 

โดยทางฝั่งการแข่งประเภท Challenger Class จะเป็นการแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ที่เน้นหนักในเรื่องของศักยภาพความเร็วเพียงอย่างเดียว ซึ่งรถประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาคอุตสาหกรรมส่งเข้าแข่งขันค่อนข้างเยอะ ส่วน Cruiser Class จะเป็นระดับสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศส่งเข้าแข่งขันกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนตัดสินผลแพ้ชนะที่ความเร็ว แต่เป็นการเน้นไปที่ศักยภาพของตัวรถและความคิดสร้างสรรค์ เช่น ระบบรถเป็นอย่างไร บรรทุกของขึ้นรถได้มากน้อยเท่าไร และสามารถนั่งได้สูงสุดที่กี่คน เป็นต้น ขณะที่ Adventure Class เป็นประเภทการแข่งที่เน้นความอึดในการแข่งแบบมาราธอน

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

จากแนวคิดเล็กๆ สู่จุดเริ่มต้นของทีมผลิตรถพลังงานแสงอาทิตย์ทีมแรกของไทย

จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จากอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เป็นนักศึกษาเก่าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน  สหรัฐอเมริกา ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือเป็นระดับท็อปในด้านวิศวกรรมศาสตร์ของโลก 

 

“ในระหว่างที่อธิการบดีได้ศึกษาอยู่ในช่วงเวลานั้น ท่านมีโอกาสได้ร่วมทีมผลิตรถพลังงานแสงอาทิตย์ของมิชิแกน หลังจากที่ท่านได้ศึกษาจบกลับมาเป็นอาจารย์และได้มาคุยกับผมว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราจะทำทีมสร้างรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาเพื่อลงแข่งในรายการ Bridgestone World Solar Challenge เพราะรายการนี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกรวมถึงบริษัทยานยนต์ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก จนต้องประดิษฐ์รถเพื่อนำลงประชันฝีมือในทุกปี

 

“สิ่งสำคัญต่อจากนั้นคือการตั้งโจทย์ถามใจตัวเองว่า เราเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า ศักยภาพในการประดิษฐ์รถพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย เมื่อไปเทียบกับต่างประเทศอยู่ในระดับไหน และแน่นอนว่ามีสิ่งเดียวที่เราจะได้คำตอบจากการตั้งคำถามนี้ คือการสร้างทีมของตัวเองเพื่อลงแข่งในรายการนี้เท่านั้น”

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ฐกฤต บอกว่า การสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ใช่การที่จะเอารถมาใส่มอเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์เพื่อวิ่งแข่งกับคนอื่น เพราะการแข่งขันรายการนี้คือการขับรถพลังงานแสงอาทิตย์ข้ามประเทศด้วยระยะทางกว่า 3,022 กิโลเมตร ตั้งแต่เมืองดาร์วินถึงแอดิเลด ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย กินระยะเวลา 6 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะเงื่อนไขการเข้าร่วมแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge นั้นมีเยอะกว่านั้น

 

เนื่องจากการแข่งขันรายการดังกล่าว เป็นการแข่งขันที่มีประวัติค่อนข้างยาวนาน จึงทำให้มีเรื่องของข้อกำหนดและเงื่อนไขการเข้าร่วมแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge เกือบ 100 ข้อ ดังนั้น ทุกทีมที่เข้าร่วมจะต้องส่งรถที่ใช้เข้าแข่งขันให้คณะกรรมการกลางได้ตรวจสอบเพื่อหาจุดบกพร่อง เพราะถ้าพบจุดผิดพลาดเพียงแค่ 1 ข้อ และไม่สามารถเร่งแก้ไขในกรอบระยะเวลา 3 วันที่กำหนด ก็อาจถูกตัดสิทธิ์เข้าแข่งได้ แต่สุดท้ายความทุ่มเททำงานอย่างหนักของทีมงานและเด็กๆ นักศึกษาก็สามารถช่วยกันทำให้รถมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดจนได้เข้าแข่งขันถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปีนี้

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

จาก STC1 สู่ SCT3 ความแข็งแกร่ง มาพร้อมเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น!

รถพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่ใช้ส่งเข้าแข่งขันใน Bridgestone World Solar Challenge 2015 มีชื่อว่า ‘SCT1’ ซึ่งใช้เวลาศึกษาและประดิษฐ์ประมาณ 1 ปี 

 

‘จากการสร้าง SCT1 ในวันนั้น มาถึงวันนี้เรามั่นใจมากว่าประสบการณ์ของเราเพียงพอแล้ว และเชื่อว่าเราสามารถสู้กับนานาประเทศได้’ ผศ.ดร.ฐกฤต กล่าวอย่างหนักแน่น

 

“แต่บางเรื่องเราก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเราสู้เยอรมนีไม่ได้ และเครื่องมือเราสู้ทีมจากยุโรปหรืออเมริกาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราไม่แพ้ใครเลยคือทักษะ

 

