×

World Cup Memo Day 6: สุดท้ายแล้ว ‘ฟุตบอล’ ไม่ได้ดีไปกว่า ‘ซอคเกอร์’

26.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • สำหรับชาวอังกฤษพวกเขาไม่มีวันยอมรับคำว่า ‘ซอคเกอร์’ และมองวงการฟุตบอลของสหรัฐอเมริกาในสถานะที่ต่ำกว่าเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วอังกฤษไม่เคยเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้เลยแม้แต่ครั้งเดียวเมื่อพบกันในฟุตบอลโลก
  • แต่มูซาห์ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำได้เยี่ยม ไทเลอร์ อดัมส์ กองกลางจากลีดส์ขับเคลื่อนทีมและอยู่ทุกที่ของสนาม รวมถึง ‘กัปตันอเมริกา’ คริสเตียน พูลิซิช ที่เกมนี้ระเบิดพลังความสามารถของตัวเองออกมาให้เห็นว่า ‘โกลเดนบอย’ ของโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่คนอังกฤษ

การพบกันระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ได้รับการขนานนามชื่อกันแบบเท่ๆ ว่าเป็นเกม ‘Football vs. Soccer’

 

ทั้งๆ ที่ความหมายของทั้งสองคำนี้ไม่ได้แตกต่างกัน ก็คือสื่อถึงเกมกีฬาเดียวกันที่ใช้ผู้เล่น 11 คนลงสนามไล่เตะลูกฟุตบอลลูกเดียว และพยายามส่งบอลเข้าประตูของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ แต่ในเชิงของการยอมรับแล้ว สำหรับคนอังกฤษผู้เป็นประเทศแม่แบบของเกมลูกหนังสมัยใหม่ (อย่างที่เขาว่ากัน) ‘ฟุตบอล’ คือคำเรียกที่ถูกต้องหาใช่ ‘ซอคเกอร์’ ไม่

 

มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกเย่อหยิ่งแบบชนชั้นสูงที่ไม่ยอมรับชนชั้นที่ไร้รากเหง้าและวัฒนธรรมอย่างอเมริกันชน ที่เขียนแล้วก็ชวนให้นึกถึงเรื่องราวระหว่าง พี.แอล. เทรเวอร์ส ผู้ประพันธ์ผลงานอมตะ ‘Mary Poppins’ กับ วอลต์ ดิสนีย์ ผู้พยายามสู่ขอพี่เลี้ยงเด็กผู้มีร่มวิเศษให้กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่แสดงด้วยคนจริง

 

สำหรับชาวอังกฤษพวกเขาไม่มีวันยอมรับคำว่า ‘ซอคเกอร์’ และมองวงการฟุตบอลของสหรัฐอเมริกาในสถานะที่ต่ำกว่าเสมอ

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าพวกเขาจะหยิ่งผยองในชาติกำเนิดของตัวเองแค่ไหนอังกฤษไม่เคยเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้เลยแม้แต่ครั้งเดียวเมื่อพบกันในฟุตบอลโลก

 

การพบกัน 2 ครั้งก่อนหน้านี้จบลงด้วยความขายหน้าทั้งการพ่ายแพ้ต่ออเมริกาที่เต็มไปด้วยนักเตะสมัครเล่นในศึกฟุตบอลโลก 1950 ที่ประเทศบราซิล (ในนามเกมปาฏิหาริย์แห่งเบโล โฮริซอนเต)​ และไม่นานเกินความทรงจำที่ มิสเตอร์โรเบิร์ต กรีน รับบอลพลาดจนทำให้สหรัฐฯ ไล่ตีเสมอเป็น 1-1 ในฟุตบอลโลกที่ประเทศแอฟริกาใต้

 

เช่นกันกับการพบกันครั้งนี้ที่กาตาร์ ก็เป็นอีกครั้งที่นักเตะจากดินแดนแห่งเสรีภาพแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นลูกไล่อะไรเลย

