Oxfam องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งขับเคลื่อนเพื่อกำจัดความยากจนให้หมดไป เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดที่ถือเป็นการตอกย้ำสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของโลกในขณะนี้ว่ายังคงเลวร้ายย่ำแย่ เพราะในช่วงวิกฤตโควิดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในโลกยากจนลง แต่บรรดา 5 อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกกลับร่ำรวยมากขึ้นถึง 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
โดย 5 อภิมหาเศรษฐีที่ว่านี้คือ Elon Musk ซีอีโอ Tesla, Bernard Arnault และครอบครัว เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรู LVMH, Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon, Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle และนักลงทุนวัยเก๋าอย่าง Warren Buffett
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- World Bank เตือนเศรษฐกิจโลกปี 2020-2024 โตต่ำสุดในรอบ 30 ปี ประเทศกำลังพัฒนากระทบหนักสุด
- Fed ดึงดอกเบี้ยลงยาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด
รายงานของ Oxfam ระบุว่า ทรัพย์สินของอภิมหาเศรษฐีทั้ง 5 รายนี้มีมูลค่ารวมกันเพิ่มขึ้นจาก 4.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 มาอยู่ที่ 8.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2023 โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ทาง Oxfam ประเมินจากข้อมูลความมั่งคั่งที่ได้จากทาง Forbes และ Wealth-X
ทั้งนี้ Oxfam ตั้งใจเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มกราคม) เพื่อให้ตรงกับวันแรกของการเริ่มประชุมประจำปีของ World Economic Forum ที่เมืองตากอากาศดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่บรรดาผู้นำธุรกิจและการเมืองชั้นนำระดับโลกมาพบกัน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการปรับปรุงพัฒนากติกาเศรษฐกิจการค้าการลงทุน รวมถึงหารือแนวทางรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายในอนาคต
นอกจากนี้ รายงานฉบับล่าสุดของ Oxfam ยังระบุว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 7 แห่งจาก 10 แห่งมีมหาเศรษฐีเป็นซีอีโอหรือผู้ถือหุ้นหลัก แถม 1% ของกลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลกยังเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกถึง 43% อย่างตราสารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นและพันธบัตร ตลอดจนหุ้นในธุรกิจเอกชน เป็นต้น
Oxfam ประเมินว่า หากแนวโน้มปัจจุบันดำเนินต่อไป โลกจะมีอภิมหาเศรษฐีระดับล้านล้าน (Trillionaire) คนแรกภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ความยากจนจะอยู่คู่กับโลกไปอีก 229 ปี ยิ่งไปกว่านั้น กำไรสุทธิจนถึงเดือนมิถุนายน 2023 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 148 แห่ง ยังเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับกำไรเฉลี่ยระหว่างปี 2018-2021
Aleema Shivji รักษาการบริหาร Oxfam กล่าวว่า ความยากจนข้นแค้นในประเทศที่ยากจนที่สุดยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาด แต่คนรวยระดับสุดยอดของโลกเพียงหยิบมือกลับกำลังแข่งขันเพื่อเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับล้านล้านดอลลาร์คนแรกของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น Oxfam จึงเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกเร่งดำเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนรวยขั้นสุดกับคนทั่วไปในสังคมโดยการ ‘ควบคุมอำนาจขององค์กร’ (Reining In Corporate Power) ที่รวมถึงการยกเลิกผูกขาด การจ่ายเงินเดือนซีอีโออย่างเหมาะสม และการเพิ่มการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากสินทรัพย์ถาวร (Permanent Wealth) และกำไรส่วนเกิน (Excess Profits)
อ้างอิง: