เชื่อว่า…ในห้วงความทรงจำของเด็กผู้ชายไทยในยุค 90 หลายคน น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘มวยปล้ำ’ ถูกบันทึกเข้ามาอยู่สักเสี้ยวหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของเรากันไม่น้อย
หลายคนน่าจะเคยงัดกระบวนท่าไม้ตายของนักมวยปล้ำรุ่นเก๋ามาเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนตามประสาวัยซน แม้จะถูกรณรงค์ว่า ‘ห้ามทำเลียนแบบ’ ก็ตาม
ขณะที่รายนามของนักมวยปล้ำระดับตำนานอย่าง เดอะ ร็อก, ‘สโตน โคลด์’ สตีฟ ออสติน, สติง, ดิ อันเดอร์เทเกอร์, จอห์น ซีนา, ฮัลค์ โฮแกน และอีกมากมาย สามารถทำให้หลายคนร้อง ‘อ๋อ’ ทันทีเมื่อได้ยินชื่อเหล่านี้
มวยปล้ำคือศาสตร์กีฬา+ความบันเทิง หรือชื่อเรียกอย่างลงตัวคือ ‘Sport Entertainment’ อีกชนิดกีฬาระดับฮาร์ดคอร์ ที่โด่งดังและนิยมรับชมเป็นอย่างมากในยุค 90 ลากมาถึง 2000 ต้นๆ
ความน่าตื่นตาตื่นใจของมวยปล้ำคงหนีไม่พ้นท่วงท่าการต่อสู้อันดุเด็ดเผ็ดมัน ที่เบื้องหน้าสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ฉากหลังทุกภาพที่คุณได้ชมนั้นคือ ‘การแสดง’
และแม้ว่าวันนี้ทั้งโลกต่างประจักษ์แล้วว่า มวยปล้ำคือศิลปะการต่อสู้ที่ผสานเข้ากับการแสดง แต่อะไรล่ะ…? คือสิ่งที่ยังทำให้โชว์สุดเร้าใจบนสังเวียนผ้าใบนี้ กลายเป็น ‘กีฬา…ที่ฆ่าไม่ตาย’ แถมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่เม็ดเงิน นักมวยปล้ำหน้าใหม่ และแฟนมวยปล้ำที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ในวันที่โลกมีกีฬาการต่อสู้ (Combat Sport) อย่างมวยสากล ศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) หรือบ้านเราก็มี ‘มวยไทย’ ที่สู้แบบจริงจัง No Script มีเงินรางวัลที่คุ้มพอให้ออกไปเจ็บตัว และตำแหน่งแชมป์เป็นเดิมพัน
แต่อีกด้านหนึ่งมวยปล้ำเป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างไม่ต่างจากกีฬาที่กล่าวไปข้างต้น เงินรางวัลก็มี (ส่วนมากเรียกเงินเดือน) แชมป์ก็มี (หลายเส้นด้วย) แต่พวกเขามีสิ่งที่ทำตรงกันข้ามเพียงอย่างเดียวคือ ทุกสิ่งที่คุณเห็นบนเวที ถูกกำหนดด้วย Script หรือ ‘บท’ ไว้ก่อนแล้ว
บท เนื้อเรื่อง สตอรี หรือคุณจะเรียกอะไรก็ตาม สิ่งนี้คือจุดขายหลักที่ทำให้สมาคมยักษ์ใหญ่อย่าง World Wrestling Entertainment หรือ WWE (ที่เราจะหยิบยกมาพูดถึงเป็นหลัก) สามารถยืนระยะในวงการได้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ (แม้ยุคหลังจะมีช่วงที่มี ‘บท-เนื้อเรื่อง’ ดรอปลงไปบ้างก็ตาม)
ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองที่สุดของวงการ คงหนีไม่พ้น ‘Attitude Era’ ยุคที่การแสดงของ WWE มิได้มีเพียงแค่ความตื่นเต้น ผาดโผน หวาดเสียว ผ่านโชว์ที่สร้างสรรค์โดยนักมวยปล้ำชั้นนำ