 

ในทางตรงกันข้ามดูเหมือนทีมของ เกร็ก เบอร์ฮัลเตอร์ จะทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจกว่าด้วย

 

ก่อนลงสนามทีม ‘สิงโตคำราม’ ดูมีภาษีเหนือกว่าในอีกระดับ ด้วยชื่อชั้นของผู้เล่น ด้วยฟอร์มที่ร้อนแรงในระดับเจิดจ้าของเกมนัดแรกที่ไล่ถล่มอิหร่านแบบน่าประทับใจถึง 6-2 ทำให้ใครหลายคนคาดหวังไปไกลแล้วว่าอังกฤษของ แกเร็ธ เซาธ์เกต อาจจะมีลุ้นถึงสุดทาง

 

แฮร์รี เคน เวิลด์คลาส, จูด เบลลิงแฮม เก่งเหลือเชื่อ, บูกาโย ซากา ใครจะหยุดเขา? ไหนจะ แจ็ก กรีลิช, ดีแคลน ไรซ์ โดยไม่ได้พูดถึง ฟิล โฟเดน เลยแม้แต่น้อย

 

ในทางตรงกันข้ามสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถึงกับน่าประทับใจนักเพราะพลาดท่าเสมอต่อเวลส์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เบอร์ฮัลเตอร์ ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่ดูจะเป็นการตัดสินใจผิดพลาดในช่วงครึ่งหลัง เพราะทีมอ่อนลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

 

แต่นั่นคือเรื่องของเกมที่แล้ว วันนี้เราคุยกันเรื่องใหม่ และในเรื่องใหม่นี้ทีมเมืองลุงแซม (บางทีก็สงสัยว่าเป็นเมืองลุงจอห์นได้ไหม) ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา

 

เกมนี้ไม่มีใครอยากพูดถึงเบลลิงแฮมแล้ว คนที่ถูกโฟกัสกลายเป็น ยูนุส มูซาห์ ไอ้หนูดาวรุ่งผู้ที่ความจริงแล้วก็เคยอยู่ในระบบของ ‘ฟุตบอล’ มาก่อน เคยติดทีมชาติอังกฤษชุดเยาวชนมาหลายชุด ลงสนามในนาม ‘สิงโตน้อย’ มามากกว่า 30 นัด

 

สุดท้ายมูซาห์ – ผู้ซึ่งเกิดที่นิวยอร์ก แต่มาโตในยุโรปที่อิตาลีและอังกฤษ – ได้รับคำเชื้อเชิญให้มาเล่นกับ ‘ซอคเกอร์’ แทน และนั่นกลายเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับเขาและสหรัฐอเมริกา เพราะเขาคือหนึ่งในดาวเด่นของเกมนี้ และอาจบอกได้ว่าเขาชนะในการดวลชิงเกมแดนกลางกับเบลลิงแฮมด้วยซ้ำไป

 

แต่มูซาห์ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำได้เยี่ยม ไทเลอร์ อดัมส์ กองกลางจากลีดส์ขับเคลื่อนทีมและอยู่ทุกที่ของสนาม รวมถึง ‘กัปตันอเมริกา’ คริสเตียน พูลิซิช ที่เกมนี้ระเบิดพลังความสามารถของตัวเองออกมาให้เห็นว่า ‘โกลเดนบอย’ ของโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่คนอังกฤษ

 

ในทางตรงกันข้ามโกลเดนบอยของอังกฤษเองกลับไม่มีโอกาสลงสนามแม้แต่นาทีเดียว และนั่นคือคำถามที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ต้องเจอไปอีกนานว่าทำไม ฟิล โฟเดน นักเตะที่น่าจะเก่งที่สุดของอังกฤษหากไม่นับ แฮร์รี เคน จึงไม่มีโอกาสลงสนามในเกมนัดนี้แม้แต่นาทีเดียว ทั้งๆ ที่ทีมของเขาดูขาดพลัง เชื่องช้า ไร้ซึ่งจินตนาการ