“หลายทีมในยุโรปใช้ภาคอุตสาหกรรมผลิตรถให้กับเขาได้ลงแข่ง แต่ STC ตลอดทั้ง 3 คัน ที่ใช้แข่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เป็นรถที่สร้างขึ้นมากับมือของเราเอง 100% เพราะเราได้โอกาสในหาของดีๆ ใส่ในรถ STC และปีนี้เราก็ได้รับการสนับสนุนจากบริดจสโตนประเทศไทย ในเรื่องของการใช้ยางที่มีคุณภาพตลอดการแข่งขันที่จะถึงนี้

 

“ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตอนแข่ง คนอื่นที่รับรถจากโรงงานมาแข่งอาจจะซ่อมไม่ได้ แต่ของเราซ่อมได้ สิ่งนี้แหละที่แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยของเรามีทักษะและคุณภาพ และจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ได้โอกาสเข้าร่วมแข่งขัน”

 

ซึ่งปีนี้ทีมงานหวังเป็นพิเศษที่จะทำผลงานได้ตามเป้าที่วางไว้ นั่นคือการเป็นแชมป์ในรุ่นระดับครุยเซอร์คลาส เพราะ STC3 คือรถที่ดีที่สุดที่เคยมีมา เนื่องจากคันก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น STC1 และ STC2 มีเวลา มีการผลิต และทดสอบค่อนข้างน้อย แต่กับ STC3 ถือเป็นคันที่รวบรวมประสบการณ์จากคันก่อนหน้านี้ที่เน้นเพียงโชว์ความคิดสร้างสรรค์ปกติ แต่ครั้งนี้ได้ออกแบบให้กลายเป็นรถที่สามารถใช้งานได้จริงบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น เท่านี้ทีม SCT ก็สามารถสู้กับทีมอื่นๆ ได้อย่างไม่เป็นรองใคร 

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

ความสนุก-ประสบการณ์-ความรู้ คือสิ่งที่ได้จาก Bridgestone World Solar Challenge

นครินทร์ พลพิทักษ์ หนึ่งในผู้ขับรถ ‘SCT3’ บอกว่า สิ่งแรกที่ได้รับในฐานะผู้เข้าร่วมเลยก็คือ ‘ความสนุก’ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนสร้างรถกันเอง

 

นอกจากนี้ ยังได้ประสบการณ์มากมายกับการที่ต้องไปประชันกับทีมมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก เพราะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับผู้คนจากทีมอื่นๆ ซึ่งทุกทีมใจดี และเปิดกว้างในการให้คำแนะนำกับเราค่อนข้างมาก หรือบางอย่างที่เราไม่เข้าใจแต่อยากทราบรายละเอียด เจ้าของรถจากประเทศนั้นๆ ก็ยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลเป็นอย่างดี

 

รถพลังงานแสงอาทิตย์

 

ความเป็นไปได้ที่ ‘Solar Car’ จะถูกใช้บนถนนจริง?

หลังจากที่ความจริงจังและตั้งใจในการเดินหน้าพัฒนารถพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว THE STANDARD จึงได้ตั้งคำถามสั้นๆ ไปยัง ผศ.ดร.ฐกฤต ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รถพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกใช้อย่างจริงจังบนถนนของไทย?

 

“สิ่งนี้จะต้องเป็นไปได้ และผมเชื่อว่าเป็นจริงได้ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้มันพัฒนาขึ้นแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ ผมมองเห็นเรื่องของพัฒนาการด้านพลังงานแสงอาทิตย์มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมว่าไม่ใช่แค่กับต่างประเทศเท่านั้น แต่กับในถนนไทยผมเชื่อว่าทำได้”

 

เดิมทีทุกวันนี้ก็มีหลายทีมหลายประเทศผลิตรถประเภทนี้ออกสู่ท้องถนนกันแล้ว ถ้าเราได้ติดตามข่าวสารวงการรถยนต์ เราจะเห็นว่าบริษัทหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Lightyear’ จากเนเธอร์แลนด์ ที่ผลิตรถพลังงานแสงอาทิตย์ใช้งานได้จริงออกจำหน่ายในโซนยุโรปชื่อ ‘Lightyear One’ 

 

ซึ่งความน่าอัศจรรย์ตรงนี้ อยู่ที่ทีมผลิต ‘Lightyear’ เคยเป็นคู่แข่งกับทีมของเราในนาม ‘Solar Team Eindhoven’ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และเป็นอดีตแชมป์ Bridgestone World Solar Challenge ถึง 3 สมัยด้วยกัน

 

บรีฟทีมเว็ป: เน้นตัวใหญ่สวยๆ ให้หน่อยครับ

“สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าคุณจะคิดอะไรก็ตาม ที่ก้ำกึ่งว่าจะทำได้หรือไม่ คุณจงอย่าดูถูกตัวเอง เพราะถ้าคุณได้ลองพยายาม ผมเชื่อว่าคุณทำได้”

 

ทั้งนี้ การแข่งขัน Bridgestone World Solar Challenge 2019 จะมีขึ้นในวันที่ 13-20 ตุลาคมนี้ สำหรับผู้ที่สนใจให้กำลังใจทีมแข่งรถพลังงานแสงอาทิตย์ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของไทย สามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้า รวมถึงผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ของทีม SOLAR CAR Thailand (SCT) ได้ทาง www.facebook.com/STCWSC

 

ภาพ: Facebook – เอริท รัฐพล, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม Siam Technology College, SOLAR CAR Thailand

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X