แต่การปูบท-วางสตอรี ผูกเรื่องราวของนักมวยปล้ำแต่ละคนนั้นชวนให้น่าติดตาม ไม่ต่างกับการชมซีรีส์สักเรื่อง เพียงแต่ทุกอย่างถูกเล่าอยู่บนเวทีสี่เหลี่ยมเท่านั้น
ภายใต้กรอบเวลาโชว์ 1-2 ชั่วโมงนั้น เราไม่ได้เห็นแค่คนมีกล้ามเดินดุ่มๆ มาทุบกันหรือเอาเก้าอี้ฟาดกันอย่างไร้เหตุผล หากแต่มีเนื้อเรื่องที่หยิบจับเอาภูมิหลัง-สถานการณ์รอบตัวแต่ละช่วงเวลามาถ่ายทอดผ่านการ ‘Talk Show’ ต่อปากต่อคำกันเป็นเรื่องเป็นราว และจบด้วยการสร้างแมตช์ต่อสู้กันบนสังเวียน และอีกสิ่งที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอินกับโชว์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสตอรีคือ ‘คาแรกเตอร์’ ที่นักมวยปล้ำแต่ละคนต้องสวมบทเป็นตัวละครนั้นๆ ไว้อย่างโดดเด่น
ยกตัวอย่างจากรายเด่นๆ เห็นจะเป็น ‘ดิ อันเดอร์เทเกอร์’ ในบท ‘ผี’ มีพลังประหนึ่งเป็นพวกไสยศาสตร์ เป็นนักมวยปล้ำที่ฆ่าไม่ตาย พร้อมฟื้นจากหลุมได้ทุกเมื่อ ซึ่ง มาร์ก คาลาเวย์ คือผู้รับบทบาทนี้ และเขาทำได้ยอดเยี่ยม จนทำให้บทของสัปเหร่อที่ฟื้นจากหลุมรายนี้คือหนึ่งในบทนักมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลเชิงบวกแก่วงการหรือสมาคมเพียงฝั่งเดียว เพราะขณะเดียวกันบรรดานักมวยปล้ำ ผู้ที่สร้างคาแรกเตอร์ที่ดีและเป็นที่จดจำของแฟนๆ จะเห็นได้เลยว่านอกสังเวียนพวกเขานั้นโด่งดังและได้รับความนิยมไม่แพ้ตอนใช้ชีวิตบนเวที เช่น เดอะ ร็อก, จอห์น ซีนา และ บาติสตา บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รุ่งโรจน์แค่ในรั้วมวยปล้ำ แต่ยังไปได้ไกลในสายงานบันเทิงอย่างฮอลลีวูดด้วย
อีกจุดหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับ ‘ช่วงเวลาสำคัญ’ เช่น ในวันครบรอบต่างๆ WWE มักจะเชิญนักมวยปล้ำระดับตำนาน หรือนักมวยปล้ำที่เลิกปล้ำไปแล้ว กลับมาทักทายแฟนๆ
ในบางโอกาสพวกเขาก็จัดเซอร์ไพรส์ใหญ่ด้วยการดึง เดอะ ร็อก ที่ไม่ได้นำกลับมาพูดคุยกับแฟนๆ เพียงอย่างเดียว แต่ให้กลับมาคืนสังเวียนปล้ำอย่างจริงจัง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2011 หรือแม้แต่ สตีฟ ออสติน ที่เดิมทีจะปรากฏตัวมาเพื่อ ‘สตันเนอร์’ นักมวยปล้ำรุ่นใหม่เพื่อเป็นสีสันตามปกติ ยังตัดสินใจกลับมาปล้ำในรอบ 19 ปี เอาชนะ เควิน โอเวนส์ ในศึก WrestleMania 38
อีกส่วนหนึ่งคือการที่ พวกเขา (WWE) ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ แต่ยังสามารถปรับตัวเข้าถึงวงการอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีแผนสำหรับซูเปอร์สตาร์วงการบันเทิง-อินฟลูเอ็นเซอร์ กับการให้มีบทบาทบนสังเวียนมวยปล้ำอย่างแนบเนียน
ยกตัวอย่าง
- สตีเฟน เอเมลล์ (พระเอกซีรีส์ Arrow) มาร่วมปล้ำในศึก SummerSlam 2015