 

สถานการณ์นั้นใกล้เคียงกับในวันที่ แจ็ก กรีลิช ไม่ได้รับโอกาสในช่วงยูโร 2020 และกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลสำหรับตัวของเขาเอง

 

แย่กว่านั้นคือการเสมอในเกมนี้ นอกจากความรู้สึกเสียหน้าเล็กๆ แล้วมันยังทำให้แฟนบอลได้สติกลับคืนมาเพื่อพบกับความจริงว่า ชัยชนะเหนืออิหร่านอาจเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะเรื่องจริงคือนั่นเป็นการชนะแค่นัดเดียวของอังกฤษในรอบ 9 นัดหลัง

 

ความรู้สึกติดลบที่มีก่อนหน้านี้ทำให้เสียงโห่ในสนามดังขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งพลังลบ Bad Vibe นี้อาจจะส่งผลต่อผลงานของอังกฤษได้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ไม่ได้ย่ำแย่อะไร และยังมีความหวังในการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเต็มเปี่ยม

 

ตรงข้ามกับอีกฟากของสนามที่ตะโกนกลับมาเช่นกัน และความจริงคือแฟน U.S.A. ทุกคนตะโกนไปทุกที่เมื่อคืนนี้ราวกับการประกาศชัยชนะทั้งๆ ที่เสมอ

 

“It’s called soccer” 

 

โดยที่ความตลกร้ายที่สุดคือคำว่า Soccer ที่ชาวอังกฤษเหยียดนั้นแท้จริงก็เป็นคำภาษาอังกฤษเองที่นักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเรียกชื่อเล่นของ 2 กีฬาที่ได้รับความนิยมสมัยนั้นอย่าง ‘Rugger’ (รักบี้ฟุตบอล) และ ‘Assoccer’ (มาจาก Association Football) ซึ่งในเวลาต่อมา Assoccer ได้ถูกย่นย่อเหลือ Soccer (หรือบางครั้งสะกดว่า Socker)

 

ก่อนที่คำนี้จะติดตัวชาวอังกฤษที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา โดยที่ Rugby Football ก็ได้กลายเป็นฟุตบอลที่เล่นแบบรักบี้ในแบบกติกาของพวกเขาเองที่ต่อมาคือ ‘อเมริกันฟุตบอล’

 

ส่วน Soccer ก็เป็นกีฬาที่เล่นด้วยเท้าเหมือนอย่างชาวอังกฤษ แค่คนอังกฤษเลือกจะเรียก Football เฉยๆ ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น

 


 

Talking Points

 

  • บางทีชัยชนะของญี่ปุ่นได้จุดประกายไฟให้ทีมจากเอเชียลุกขึ้นสู้ในฟุตบอลโลก และเราได้เห็นอิหร่านคว้าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ด้วยการล้มเวลส์ได้จาก 2 ประตูในช่วงทดเวลาที่ทำให้เห็นถึงความพยายาม ไม่ย่อท้อ และได้รับรางวัลตอบแทนในที่สุด
  • โคดี กักโป กลายเป็นดาวเด่นคนเดียวในทีมเนเธอร์แลนด์จากประตูในช่วงต้นเกมของเขา ทำให้ยิงมากกว่า รุด ฟาน นิสเตลรอย ในฟุตบอลโลกไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เอกวาดอร์เก่งและแกร่งจริง และถ้ากักโปคือสตาร์ เอนเนอร์ วาเลนเซีย ผู้ตีเสมอให้ทีมก็คือฮีโร่ของชาวเอกวาดอร์ไปแล้ว 
  • กาตาร์ต้องตัดสินใจต่อว่าจะเลือกเดินทางไหน ระหว่างเอาจริงเอาจังกับฟุตบอลต่อ หรือจะพอแค่นี้หลังตกรอบแรกฟุตบอลโลกไปแล้ว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X