- Bad Bunny ศิลปินหนุ่มชาวละตินชื่อดัง ได้โชว์สกิลผาดโผนในแมตช์ของศึก WrestleMania 37
- จอห์นนี นอกซ์วิลล์ นักแสดงนำจากภาพยนตร์ Jackass ที่ไม่ได้มาแค่โปรโมตภาพยนตร์ภาคใหม่ แต่ยังมีคิวปล้ำในแมตช์พิเศษกับ ซามี ซีน ใน WrestleMania 38
- หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเคยมาเป็นส่วนหนึ่งในแมตช์พิเศษศึก WrestleMania 23
ขยับมาที่วงการหมัดมวย พวกเขาเคยพา ไมค์ ไทสัน ให้มีส่วนร่วมในคู่เอกของ WrestleMania 14 แต่กับนักมวยที่ไม่ได้จ้างมาแค่โชว์ตัวคือ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ที่เจ้าตัวถูกจ้างมาเพื่อสู้กับ บิ๊ก โชว์ ในคืน WrestleMania 24 รวมถึง ไทสัน ฟิวรี แชมป์รุ่นเฮฟวีเวตของสภามวยโลก (WBC) ก็เคยถูกจ้างมาชกกับ บรอน สโตรว์แมน เมื่อปี 2019 (และแว่วว่า ฟิวรีรับค่าตัวจากไฟต์นี้สูงถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการมวยปล้ำถือเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา (ซึ่งเราจะไม่ลงลึกในแง่ของการตลาด เพราะนั่นอาจทำให้บทความนี้ยาวเกินไป)
ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีแค่ WWE กำลังสร้างสรรค์โชว์มวยปล้ำเพียงค่ายเดียว แต่มันเติบโตถึงขนาดที่ในปี 2019 เกิดธุรกิจค่ายมวยปล้ำน้องใหม่อย่าง All Elite Wrestling (AEW) ที่ก่อตั้งโดย โทนี่ ข่าน และนักมวยปล้ำจากกลุ่ม The Elite อีกหลายชีวิต
ขอบคุณภาพจาก SETUP Thailand Pro Wrestling
ฟากฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ก็มีค่าย New Japan Pro-Wrestling (NJPW) ที่อยู่ในวงการนานหลายสิบปี หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็มี SETUP Thailand Pro Wrestling ค่ายมวยปล้ำฝีมือคนไทย ที่จัดอีเวนต์ให้แฟนมวยปล้ำชาวไทยได้ชมกันทุกเดือน
และความสำเร็จส่วนสำคัญนอกเหนือจากเรื่องบนเวทีและเงินๆ ทองๆ ก็คือผลงาน…ที่นักมวยปล้ำชื่อก้องโลกทั้งหลายสร้างไว้ในอดีตนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง เพราะสำหรับบางคนมองมันเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ และมันทำหน้าที่กระตุ้นให้ใครหลายคนเลือกเดินเส้นทางแห่งการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ จนทำให้ในยุคปัจจุบันมียอดฝีมือถือกำเนิดมากขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก พอๆ กับดอกเห็ดในฤดูฝน
ส่วนตัวเชื่อว่าแฟนมวยปล้ำหลายคนที่ทิ้งช่วงจากวงการมานาน เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพอเข้าใจบริบทพื้นฐานที่ทำให้วงการมวยปล้ำยังเป็นที่นิยมและคงอยู่มาถึงตอนนี้
และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านหลายคนอาจสงสัย และอยากจะออกไปพิมพ์เสิร์ชเพื่อดูว่าโลกมวยปล้ำในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรนั้น…
ผมสามารถอธิบายความน่าตื่นเต้นและเรื่องราวที่น่าสนใจแบบพอสังเขปให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์นี้กำลังจะมีอีเวนต์มวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง WrestleMania ครั้งที่ 39 จัดขึ้นในวันที่ 1-2 เมษายนนี้ (เดี๋ยวนี้โชว์มี 2 คืนแล้วนะ)
ในศึกนี้มีแมตช์การปล้ำที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่การดวลกันของนักมวยปล้ำวัยเก๋า เอดจ์ ปะทะยอดฝีมือคนหนึ่งแห่งโลกมวยปล้ำปัจจุบันอย่าง ฟิน บาเลอร์ ในแมตช์กรงเหล็ก (Hell in a Cell)
ไม่แค่นั้น หากคุณเคยเห็นภาพของ โดมินิก มิสเตริโอ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ เรย์ มิสเตริโอ ที่นั่งเกาะขอบเวทีเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในศึกนี้คุณจะได้เห็นคู่พ่อ-ลูกปะมือกัน ท่ามกลางเนื้อเรื่องครอบครัวสุดดราม่าของโดมินิกที่ปีกกล้าขาแข็ง ไม่ยอมรับตัวเองเป็นลูกชายของเรย์ (ในบทโดมินิกอ้างว่าตนเองคือลูกชายของ เอ็ดดี เกร์เรโร ตำนานมวยปล้ำผู้ล่วงลับ)
ส่วนคู่เอกของรายการเป็นการสู้กันของ โคดี โรดส์ (ลูกชายของ ‘The American Dream’ ดัสติน โรดส์) ที่หวนคืนสังเวียน WWE และเป็นผู้ชนะ Royal Rumble ปีล่าสุด พบกับ โรมัน เรนส์ เจ้าของตำแหน่งแชมป์ 2 เส้น ที่ปัจจุบันถูกดันให้ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการอธิบายภาพรวมแบบสั้นๆ ถึงเหตุผลที่ทำให้วงการมวยปล้ำ…ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศิลปะกีฬาการต่อสู้ที่ฆ่าไม่ตาย
และแม้ว่าทุกอย่างในวงการนี้ในสายตาของใครหลายคนมันอาจจะดูเป็นเรื่อง Fake เป็นการแสดง ทุกอย่างนี้มันไม่จริง
ใช่แล้ว…โชว์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับชมนั้นเป็นเพียงการแสดง แต่โชว์เหล่านี้มันมีเรื่องจริงอยู่อย่างหนึ่งคือ นักมวยปล้ำทุกคนคือ ‘นักกีฬา’ พวกเขามีกิจวัตรไม่ต่างจากนักกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก บ้างก็ใช้เวลา 7-8 ปี หรือบางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างโชว์สักแมตช์ เพื่อให้คนดูตะโกนมายังเวทีของพวกเขาว่า “This is Awesome”
และสิ่งที่จริงเสียยิ่งกว่าจริง คือทุกคอนเทนต์ที่อยู่บนเวทีที่หลายคนได้รับชมล้วนมาจากความทุ่มเทของนักมวยปล้ำที่หลายคนอุทิศทั้งชีวิตให้สิ่งนี้
มวยปล้ำจึงเปรียบเสมือนการแสดงแห่งชีวิต…การแสดงโชว์ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความสนุกฉบับ ‘โหด-มัน-ฮา’ ให้กับเด็กยุค 90 ควบคู่กับเสียงพากย์สุดบันเทิงของ ‘น้าติงฮาร์ดคอร์’ ที่เชื่อว่า นี่…จะเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่หลายคนไม่มีวันลืมเลือน
อ้างอิง: